คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3097/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ฟ้องโจทก์อ้างว่าจำเลยเป็นลูกจ้างกระทำละเมิดและผิดสัญญาจ้างนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยเนื่องมาจากสัญญาจ้างแรงงานอยู่ด้วยในคราวเดียวกัน ดังนี้ อายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องต้องปรับด้วยการผิดสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 164 คดีอาญาที่จำเลยถูกพนักงานอัยการฟ้องและขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยักยอกไป แม้เป็นการขอแทนผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 แต่ก็เป็นกรณีความเสียหายนั้นเนื่องมาจากการกระทำผิดอาญา ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในมูลละเมิดและในมูลแห่งสัญญา แม้คำขอบังคับจะมีลักษณะเดียวกันคือขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย แต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหามิได้เป็นอย่างเดียวกัน ประเด็นที่วินิจฉัยจึงมิใช่โดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันและมิใช่ฟ้องคดีในเรื่องเดียวกัน ดังนี้ กรณีไม่เป็นฟ้องซ้ำหรือฟ้องซ้อน.

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกกรุงเทพมหานครเป็นโจทก์ เรียกนายไพรัช ลิ้มวรรัตน์ เป็นจำเลยที่ 1 นายกัมปนาทหรือกมุทบุญญลาภาเลิศ เป็นจำเลยที่ 2
สำนวนแรก จำเลยที่ 2 เป็นโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม2528 โจทก์จ้างจำเลยที่ 2 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำ ครั้งสุดท้ายเป็นผู้จัดการสถานธนานุบาลมีนบุรี ต่อมาวันที่ 30 มีนาคม 2531โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้สถานธนานุบาลมีนบุรีเสียหายอย่างร้ายแรง ซึ่งไม่เป็นความจริง จำเลยที่ 2 ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและปกป้องผลประโยชน์ของโจทก์ตลอดมา การเลิกจ้างของโจทก์เป็นการกลั่นแกล้งจำเลยที่ 2 เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้โจทก์รับจำเลยที่ 2 กลับเข้าทำงาน หากไม่สามารถรับกลับเข้าทำงานได้ขอให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายคูณด้วยระยะเวลาทำงานจนกว่าจำเลยที่ 2 จะเกษียณ เป็นเงินทั้งสิ้น1,792,440 บาท และจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยนอกจากนี้ก่อนเลิกจ้างโจทก์ได้สั่งพักงานจำเลยที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2530 โจทก์จึงต้องจ่ายค่าจ้างตั้งแต่วันดังกล่าวจนถึงวันที่ 30 มีนาคม 2531 เป็นเงิน 45,960 บาท แก่จำเลยที่ 2 และเมื่อเข้าทำงานจำเลยที่ 2 ได้นำพันธบัตรรัฐบาลจำนวน 2 ฉบับ ฉบับละ 100,000 บาท รวมเป็นเงิน 200,000 บาท วางไว้แก่โจทก์เพื่อประกันความเสียหาย โดยตกลงว่าเมื่อออกจากงานโจทก์จะคืนให้แต่โจทก์ไม่ยอมคืน ขอให้บังคับโจทก์รับจำเลยที่ 2 กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม หากไม่รับจำเลยที่ 2 กลับเข้าทำงานขอให้โจทก์จ่ายค่าเสียหาย จำนวน1,792,440 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำนวน 5,745 บาทค่าจ้างระหว่างพักงาน จำนวน 45,960 บาท ค่าชดเชยจำนวน 17,235 บาทกับคืนพันธบัตรมูลค่า 200,000 บาท แก่จำเลยที่ 2 ด้วย
โจทก์ให้การว่า เหตุที่โจทก์เลิกจ้างเนื่องจากขณะจำเลยที่ 2เป็นผู้จัดการสถานธนานุบาลมีนบุรี ได้มีการทุจริตโดยมีการรับจำนำทรัพย์สินที่เป็นของปลอมจำนวน 145 รายการ เป็นเงิน 1,285,100บาท และทรัพย์ที่รับจำนำหาย 4 รายการเป็นเงิน 30,000 บาท โจทก์จึงตั้งคณะกรรมการสอบสวน แล้วเห็นว่าจำเลยที่ 2 กระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้สถานธนานุบาลมีนบุรีและโจทก์เสียหายอย่างร้ายแรง จึงมีมติไล่จำเลยที่ 2 ออกจากงาน การเลิกจ้างของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายแล้วไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่ต้องใช้ค่าเสียหาย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและค่าจ้างระหว่างพักงาน ส่วนพันธบัตรรัฐบาลจำนวน 2 ฉบับ เป็นเงิน200,000 บาท นั้น เนื่องจากจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงชอบที่จะนำเงินจากการขายพันธบัตรนั้นหักชำระหนี้ได้
สำนวนหลัง โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขณะเกิดเหตุเป็นลูกจ้างโจทก์ดำรงตำแหน่งพนักงานรักษาของ สถานธนานุบาลมีนบุรี มีหน้าที่รักษาทรัยพ์ รับจำนำและรับผิดชอบทรัพย์จำนำเสียหายหรือสูญหายของสถานธนานุบาลมีนบุรี จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างโจทก์ดำรงตำแหน่งผู้จัดการของสถานธนานุบาลมีนบุรี มีหน้าที่ปฏิบัติและควบคุมบังคับบัญชาตลอดจนรับผิดชอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทุกตำแหน่งในสถานธนานุบาลมีนบุรีของโจทก์ให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบต่าง ๆขณะที่จำเลยทั้งสองปฏิบัติงานในหน้าที่อยู่นั้น เมื่อวันที่ 28กรกฏาคม 2530 โจทก์ได้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ไปทำการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ได้ตรวบพบการทุจริตโดยที่สถานธนานุบาลมีนบุรีรับจำนำทรัพย์ประเภททองรูปพรรณ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยทั้งสองเป็นของปลอมจำนวนมาก และมีทรัพย์จำนำประเภททองรูปพรรณหายจำนวน3 รายการ ตรวจพบว่าทรัพย์ที่รับจำนำประเภททองรูปพรรณที่เป็นของปลอมจำนวน 147 รายการ วันที่ 31 กรกฏาคม 2530 ตรวจพบว่าทรัยพ์สินหยุดจำนำประเภททองรูปพรรณสูญหายอีก 1 รายการ และวันที่4 สิงหาคม 2530 ตรวจพบทรัพย์ที่รับจำนำประเภททองรูปพรรณที่เป็นของปลอมเพิ่มอีก 1 รายการ ทั้งนี้เพื่อระหว่างเดือนมีนาคม 2530ซึ่งเป็นระยะเวลาที่จำเลยทั้งสองดำรงตำแหน่งเป็นพนักงานของโจทก์ประจำสถานธนานุบาลมีนบุรี จำเลยทั้งสองได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำผิดสัญญาจ้างเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับการจ้างทั้งไม่ปฏิบัติหน้าที่การงานด้วยความซื่อสัตย์เที่ยงธรรมและประพฤติตนอยู่ในความสุจริตรักษาประโยชน์ของโจทก์เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองมีหน้าที่รักษาทรัยพ์ที่รับจำนำและรับผิดชอบทรัพย์ที่รับจำนำเสียหายหรือสูญหายของสถานธนานุบาลมีนบุรี แต่จำเลยทั้งสองจงใจหรือประมาทเลินเล่อไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง กล่าวคือจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันนำทองรูปพรรณซึ่งเป็นของปลอมไปสับเปลี่ยนกับทรัพย์ที่รับจำนำซึ่งเป็นของแท้จำนวน 148 รายการ คิดเป็นราคาที่รับจำนำไว้ 1,285,100 บาท และเบียดบังยักยอกเอาทรัพย์จำนำประเภททองรูปพรรณจำนวน 4 รายการ คิดเป็นราคาที่รับจำนำไว้30,000 บาท โดยไม่ปรากฏหลักฐานการจำหน่าย ซึ่งจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชดใช้ให้แก่โจทก์ เป็นค่าเสียหายจากทรัพย์ที่รับจำนำถูกเปลี่ยนเป็นของปลอมจำนวน 148 รายการ เป็นเงิน1,285,100 บาท ค่าเสียหายที่ทรัยพ์รับจำนำสูญหายจำนวน 4 รายการคิดตามราคาท้องตลาดเป็นเงิน 43,200 บาท ค่าเสียหายจากดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ปรากฏในตั๋วรับจำนำถึงวันที่ 11 กันยายน 2530จำนวน 85,325.25 บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 1,413,625.25 บาทโจทก์ได้รับชดใช้จากจำเลยที่ 1 แล้วเป็นเงิน 152,183.63 บาทคงเหลือค่าเสียหายที่โจทก์จะต้องได้รับชดใช้เป็นเงิน 1,261,441.63บาท การที่จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันจงใจปฏิบัติหน้าที่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของโจทก์ดังกล่าวข้างต้น ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโจทก์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยและหาตัวผู้รับผิดทางแพ่ง คณะกรรมการสอบสวนมีความเห็นให้ลงโทษทางวินัยแก่จำเลยทั้งสองและให้จำเลยทั้งสองรับผิดทางแพ่งและทางอาญา โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์และจำเลยทราบแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ก่อนฟ้องคดีนี้ โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแพ่ง แต่ต่อมาศาลแพ่งได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความตามคดีหมายเลขแพงที่ 2268/2532 ของศาลแพ่ง เนื่องจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าคดีระหว่างโจทก์จำเลยทั้งสองอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 1,261,441.63 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 มิได้กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน ได้ทำหน้าที่ตามที่โจทก์ได้มอบหมายถูกต้องตามสัญญาจ้างทุกประการ ไม่เคยจงใจทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ได้รับความเสียหายมูลละเมิดในคดีนี้เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยเพราะจำเลยที่ 1 มีตำแหน่งเป็นพนักงานรักษาของ มีหน้าที่เก็บรักษาทรัพย์จำนำของโจทก์ สาขามีนบุรี ทรัยพ์จำนำตามฟ้องอยู่ในความควบคุมดูแลของจำเลยที่ 1 ตลอดมา จำเลยที่ 2ไม่มีสิทธิและหน้าที่จะก้าวก่ายหน้าที่ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ตามคำสั่งของโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 2 มิได้ร่วมกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์แต่อย่างใดจำเลยที่ 2 จึงหาจำต้องรับผิดในมูลละเมิดตามฟ้องโจทก์ไม่ โจทก์ทราบดีว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำละเมิดในคดีนี้ ต่อมาโจทก์ได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลมีนบุรี โดยกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ยักยอกทรัพย์โจทก์ ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจได้เชิญจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการสาขามีนบุรีไปทำการสอบสวนและโจทก์ได้แจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจทำการควบคุมตัวจำเลยที่ 2 โดยกล่าวหาว่าร่วมกับจำเลยที่ 1 ยักยอกทรัยพ์ในฐานะเป็นผู้มีอาชีพและธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ซึ่งต่อมาจำเลยที่ 2 ถูกฟ้องต่อศาลจังหวัดมีนบุรี ขอให้ลงโทษและให้ใช้ราคาทรัพย์แก่โจทก์ ศาลพิพากษายกฟ้อง จำเลยที่ 2 จึงมิได้กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน และมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์มิได้เสียหายจริงตามฟ้องเพราะโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ศาลจังหวัดมีนบุรีตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1377/2530 ขอให้ศาลสั่งให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ จำนวน 1,315,100 บาท แก่โจทก์และตามคำฟ้องในคดีนี้โจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์ได้รับชดใช้จากจำเลยที่ 1 เป็นเงิน152,183.62 บาท คงเหลือค่าเสียหายเพียง 1,162,916.38 บาท การที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน1,261,441.63 บาท จึงเกินเลยไปจากความเป็นจริง เมื่อศาลจังหวัดมีนบุรีพิพากษายกฟ้องแล้ว การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ศาลแพ่งตามคดีหมายเลขแดงที่ 2268/2532 และในคดีนี้ต่อศาลนี้ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือได้ว่าเป็นการฟ้องซ้ำและฟ้องซ้อน ฟ้องดจทก์ในคดีนี้จึงขัดต่อกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จำเลยที่ 2 จึงหาจำต้องรับผิดตามฟ้องโจทก์ไม่ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม หากศาลรับฟังว่าจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดชดใช้แก่โจทก์ตามฟ้องแล้ว จำเลยที่ 2 ขอให้การต่อสู้ว่าจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้แก่โจทก์เพียง 200,000 บาทเท่านั้น เพราะโจทก์กับจำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือค้ำประกันความเสียหายไว้ในตอนเข้าทำงานครั้งแรกในกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้นเป็นเงินเพียง 200,000 บาท เท่านั้น ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 1,261,441.63 บาท พร้อมดอกเบี้ย คำขอของจำเลยที่ 2ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยมาเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ได้ความว่า จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างโจทก์ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการสถานธนานุบาลมีนบุรี จำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 สนิทสนมกัน จำเลยที่ 2 อาศัยอยู่บนชั้น 3 ของสำนักงานสถานธนานุบาลมีนบุรี มีการสับเปลี่ยนทองนับร้อยรายซึ่งต้องทำมาเป็นเวลานาน เชื่อว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำเพียงคนเดียวแต่จำเลยที่ 2 ต้องรู้เห็นเป็นใจกับจำเลยที่ 1 ในการสับเปลี่ยนทองคำที่รับจำนำไว้ด้วย เมื่อผู้จัดการสถานธนานุบาลมีหน้าที่ตามคำสั่งของสำนักงานกลาง จสธก. ที่ 18/2518 เอกสารหมาย จ.4 โดยหน้าที่หลักแล้วผู้จัดการมีหน้าที่ปฏิบัติและควบคุมบังคับบัญชาตลอดจนรับผิดชอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทุกตำแหน่งในสถานธนานุบาลที่ผู้จัดการนั้นรับผิดชอบให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบการต่าง ๆ ว่าด้วยการรับจำนำ จำเลยที่ 2 ปฏิบัติผิดหน้าที่ของผู้จัดการ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน1,261,441.63 บาท…
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ประการที่สองว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความโดยอุทธรณ์ว่า เป็นกรณีอันเกิดจากมูลละเมิด ซึ่งมีอายุความ 1 ปีเห็นว่า นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 อันเป็นเหตุให้มีกรณีที่จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้น เนื่องมาจากสัญญาจ้างแรงงานอยู่ด้วยฟ้องของโจทก์มิใช่กรณีที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในมูลละเมิดอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องเรื่องที่จำเลยที่ 2 กระทำผิดหน้าที่ในฐานะที่เป็นลูกจ้างทำให้นายจ้างเสียหาย อันเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องต่อจำเลยที่ 2 ในฐานะผิดสัญญาจ้างแรงงานอยู่ด้วยในคราวเดียวกัน กำหนดอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงต้องปรับด้วยการผิดสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 บัญญัติไว้…
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ประการที่สามว่า ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือฟ้องซ้อนกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1377/2530 ของศาลจังหวัดมีนบุรี เห็นว่า ในคดีอาญาดังกล่าวพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานความผิดเรื่องยักยอก และขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยักยอกไป ศาลจังหวัดมีนบุรีพิพากษายกฟ้องคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ การขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ให้ผู้เสียหายที่พนักงานอัยการขอมาในคำฟ้องคดีอาญานั้น แม้จะถือว่าเป็นการขอแทนผู้เสียหายตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 ก็ตาม แต่ก็เป็นกรณีที่ความเสียหายนั้นเนื่องมาจากการกระทำผิดอาญาเท่านั้น ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้าง ซึ่งการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ทำให้เกิดความเสียหายนั้นอาจเป็นบ่อเกิดแห่งหนี้ที่จะใช้สิทธิเรียกร้องได้ทั้งสองทางคือในมูลละเมิดและในมูลแห่งสัญญาจ้างแรงงานที่มีต่อกันอยู่ ในคดีอาญาดังกล่าวกับคดีนี้ ถึงแม้คำขอบังคับจะมีลักษณะเป็นอย่างเดียวกันคือขอให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าเสียหาย แต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้นมิได้เป็นอย่างเดียวกัน ในคดีอาญานั้นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่พนักงานอัยการขอบังคับในส่วนแพ่งนั้น เป็นที่เห็นได้ว่ามาจากข้ออ้างเนื่องจากการกระทำผิดทางอาญาอันเป็นการเรียกร้องในมูลหนี้ละเมิด แต่คดีนี้มีที่มาจากมูลสัญญาจ้างแรงงานในเมื่อลูกหนี้ในคำฟ้องของทั้งสองคดีเป็นคนละอย่างเช่นนี้ ประเด็นที่วินิจฉัยจึงมิใช่ประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอันจะเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 และคำฟ้องของโจทก์กรณีของการผิดสัญญาจ้างแรงงานนั้นเป็นอำนาจของคู่สัญญาโดยเฉพาะ พนักงานอัยการที่เป็นโจทก์ในคดีอาญาไม่อาจจะอาศัยสิทธิในเรื่องของสัญญาจ้างแรงงานมาเป็นข้ออ้างในคำขอส่วนแพ่งได้ จึงมิใช่เป็นกรณีที่เป็นการฟ้องคดีในเรื่องเดียวกันในความหมายที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 ไม่เป็นฟ้องซ้อน…”
พิพากษายืน.

Share