แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยยื่นคำขอเปิดบัญชีเดินสะพัดกับทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวันเดียวกัน โดยคู่สัญญาไม่ได้กำหนดวันชำระหนี้ไว้ สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดเวลา กรณีเช่นนี้ คู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาเมื่อใดก็ได้ การที่โจทก์ มีหนังสือทวงถามระบุให้จำเลยชำระหนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือทวงถาม หากพ้นกำหนดแล้ว จำเลยไม่ชำระหนี้ให้ถือว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นอัน สิ้นสุดลง ดังนี้เมื่อจำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้วจำเลย ไม่ได้ชำระหนี้ให้โจทก์ภายในกำหนด สัญญาบัญชีเดินสะพัด จึงเป็นอันเลิกกันตั้งแต่วันพ้นกำหนดนั้น สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระบุว่า การส่งหนังสือทวงถามบอกกล่าวผู้กู้ แม้ส่งแล้วไม่มีผู้รับเพราะผู้กู้ย้ายที่อยู่โดยไม่ได้แจ้งย้ายให้ผู้ให้กู้ทราบให้ถือว่าได้ส่งให้ผู้กู้แล้วโดยชอบ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยผู้กู้เคยแจ้งย้ายให้โจทก์ทราบ ดังนั้นที่พนักงานไปรษณีย์นำหนังสือทวงถามของโจทก์ไปส่งให้จำเลยตามที่อยู่ที่ระบุไว้ในสัญญาถือได้ว่าจำเลยได้รับหนังสือทวงถามของโจทก์แล้วโดยชอบในวันดังกล่าว ในหนังสือทวงถามระบุให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ภายในกำหนด 15 วันนับแต่วันได้รับหนังสือทวงถาม กำหนดเวลาชำระหนี้ วันสุดท้ายจึงเป็นวันที่ 2 พฤศจิกายน 2540 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ภายในเวลาดังกล่าว สัญญาบัญชีเดินสะพัด ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงเป็นอันเลิกกันตั้งแต่ วันพ้นกำหนดคือวันที่ 3 พฤศจิกายน 2540
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน498,550.08 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.50 บาท ต่อปี จากต้นเงิน 483,315.70 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เลิกกันเมื่อใดข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2538 จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำขอเปิดบัญชีเดินสะพัดกับธนาคารโจทก์ สาขานนทบุรีและในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงินไม่เกิน 1,900,000 บาท โดยจำเลยที่ 1จะเบิกถอนเงินจากโจทก์โดยใช้เช็ค จำเลยที่ 1 ตกลงชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 15.5 ต่อปี กรณีผิดเงื่อนไขชำระอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ทั้งยอมให้โจทก์ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยตามที่กฎหมายกำหนด กำหนดชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ทุกวันสิ้นเดือนกรณีค้างชำระดอกเบี้ยให้โจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างทบเข้ากับเงินต้นตามประเพณีของธนาคารพาณิชย์โดยมีจำเลยที่ 2 นำบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์เลขที่ 302-2-26900-2 จำนวนเงิน 1,900,000 บาทมาจำนำกับโจทก์เพื่อเป็นการประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1หลังจากทำสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1 ได้เดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์โดยใช้เช็คเบิกถอนเงินจากบัญชีและนำเงินหักทอนบัญชีเรื่อยมาถึงวันที่ 3 พฤษภาคม 2538 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์1,917,410.41 บาท หลังจากนั้น จำเลยที่ 1 ไม่นำเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์อีก ต่อมาวันที่ 18 กรกฎาคม 2540โจทก์ได้บังคับจำนำสิทธิการรับเงินตามบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2เพื่อชำระเงินต้น 1,674,341.49 บาท ชำระดอกเบี้ย 424,428.66 บาท หลังจากบังคับจำนำแล้วจำเลยที่ 1 ยังคงเป็นหนี้โจทก์เฉพาะเงินต้น 431,786.62 บาท โจทก์จึงมีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ภายในเวลา 15 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือบอกกล่าวมิฉะนั้นให้ถือว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1เป็นอันสิ้นสุดลง จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเห็นว่าจำเลยที่ 1ได้ยื่นคำขอเปิดบัญชีเดินสะพัดกับทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวันเดียวกัน เมื่อตรวจดูสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 4 ไม่ปรากฏว่าคู่สัญญาได้กำหนดวันชำระหนี้ไว้ ดังนั้น สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดเวลา กรณีเช่นนี้คู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาเมื่อใดก็ได้ คดีนี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ แต่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือทวงถามหากพ้นกำหนดแล้วจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ให้ถือว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นอันสิ้นสุดลง เมื่อจำเลยทั้งสองได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ได้ชำระหนี้ให้โจทก์ภายในกำหนดสัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงเป็นอันเลิกกันตั้งแต่วันพ้นกำหนดสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 7 ระบุว่าการส่งหนังสือทวงถามบอกกล่าวผู้กู้นั้น แม้ส่งแล้วไม่มีผู้รับเพราะผู้กู้ย้ายที่อยู่ โดยไม่ได้แจ้งย้ายให้ผู้ให้กู้ทราบให้ถือว่าได้ส่งให้ผู้กู้แล้วโดยชอบ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1เคยแจ้งย้ายให้โจทก์ทราบ ดังนั้น ที่พนักงานไปรษณีย์นำหนังสือทวงถามของโจทก์เอกสารหมาย จ.11 ไปส่งให้จำเลยที่ 1 ตามที่อยู่ที่ระบุไว้ในสัญญาเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2540 ตามเอกสารหมาย จ.12 นั้น ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือทวงถามของโจทก์แล้วโดยชอบในวันดังกล่าว ในหนังสือทวงถามระบุให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ภายในกำหนด 15 วันนับแต่วันได้รับหนังสือทวงถาม กำหนดเวลาชำระหนี้วันสุดท้ายจึงเป็นวันที่ 2 พฤศจิกายน 2540 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ภายในเวลาดังกล่าว สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงเป็นอันเลิกกันตั้งแต่วันพ้นกำหนดคือวันที่ 3 พฤศจิกายน 2540 ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2538 หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีอีก แสดงว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์จะให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีต่อไป เมื่อโจทก์หักทอนบัญชีในวันที่ 31 พฤษภาคม 2538 จึงถือว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงในวันดังกล่าวนั้นจึงไม่ถูกต้อง และเนื่องจากพยานหลักฐานในสำนวนเพียงพอแก่การวินิจฉัยคดี ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรพิจารณาพิพากษาคดีไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ และศาลฎีกา เห็นว่า โจทก์มีใบแจ้งรายการบัญชีเดินสะพัด เลขที่บัญชี อัตราดอกเบี้ยบัญชีเดินสะพัดประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศของธนาคารโจทก์เอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.10 มาแสดงเป็นพยานหลักฐานฟังได้ว่าหลังจากจำเลยที่ 1 ทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดกับโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ได้ใช้เช็คเบิกถอนเงินจากบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2538 จำนวน 22,800 บาท ในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ 1,921,892.20 บาท ต่อมาวันที่ 3พฤษภาคม 2538 จำเลยที่ 1 นำเงินเข้าฝากในบัญชี 16,000 บาทในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ 1,917,410.41 บาทหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ไม่ได้นำเงินเข้าบัญชีอีก ต่อมาวันที่ 18กรกฎาคม 2540 โจทก์จึงบังคับจำนำสิทธิบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของจำเลยที่ 2 มาชำระหนี้โจทก์ซึ่งมียอดเงินฝาก 2,098,780.25 บาทโดยชำระหนี้เงินต้น 1,674,351.59 บาท ชำระดอกเบี้ย424,428.66 บาท จำเลยที่ 1 จึงยังคงค้างชำระหนี้โจทก์เฉพาะเงินต้น 431,786.62 บาท ต่อมาโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามลงวันที่ 27 สิงหาคม 2540 แจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระหนี้ให้โจทก์ภายในกำหนดเป็นผลให้สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เลิกกันตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2540 โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยแบบทบต้นได้ถึงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2540 หลังจากนั้นให้คิดดอกเบี้ยไม่ทบต้นตามอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารโจทก์ประกาศไว้ในเอกสารหมาย จ.9 และ จ.10
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 431,786.62 บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นอัตราร้อยละ 18.50 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2540 ถึงวันที่ 8 กันยายน 2540 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.50 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 กันยายน 2540 ถึงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2540 หลังจากนั้นคิดดอกเบี้ยไม่ทบต้นอัตราร้อยละ 19.50 ต่อปี ไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์