คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1868/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่ามติของ คณะกรรมการสหภาพแรงงานจำเลยที่ให้ปลดโจทก์ออกจาก สมาชิกสหภาพแรงงานตกเป็นโมฆะนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าขณะ ยื่นฟ้องคดีนี้โจทก์ไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นสมาชิกของจำเลย ได้ อีกแล้ว ดังนี้โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาว่าโจทก์จะฟ้องเพิกถอนมติของจำเลยเพื่อกลับเข้าเป็นสมาชิกของจำเลยอีกต่อไปได้ หรือไม่ เป็นปัญหาอำนาจฟ้องซึ่งเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ดังนี้ แม้จำเลยไม่ได้ยกข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขาดคุณสมบัติของโจทก์ขึ้นต่อสู้ ศาลก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 โจทก์เป็นสมาชิกของจำเลยเมื่อวันที่ 4พฤศจิกายน 2523 ต่อมาโจทก์ได้รับเลือกตั้งให้เป็นกรรมการของจำเลย แต่โจทก์ได้ลาออกจากกรรมการเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2532เนื่องจากคณะกรรมการได้ดำเนินการผิดต่อระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับการจัดตั้งสหภาพแรงงาน เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2532โจทก์ได้ร่วมกับสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมดทำหนังสือขอให้คณะกรรมการเรียกประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อพิจารณากิจการของสหภาพ แต่คณะกรรมการไม่ได้เรียกประชุม โจทก์จึงได้แจ้งเป็นหนังสือถึงนายทะเบียนจังหวัดเพื่อพิจารณาเรียกประชุม ต่อมาสำนักงานแรงงานจังหวัดได้มีหนังสือสั่งการให้คณะกรรมการจำเลยจัดประชุมใหญ่วิสามัญในวันที่ 7 มกราคม 2533 แต่เมื่อวันที่ 19ตุลาคม 2532 จำเลยได้ปลดโจทก์ออกจากสมาชิกของจำเลย โดยโจทก์มิได้กระทำความผิดต่อระเบียบข้อบังคับแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนต่อข้อบังคับของสหภาพแรงงาน จำเลยมีเจตนาขัดขวางไม่ให้โจทก์เข้าร่วมประชุมเพื่อแสดงความคิดเห็นและลงมติต่าง ๆ ในที่ประชุมใหญ่วิสามัญ และเป็นการขัดขวางไม่ให้โจทก์มีสิทธิสมัครเป็นกรรมการของจำเลยตลอดไปในระยะ 1 ปี มติของคณะกรรมการจำเลยที่ปลดโจทก์ดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิและอำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลทำให้โจทก์พ้นสภาพจากการเป็นสมาชิกของจำเลย ขอให้ศาลพิพากษาว่า มติของคณะกรรมการที่ปลดโจทก์จากสมาชิกสหภาพเป็นโมฆะ
จำเลยให้การว่า เดิมโจทก์เป็นกรรมการและสมาชิกของจำเลยโจทก์ได้ฝ่าฝืนข้อบังคับหลายอย่างคือ ระหว่างวันที่ 2 ถึง 16พฤศจิกายน 2532 บริษัทเนชั่นแนลไทย จำกัด นายจ้างได้ประกาศปิดงาน และจำเลยได้ประกาศนัดหยุดงานตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่โจทก์ซึ่งเป็นกรรมการบริหารของจำเลยได้ฝ่าฝืนมติของคณะกรรมการด้วยการชักชวนให้สมาชิกอื่น ๆ ไปชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลจนสมาชิกเกิดความแตกแยกสับสนไม่สามารถรวมตัวกันนัดหยุดงานได้ตามเป้าหมาย ต่อมาวันที่ 17 พฤศจิกายน 2532 คณะกรรมการบริหารจำเลยและคณะกรรมการประสานงานใหม่ระหว่างนัดหยุดงานทั้งหมดได้ร่วมประชุมชี้แจงผลของข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเพื่อนำข้อมูลและเหตุผลไปอธิบายแก่สมาชิกโดยมีพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานร่วมประชุมด้วย ในระหว่างการประชุมโจทก์ได้หลบออกจากที่ประชุมไปปลุกปั่นสมาชิกที่กำลังชุมนุมไม่ให้ยอมรับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่คณะกรรมการของจำเลยได้ทำขึ้น และโจทก์ยังได้กล่าวหาคณะกรรมการบริหารของจำเลยว่ากระทำผิดอาญาโดยเรียกและรับเอาผลประโยชน์ส่วนตนเป็นเงินจำนวนมากจากบริษัทเนชั่นแนลไทย จำกัด เพื่อแลกเปลี่ยนกับการทำข้อตกลงที่เกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งไม่เป็นความจริง ทำให้จำเลยถูกดูหมิ่น เกลียดชังและทำให้สมาชิกและคณะกรรมการบริหารของจำเลยแตกความสามัคคีเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2523 คณะกรรมการบริหารของจำเลยจัดให้มีการประชุม ผู้เข้าร่วมประชุมได้ซักถามโจทก์ถึงเรื่องที่กล่าวหาโจมตีคณะกรรมการบริหารของจำเลย และเรื่องที่โจทก์ได้รวบรวมสมาชิกจะก่อตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมาใหม่ โจทก์ไม่พอใจและลาออกจากการเป็นกรรมการบริหารของจำเลย ต่อมาคณะกรรมการบริหารของจำเลยได้มีมติให้มีการจัดประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นในวันที่ 12 ธันวาคม 2532แต่เนื่องจากบริษัทเนชั่นแนลไทย จำกัด ไม่ยอมให้ใช้สถานที่และเครื่องขยายเสียง คณะกรรมการจึงตกลงเลื่อนการประชุมใหญ่วิสามัญออกไปเป็นวันที่ 7 มกราคม 2533 โจทก์ได้กล่าวโจมตีคณะกรรมการบริหารของจำเลยต่อสมาชิกทั่วไปว่า คณะกรรมการบริหารของจำเลยไม่ยอมจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญเพราะเกรงว่าจะถูกโจทก์ซักฟอกเรื่องเรียกและรับเอาผลประโยชน์เป็นเงินจากบริษัทเนชั่นแนลไทย จำกัดโจทก์ยังได้ยุยงปลุกปั่นสมาชิกของจำเลยให้ยื่นฟ้องจำเลยเพื่อให้ยกเลิกสัญญาข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฉบับลงวันที่ 16พฤศจิกายน 2532 การกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นการจงใจฝ่าฝืนต่อมติคณะกรรมการบริหารและวัตถุประสงค์ตามข้อบังคับ คณะกรรมการบริหารของจำเลยจึงได้ลงมติปลดโจทก์ออกจากการเป็นสมาชิกของจำเลยเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2532 โดยผ่านการกลั่นกรองวินิจฉัยโดยสุจริตและมีอำนาจที่จะกระทำได้ตามข้อบังคับ อีกทั้งเป็นการดำเนินการตามวัตถุประสงค์เพื่อยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นกับจำเลย มติดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ในวันนัดพิจารณาคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า คณะกรรมการของจำเลยได้ปลงโจทก์ออกจากสมาชิกเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2532และกรรมการของจำเลยมีรายชื่อปรากฏตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 1และข้อบังคับของสหภาพแรงงานเนชั่นแนลไทยซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนี้ปรากฏตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 3 นอกจากนี้โจทก์ยังแถลงรับว่าบริษัทเนชั่นแนลไทย จำกัด ซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์ได้เลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2533 ปรากฎตามเอกสารหมาย จ.1 แต่โจทก์ไม่ได้ไปทำงานกับนายจ้างดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2533 เป็นต้นมา นอกจากนี้โจทก์ยังไม่ได้ทำงานเป็นลูกจ้างของผู้ใดด้วย ศาลแรงงานกลางเห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันนั้น คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว ไม่จำต้องสืบพยานของคู่ความต่อไป
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ตามข้อบังคับสหภาพแรงงานเนชั่นแนลไทยเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 3 ข้อ 5 กำหนดไว้ว่าสมาชิกของสหภาพฯ ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ (1) เป็นลูกจ้างประจำของบริษัทเนชั่นแนลไทย จำกัด หรือลูกจ้างประจำของบริษัทซึ่งทำกิจการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรากฏว่าโจทก์ถูกบริษัทเนชั่นแนลไทย จำกัด นายจ้างเลิกจ้างเมื่อวันที่ 26 มกราคม2533 และโจทก์ไม่ได้ทำงานเป็นลูกจ้างผู้ใดอีกต่อไป โจทก์จึงขาดคุณสมบัติที่จะเป็นสมาชิกของจำเลยตามข้อบังคับข้อ 5(1) แม้ศาลจะมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยก็ไม่ทำให้โจทก์กลับมาเป็นสมาชิกของจำเลยได้ คดีจึงไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาต่อไปพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยได้ปลดโจทก์ออกจากสมาชิกในขณะที่บริษัทเนชั่นแนลไทย จำกัดยังมิได้เลิกจ้างโจทก์ คือระหว่างวันที่ 18 ธันวาคม 2532ถึงวันที่ 26 มกราคม 2533 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะเสียสิทธิต่าง ๆ ในระหว่างเวลาดังกล่าว โจทก์ประสงค์จะทราบว่าการปลดนั้นชอบหรือไม่ ถ้าไม่ชอบก็ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งเสียเพื่อโจทก์จะได้มีสมาชิกภาพถึงวันที่ 26 มกราคม 2533 หรือถ้าโจทก์ฟ้องบริษัทเนชั่นแนลไทย จำกัด และศาลพิพากษาให้รับโจทก์กลับเข้าทำงาน โจทก์ก็จะได้เป็นสมาชิกของจำเลยทันที ข้อเท็จจริงที่ว่าบริษัทเนชั่นแนลไทย จำกัด ได้เลิกจ้างโจทก์แล้วทำให้โจทก์ขาดคุณสมบัตินั้นเป็นกรณีที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีศาลแรงงานกลางชอบที่จะพิจารณาประเด็นตามคำขอของโจทก์ต่อไปพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามข้อบังคับสหภาพแรงงานเนชั่นแนลไทยพุทธศักราช 2531 เอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 3 ข้อ 5 กำหนดไว้ว่า สมาชิกของสหภาพฯ ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
1. เป็นลูกจ้างประจำของบริษัทเนชั่นแนลไทย จำกัด หรือลูกจ้างประจำของบริษัทซึ่งทำกิจการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า
2. มีอายุไม่ต่ำกว่า 17 ปีบริบูรณ์
3. ต้องไม่เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานอื่น
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่าโจทก์ถูกบริษัทเนชั่นแนลไทย จำกัด ผู้เป็นนายจ้างเลิกจ้างเสียแล้วตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2533 ตามเอกสารหมาย จ.1 ขณะนี้โจทก์ก็ยังไม่ได้ทำงานเป็นลูกจ้างของผู้ใด โจทก์ได้นำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงานกลางเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2533 ดังนั้นในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ โจทก์ไม่ได้เป็นลูกจ้างประจำของบริษัทเนชั่นแนลไทยจำกัด หรือบริษัทอื่นที่ทำกิจการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในขณะยื่นฟ้องโจทก์จึงขาดคุณสมบัติที่จะเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานจำเลยได้ตามข้อบังคับ เอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 3 ข้อ 5(1)โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า มติของคณะกรรมการที่ปลดโจทก์ออกจากสมาชิกสหภาพแรงงานตกเป็นโมฆะ คำฟ้องของโจทก์ย่อมมีผลเป็นการขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์กลับเข้าเป็นสมาชิกของจำเลยอีกเพราะว่าถ้าศาลพิพากษาว่ามติของคณะกรรมการเป็นโมฆะ โจทก์ย่อมมีสิทธิกลับสู่ฐานะเดิมคือเป็นสมาชิกของจำเลยต่อไป ปัญหามีว่าโจทก์จะฟ้องเพิกถอนมติของจำเลยเพื่อกลับเข้าเป็นสมาชิกของจำเลยอีกต่อไปได้หรือไม่ เป็นปัญหาอำนาจฟ้องซึ่งเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยไม่ได้ยกเอาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขาดคุณสมบัติของโจทก์ขึ้นต่อสู้ศาลแรงงานกลางก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ศาลฎีกาเห็นว่า ในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้โจทก์ไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นสมาชิกของจำเลยได้แล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า มติที่ปลดโจทก์ออกจากสมาชิกเป็นโมฆะ เพราะโจทก์ไม่มีสิทธิกลับเข้าเป็นสมาชิกของจำเลยอีกแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะเสียสิทธิต่าง ๆ ในระหว่างเวลาที่โจทก์ยังไม่ถูกเลิกจ้างคือ วันที่ 18ธันวาคม 2532 ถึงวันที่ 26 มกราคม 2533 นั้น เห็นว่า ถ้าโจทก์ได้รับความเสียหายจริง โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า ถ้าโจทก์ฟ้องบริษัทเนชั่นแนลไทย จำกัดและศาลพิพากษาให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานแล้วโจทก์ก็มีสิทธิเป็นสมาชิกของจำเลยได้ทันทีนั้น ข้ออ้างดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่ยังไม่เกิดขึ้น โจทก์จะกล่าวอ้างมาเป็นเหตุฟ้องคดีนี้หาได้ไม่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share