คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3107/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยเรียงกระทงความผิด ตาม ป.อ.มาตรา 286 ที่แก้ไขแล้ว ให้จำคุก 7 ปี และตาม พ.ร.บ.ปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 มาตรา 9 ให้ปรับ 1,000 บาท รวมเป็นโทษจำคุก 7 ปี และปรับ 1,000 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเพียงว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียว แต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 286ที่แก้ไขแล้ว ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนัก จำคุก 7 ปี เมื่อลดโทษให้หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 4 ปี 8 เดือนจึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และยังคงลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 การที่จำเลยเป็นเจ้าของสถานการค้าประเวณีและดำรงชีพอยู่จากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณีในสถานการค้าประเวณีของจำเลยเองนั้น เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทหาเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 286, 91พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 มาตรา 8, 9
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 286, 91 พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี ให้ลงโทษฐานดำรงชีพอยู่จากรายได้ของหญิงค้าประเวณี จำคุก 7 ปี ฐานเป็นเจ้าของกิจการสถานการค้าประเวณีปรับ 1,000 บาท รวมจำคุก 7 ปี ปรับ 1,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การที่จำเลยเป็นเจ้าของกิจการสถานการค้าประเวณี และดำรงชีพอยู่จากรายได้ของหญิงในการค้าประเวณีในสถานการค้าประเวณีของจำเลยเองนั้น เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 286 ที่แก้ไขแล้ว และพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 มาตรา 9 ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 286 ที่แก้ไขแล้ว ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักจำคุก 7 ปี คำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุก 4 ปี 8 เดือน ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับข้อหาความผิดฐานจัดหาผู้กระทำการค้าประเวณีเพื่อผู้อื่นเป็นปกติธุระตามพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 มาตรา 8
โจทก์ จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่าพยานหลักฐานของโจทก์มีข้อน่าสงสัยอยู่หลายประการ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยนั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยเรียงกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 286ที่แก้ไขแล้ว ให้จำคุก 7 ปี และตามพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณีพ.ศ. 2503 มาตรา 9 ให้ปรับ 1,000 บาท รวมเป็นโทษ จำคุก 7 ปีและปรับ 1,000 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเพียงว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียว แต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 286 ที่แก้ไขแล้ว ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนัก จำคุก 7 ปี เมื่อลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 4 ปี 8 เดือน จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และยังคงลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 281 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยมา จึงเป็นการไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า การกระทำความผิดของจำเลยในข้อหาว่าเป็นเจ้าของกิจการสถานการค้าประเวณีกับข้อหาดำรงชีพอยู่จากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณีเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จำเลยเป็นเจ้าของสถานการค้าประเวณีและดำรงชีพอยู่จากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณีในสถานการค้าประเวณีของจำเลยเองนั้นเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 หาเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ไม่ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share