คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2557/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ค. โอนที่ดินตามฟ้องทั้งสี่แปลงชำระหนี้โจทก์ โดยที่ดิน3 แปลงแรกตีใช้หนี้ 2,971,500 บาท ที่ดินแปลงที่ 4 ตีใช้หนี้731,000 บาท ซึ่งเป็นการโอนโดยมีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาที่พึงได้รับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ตามปกติ เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจกำหนดราคาขายที่ดินทั้งสี่แปลงตามราคาที่พึงได้รับจากการขายตามปกติตามราคาในวันที่โอน ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 49 ทวิ ค. ให้ถ้อยคำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในวันโอนว่าที่ดิน 3 แปลงแรกตกลงโอนในราคา 4,700,000 บาท และแปลงที่ 4 ตกลงโอนในราคา 2,000,000 บาท พนักงานเจ้าหน้าที่จึงกำหนดเอาราคาที่ ค. แจ้งเป็นราคา ที่พึงได้รับจากการขายตามปกติตามราคาในวันที่โอนนั้น ซึ่งเป็นการชอบด้วยประมวลรัษฎากร มาตรา 49 ทวิแล้ว เพราะราคาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานประเมินตามประมวลรัษฎากรด้วยได้กำหนดนั้นไม่เกินจำนวนทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในขณะที่มีการจดทะเบียน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2526 โจทก์ซื้อที่ดินตาม น.ส. 3 เลขที่ 256, 257, 336 ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ในราคารวม 2,971.500 บาทและที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 484 ตำบลรอบเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ในราคา 731,000 บาท ซึ่งเป็นราคาสูงกว่าราคาซื้อขายกันในท้องตลาดขณะจดทะเบียนรับโอนจากนายคุณวุฒิ จงไพโรจน์โฆษิต โดยการหักกับหนี้ที่นายคุณวุฒิ เป็นหนี้โจทก์อยู่ตามยอดหนี้ในบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 895 โจทก์หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายนำส่งทางราชการเป็นเงิน 130,000 บาท และ 32,500 บาท ตามลำดับ ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งให้โจทก์เสียภาษีอีก 74,059.98 บาท เงินเพิ่ม 18,885.29 บาท รวมเป็นเงิน 92,945.27 บาท ตามสำเนาหนังสือท้ายฟ้องหมายเลข 3 โจทก์ชำระเงินตามหนังสือแจ้งดังกล่าวแล้วได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้โจทก์เสียภาษีและเงินเพิ่มตามที่เจ้าพนักงานประเมินมีคำสั่งตามสำเนาหนังสือแจ้งผลการวินิจฉัยอุทธรณ์ท้ายฟ้องหมายยเลข 4 โจทก์ไม่เห็นฟ้องกับการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เพราะการเก็บภาษีต้องเก็บจากเงินได้พึงประเมินที่แท้จริงคือตามราคาซื้อขาย การที่เจ้าพนักงานประเมินถือเอาตามราคาทุนทรัพย์ที่เจ้าพนักงานที่ดินกำหนดเป็นทุนทรัพย์เพื่อจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมคือ 4,700,000 บาท และ 2,000,000 บาทตามลำดับนั้น เป็นการไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ทุนทรัพย์ที่เจ้าพนักงานที่ดินกำหนดไว้นั้นกำหนดเอาตามวงเงินจำนองที่เคยจดทะเบียนไว้ซึ่งสูงกว่าราคาประเมินของทางราชการ การที่โจทก์จดทะเบียนรับจำนองที่ดินดังกล่าวไว้สูงกว่าราคาจริงก็เพื่อเพิ่มวงเงินกู้สำหรับให้ลูกค้านำเงินไปสร้างอาคารและพัฒนาที่ดินให้มีราคาสูงขึ้นในอนาคตเพื่อประโยชน์ในทางการค้าของลูกหนี้ แต่ต่อมาปรากฏว่าลูกหนี้ไม่ได้นำเงินกู้ไปทำประโยชน์ในที่ดิน ที่ดินดังกล่าวจึงมีราคาต่ำกว่าที่เคยจดทะเบียนจำนองไว้โจทก์มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้สำหรับที่ดนิ 3 แปลงแรกตามราคาซื้อขายเป็นค่าภาษีจำนวน 149,017.40 บาท โจทก์นำส่งเพียง 130,000 บาท ขาดไปจำนวน19,017.40 บาท ค่าภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับที่ดินแปลงหลังจำนวน 13,944 บาทโจทก์นำส่งจำนวน 32,400 บาท เกินไป 18,456 บาท ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามหนังสือแจ้ง ที่ ชร.0006/525 และ 2/2524 ตามลำดับ ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 111,401.27 บาท แก่โ่จทก์
จำเลยให้การว่า เจ้าพนักงานประเมินได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และเงินเพิ่มรวม 92,945.27 บาท ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 จริง เพราะโจทก์หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและนำส่งไม่ครบ โจทก์และนายคุณวุฒิ จงไพโรจน์โฆษิต แจ้งราคาโอนที่ดินทั้งสองรายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในราคา 4,700,000 บาท และ 2,000,000 บาทพนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้กำหนดราคาทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามที่โจทก์และนายคุณวุฒิแจ้ง ไม่ใช่เจ้าพนักงานประเมินใช้อำนาจกำหนดราคาขายที่ดินนั้นขึ้นเพราะเหตุการโอนอสังหาริมทรัพย์มีค่าตอบแทนต่ำกว่าที่พึงได้รับจากการขายตามปกติ แต่เป็นการถือเอาราคาทุนทรัพย์ของที่ดินที่โจทก์และนายคุณวุฒิได้แจ้งตกลงโอนเป็นราคาขายที่พึงได้รับจากการขายตามปกติการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์จึงถูกต้องแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือที่ ชร.0006/525 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ 2/2524 กับให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์ 111,401.27 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบโดยมิได้โต้แย้งกันฟังได้ว่า นายคุณวุฒิจงไพโรจน์โฆษิต โอนที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 256, 257, 336 เนื้อที่รวม 4 ไร่ 98 ตารางวาและ น.ส.3 เลขที่ 484 เนื้อที่ 36 ไร่ 2 งาน 20 ตารางวา ให้แก่โจทก์แทนการชำระหนี้โดยที่ดิน 3 แปลงแรกตีใช้หนี้ 2,971,500 บาท ที่ดินแปลงที่ 4 ตีใช้หนี้ 731,000 บาทโจทก์และนายคุณวุฒิแจ้งราคาโอนหรือแสดงจำนวนทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมจำนวน4,700,000 บาท และ2,000,000 บาท ตามลำดับ ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ได้กำหนดราคาทุนทรัพย์เพื่อเรียกค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นเงิน4,700,000 บาท 2,000,000 บาท ตามที่โจทก์และนายคุณวุฒิแจ้ง โจทก์นำส่งเงินภาษีรายได้หัก ณ ที่จ่าย ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำนวน 130,000 บาท และ32,400 บาท ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายอีก 74,054.98 บาท กับชำระเงินเพิ่มจำนวน 18,885.29 บาทรวมเป็นเงิน 92,945.27 บาท เนื่องจากเจ้าพนักงานประเมินเห็นว่ามิได้คำนวณตามบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เอกสารหมาย ป.ล.1 จึงได้คำนวณใหม่ให้ถูกต้องโดยมิได้กำหนดทุนทรัพย์ขึ้นใหม่ โจทก์ชำระเงินตามหนังสือแจ้งนั้นแล้ว ตามเอกสารหมาย จ.5 และได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยยกอุทธรณ์ของโจทก์ ให้โจทก์ชำระภาษีและเงินเพิ่มตามคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน ที่ดิน 3 แปลงแรก ทางราชการได้กำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมไร่ละ 700,000 บาท จำนวน 3 ไร่ ส่วนที่เหลือไร่ละ 400,000 บาท ที่ดินแปลงที่ 4 มีราคาประเมินสำหรับทุนทรัพย์ในการเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมไร่ละ 20,000 บาท ที่ดิน 3 แปลงแรก จึงมีราคาประเมิน 2,598,000 บาท ส่วนที่ดินแปลงที่ 4 มีราคาประเมิน 731,000 บาท คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามฟ้อง ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ประมวลรัษฎากร มาตรา 49 ทวิ บัญญัติว่า “ในกรณีที่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนหรือมีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาที่พึงได้รับจากการขายอสังหาริมทรัพย์นั้นตามปกติ เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจกำหนดราคาขายอสังหาริมทรัพย์นั้นตามราคาที่พึงได้รับจากการขายตามปกติ ตามราคาในวันที่โอนนั้น แต่ต้องไม่เกินจำนวนทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในขณะที่มีการจดทะเบียน หรือจำนวนทุนทรัพย์ในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายที่ดิน แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่ากัน” จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นว่า ถ้าหากมีการโอนสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยมีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาที่พึงได้รับจากการขายอสังหาริมทรัพย์นั้นตามปกติแล้วเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจกำหนดราคาขายอสังหาริมทรัพย์นั้น ตามราคาที่พึงได้รับจากการขายตามปกติตามราคาในวันที่โอนนั้นได้ คดีนี้ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า การที่นายคุณวุฒิโอนที่ดินตามฟ้องทั้ง 4 แปลงตีชำระหนี้ให้โจทก์นั้น เป็นการโอนสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยมีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาที่พึงได้รับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ตามปกติ โจทก์และจำเลยมิได้แก้อุทธรณ์หรืออุทธรณ์โต้แย้ง ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า การโอนตามฟ้องทั้ง 4 แปลง เป็นการโอนโดยมีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาที่พึงได้รับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ตามปกติเมื่อเป็นเช่นนี้ เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจกำหนดราคาขายที่ดินทั้ง 4 แปลงตามฟ้อง ตามราคาที่พึงได้รับจากการขายตามปกติตามราคาในวันที่โอนนั้น ซึ่งนายคุณวุฒิก็ได้ให้ถ้อยคำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในวันโอนว่าสำหรับที่ดิน 3 แปลงแรก ตกลงโอนในราคา 4,700,000 บาท ปรากฏตามเอกสารหมายเลข 4 ท้ายเอกสารหมาย จ.3 และสำหรับที่ดินแปลงที่ 4 ตกลงโอนในราคา2,000,000 บาท ปรากฏตามเอกสารหมายเลข 5 ท้ายเอกสารหมาย จ.3 เมื่อนายคุณวุฒิแจ้งโอนในราคาดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่จึงกำหนดเอาราคาที่นายคุณวุฒิแจ้งเป็นราคาขายที่ดินที่พึงได้รับจากการขายตามปกติตามราคาในวันที่โอนนั้น ซึ่งเป็นการชอบด้วยประมวลรัษฎากร มาตรา 49 ทวิ แล้ว เพราะราคาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานประเมินตามประมวลรัษฎากรด้วยได้กำหนดนั้น ไม่เกินจำนวนทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในขณะที่มีการจดทะเบียน ดังนั้นในการคำนวณภาษีเงินได้จากการโอนที่ดินทั้ง 4 แปลงนี้ จึงต้องคำนวณจากราคาขาย3 แปลงแรก ในราคา 4,700,000 บาท และแปลงที่ 4 ในราคา 2,000,000 บาท
พิพากษายืน

Share