คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2343/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อสัญญาจะซื้อขายที่ดินตกเป็นโมฆะ เงินค่าที่ดินที่ผู้จะขายรับไว้จากโจทก์ผู้จะซื้อ ผู้จะขายต้องคืนให้โจทก์ฐานเป็นลาภมิควรได้ หากมีการเรียกเงินดังกล่าวคืนแต่ผู้จะขายไม่คืนให้ต้องถือว่าผู้จะขายตกอยู่ในฐานะทุจริตจำเดิมแต่เวลาที่ถูกเรียกคืนและตกเป็นผู้ผิดนัดจะต้องเสียดอกเบี้ยนับตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นไปเมื่อก่อนฟ้องโจทก์ไม่ได้เรียกให้ผู้จะขายหรือจำเลยซึ่งเป็นทายาทคืนเงินให้ ต้องถือว่าโจทก์เรียกร้องให้จำเลยคืนเงินนับตั้งแต่วันฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยมากไปกว่าที่จำเลยต้องรับผิดตามกฎหมาย เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องตามกฎหมายได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2516 นายบำรุงพัฒนานันท์ ซึ่งเป็นสามีของจำเลยที่ 1 และเป็นบิดาของจำเลยที่ 2ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 5996 ตำบลบึงน้ำรักษ์อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ 62 ไร่ 3 งาน 82 ตารางวาให้โจทก์ทั้งสองในราคา 350,000 บาท โดยตกลงจะโอนกรรมสิทธิ์กันที่สหกรณ์ที่ดินปากคลอง 12(สหกรณ์การเช่าซื้อที่ดินธัญบุรี จำกัด)ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2517 ต่อมาวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2517นายบำรุง ได้รับเงินมัดจำอีก 20,000 บาท รวมเป็นเงินมัดจำที่รับไปแล้ว 120,000 บาท กับขอขยายเวลาโอนกรรมสิทธิ์ออกไปอีก90 วัน วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2522 นายบำรุงได้รับเงินมัดจำเพิ่มไปอีก 10,000 บาท โดยอ้างว่าจะนำไปจัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสอง ครั้นวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2526นายบำรุงได้มอบให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกสัญญา แต่โจทก์ทั้งสองไม่ยินยอม เพราะถือว่านายบำรุงเจตนาที่จะผิดสัญญาและฉ้อโกงโจทก์ทั้งสอง จึงได้ร้องทุกข์และฟ้องนายบำรุงในความผิดฐานฉ้อโกงแต่นายบำรุงตายเสียก่อน โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะทายาทซึ่งเป็นผู้รับมรดกของนายบำรุงได้ การที่นายบำรุงไม่จัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามสัญญา เป็นการผิดนัดไม่ชำระหนี้ ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหาย เสียเงินมัดจำไป 130,000 บาทโจทก์ทั้งสองขอคิดค่าเสียหายเท่ากับอัตราดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 120,000 บาท นับแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2517ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 10 ปี เป็นดอกเบี้ย 90,000 บาท และในต้นเงิน10,000 บาท นับแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2522 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา5 ปี เป็นดอกเบี้ย 3,750 บาท รวมเป็นดอกเบี้ย 93,750 บาทรวมเป็นเงิน 223,750 บาท หากนายบำรุงไม่ผิดสัญญา โจทก์ทั้งสองสามารถนำที่ดินพิพาทออกขายหรือทำประโยชน์อย่างอื่นจะได้กำไรไม่น้อยกว่า 1,150,000 บาท แต่โจทก์ทั้งสองขอคิดค่าเสียหายในส่วนนี้เพียง 450,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 673,750 บาทนายบำรุงซื้อที่ดินพิพาทจากสหกรณ์การเช่าซื้อที่ดินธัญบุรี จำกัดในราคา 11,961.50 บาท และได้ชำระค่าเช่าซื้อที่ดินพิพาทครบแล้วเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2520 หากนายบำรุงจัดการให้สหกรณ์ดังกล่าวโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้ตนเสียทันที ปลายปี 2525 ก็สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสองได้ แต่นายบำรุงเพิกเฉยกลับให้สหกรณ์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยรู้อยู่ว่าเป็นการฉ้อฉล ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียเปรียบ โจทก์ทั้งสองทวงถามแล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินมัดจำและดอกเบี้ยรวม 223,750 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 130,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ชดใช้ค่าเสียหายอีกเป็นเงิน 450,000 บาทหรือมิฉะนั้นให้เพิกถอนนิติกรรมที่นายบำรุงเช่าซื้อที่ดินพิพาทจากสหกรณ์การเช่าซื้อที่ดินธัญบุรี จำกัด ซึ่งได้โอนไปเป็นชื่อของจำเลยที่ 2 เสียและให้จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองแทน หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนโดยให้จำเลยทั้งสองรับเงินค่าที่ดินที่ค้างชำระอีก 220,000 บาทไปจากโจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นภริยาของนายบำรุง และจำเลยที่ 2 เป็นบุตรของนายบำรุง นายบำรุงมิได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ทั้งสอง ขณะที่นายบำรุงทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ทั้งสองนั้น นายบำรุงมิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของสหกรณ์การเช่าซื้อที่ดินธัญบุรี จำกัด นายบำรุงจึงไม่มีอำนาจทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ทั้งสอง ทั้งการได้กรรมสิทธิ์การจำหน่ายจ่ายโอน หรือการบังคับคดีที่ดินพิพาทจะกระทำมิได้เว้นแต่จะได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพพ.ศ. 2511 และระเบียบข้อบังคับของสหกรณ์ โจทก์ทั้งสองไม่ใช่สมาชิกของสหกรณ์การเช่าซื้อที่ดินธัญบุรี จำกัด จึงขาดคุณสมบัติไม่มีสิทธิซื้อที่ดินพิพาท ซึ่งโจทก์ทั้งสองทราบดีมาก่อนแล้วไม่อาจคาดการณ์ว่าจะนำที่ดินพิพาทไปขายเอากำไรตามฟ้อง จึงไม่มีพฤติการณ์พิเศษที่จะเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองเป็นเงิน450,000 บาท นอกจากนั้นโจทก์ทั้งสองเรียกดอกเบี้ยเป็นค่าเสียหายแล้วจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายในพฤติการณ์พิเศษได้อีก จำเลยที่ 2ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจากสหกรณ์การเช่าซื้อที่ดินธัญบุรีจำกัด หาใช่นายบำรุงเป็นผู้โอนไม่และเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 จึงเป็นการโอนโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมาย มิได้เป็นการฉ้อฉลโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวไม่ได้ อย่างไรก็ตามโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องหรือเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง เพราะจำเลยทั้งสองไม่มีส่วนผูกพันในนิติกรรมที่นายบำรุงทำกับโจทก์ทั้งสองขอให้ยกฟ้อง ระหว่างพิจารณา จำเลยทั้งสองยอมรับว่านายบำรุงได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ทั้งสอง และรับเงินมัดจำไปแล้วทั้งสิ้น 130,000 บาท และคู่ความทั้งสองฝ่ายตกลงสละประเด็นข้อพิพาทอื่น ๆ คงเหลือประเด็นข้อพิพาทเพียงข้อเดียวว่า โจทก์ทั้งสองชอบที่จะคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงินมัดจำ130,000 บาท ได้ตั้งแต่เมื่อใด และโจทก์ทั้งสองชอบที่จะคิดค่าเสียหายได้เพียงใดหรือไม่ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินมัดจำ 130,000 บาท คืนให้โจทก์ทั้งสองพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 25,000 บาท นับแต่วันที่ 30 กันยายน 2516 ในต้นเงิน 75,000 บาท นับแต่วันที่ 5พฤศจิกายน 2516 ในต้นเงิน 20,000 บาท นับแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์2517 และในต้นเงิน 10,000 บาท นับแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2522เป็นเงินดอกเบี้ยไม่เกิน 93,750 บาท ตามคำขอข้อ 1 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน130,000 บาท นับจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยกเสียจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงินมัดจำ 130,000 บาท ให้คิดนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่านายบำรุงสามีของจำเลยที่ 1 และบิดาของจำเลยที่ 2 เป็นสมาชิกสหกรณ์การเช่าซื้อที่ดินธัญบุรี จำกัด สหกรณ์ดังกล่าวให้นายบำรุงครอบครองที่ดินพิพาท เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2516นายบำรุงได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำเอกสารหมาย จ.1 โดยมีการวางมัดจำ25,000 บาท ตกลงจะโอนกรรมสิทธิ์กันในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2517วันที่ 5 พฤศจิกายน 2516 โจทก์ทั้งสองได้ชำระเงินให้นายบำรุง75,000 บาท วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2517 ชำระเงิน 20,000 บาทและวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2522 ชำระเงินอีก 10,000 บาท รวมเป็นเงินที่โจทก์ทั้งสองชำระให้นายบำรุงไปแล้วทั้งสิ้น 130,000 บาทสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2526 นายบำรุงได้มอบให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์ทั้งสองตามเอกสารหมาย จ.4 ต่อมานายบำรุงตาย โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องคดีนี้ คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองแต่เพียงว่า จำเลยทั้งสองจะต้องชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ทั้งสองในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของจำนวนเงินที่โจทก์ทั้งสองได้ชำระให้นายบำรุงนับตั้งแต่วันที่นายบำรุงได้รับเงินแต่ละจำนวนไว้เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเงินให้โจทก์ทั้งสองเสร็จสิ้นดังคำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า เมื่อสัญญาจะซื้อขายที่ดินตามเอกสารหมาย จ.1 ตกเป็นโมฆะแล้ว เงินที่นายบำรุงได้รับไว้จากโจทก์ทั้งสองที่ชำระเป็นค่าที่ดินตามสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวก็ต้องคืนให้โจทก์ทั้งสองฐานเป็นลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 412 และเมื่อโจทก์ทั้งสองเรียกคืนแล้วนายบำรุงหรือจำเลยทั้งสองไม่ยอมคืน ก็ต้องถือว่านายบำรุงหรือจำเลยทั้งสองตกอยู่ในฐานะทุจริตจำเดิมแต่เวลาที่โจทก์ทั้งสองเรียกคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 415ซึ่งแปลได้ว่านายบำรุงหรือจำเลยทั้งสองตกเป็นผู้ผิดนัดจะต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสองนับตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 วรรคแรก และมาตรา 204 วรรคแรกประกอบกับมาตรา 224 วรรคแรก เมื่อไม่ปรากฏว่าก่อนฟ้องโจทก์ทั้งสองได้เรียกร้องให้นายบำรุงหรือจำเลยทั้งสองคืนเงินให้จึงต้องถือว่าโจทก์ทั้งสองเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองคืนเงินนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ดอกเบี้ยของเงินมัดจำนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยมากไปกว่าที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดตามกฎหมายเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องตามกฎหมายได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share