คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1334/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สหกรณ์ร้านค้าของโรงเรียน ศ. ตั้ง ขึ้นเพื่อจำหน่ายสินค้าประเภทชุด นักเรียนให้นักเรียนและผู้ปกครอง แต่ มิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ. สหกรณ์ฯ จำเลยที่ 1 ซึ่ง เป็นครูใหญ่ได้ ตั้ง ให้จำเลยที่ 2 ถึง ที่ 10 เป็นกรรมการซื้อ ขาย โดย ไม่ได้รับความเห็นชอบจากจำเลยที่ 2 ถึง ที่ 10 ก่อน และจำเลยที่ 2ถึง ที่ 10 ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ทั้งไม่ปรากฏว่ามีวัตถุประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันเกิดจากการตั้ง ร้านค้านั้น ดังนี้จำเลยที่ 2 ถึง ที่ 10 มิได้เข้าหุ้นส่วนกับจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1012 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ค่าซื้อสินค้าของสหกรณ์ร้านค้าให้แก่โจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสิบได้เข้าเป็นหุ้นส่วนร่วมกันประกอบกิจการค้าในนามของสหกรณ์ร้านค้าโรงเรียนศรีวิกรม์ โดยแต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นประธานกรรมการและผู้จัดการ แต่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นสหกรณ์ตามกฎหมาย และร่วมกันสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ไปจำหน่ายรวม 13 ครั้ง เป็นเงิน 598,311 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วน คงค้างชำระเงินต้นและดอกเบี้ยรวม 340,377 บาท ขอบังคับให้จำเลยทั้งสิบชำระเงิน 340,377 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ให้การว่า ไม่ได้เข้าหุ้นหรือร่วมกันประกอบกิจการสหกรณ์ร้านค้า โรงเรียนศรีวิกรม์ตามฟ้องไม่ได้แต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นประธานกรรมการและผู้จัดการสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์เป็นเรื่องส่วนตัวของจำเลยที่ 1 เช็คที่จำเลยที่ 1สั่งจ่ายให้โจทก์เพื่อชำระหนี้เป็นเช็คส่วนตัวของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย การที่โจทก์ยอมรับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 จำนวน 20,000 บาท ถือว่าโจทก์ยอมให้เปลี่ยนตัวลูกหนี้ไปเป็นจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวแต่เพียงผู้เดียว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 10ร่วมรับผิดอีก
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสิบร่วมกันชำระเงิน 324,169 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันฟังเป็นยุติว่า สหกรณ์ร้านค้าโรงเรียนศรีวิกรม์จัดตั้งขึ้นเพื่อจำหน่ายสินค้าประเภทชุดนักเรียนให้นักเรียนและผู้ปกครองแต่มิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511ได้สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ตามฟ้องระหว่างวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2527ถึงวันที่ 13 มิถุนายน 2527 รวม 13 ครั้ง เป็นเงิน 598,311 บาทต่อมาสหกรณ์ร้านค้าโรงเรียนศรีวิกรม์ได้ชำระหนี้และคืนสินค้าให้โจทก์บางส่วน หักแล้วคงค้างชำระ 324,169 บาท คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 จะต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ในจำนวนดังกล่าวให้โจทก์หรือไม่ โจทก์มีนายเฉลิมพล ตันตระเศรษฐี ผู้รับมอบอำนาจ และนางสาวทิพวิมลบัญชากุลชัย เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อประมาณกลางเดือนมกราคม 2527จำเลยทั้งสิบมอบให้จำเลยที่ 1 และที่ 6 มาติดต่อขอซื้อสินค้าชุดนักเรียนจากโจทก์ไปจำหน่าย มีการตกลงว่า จำเลยที่ 1 หรือที่ 6จะเป็นผู้สั่งซื้อสินค้า ถ้าทั้งสองคนไม่อยู่จำเลยคนอื่นมีสิทธิสั่งได้ การชำระเงินค่าสินค้า จำเลยที่ 1 จะออกเช็คส่วนตัวชำระแทนสหกรณ์ จำเลยทั้งสิบร่วมกันเป็นกรรมการสหกรณ์ร้านค้าโรงเรียนศรีวิกรม์ เป็นหุ้นส่วนกันโดยร่วมกันก่อตั้งสหกรณ์ขึ้นและร่วมกันเป็นเจ้าของ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องไว้ตอนหนึ่งว่า จำเลยทั้งสิบต้องรับผิดชอบร่วมกันในฐานะหุ้นส่วนตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังปรากฏรายละเอียดตามประกาศเอกสารท้ายฟ้องหมายชุด 3ซึ่งเอกสารดังกล่าวมีหนังสือคู่มือนักเรียน-ผู้ปกครองโรงเรียนศรีวิกรม์ เอกสารหมาย จ.4 และในการนำสืบว่าจำเลยทั้งสิบเข้าหุ้นส่วนกัน โจทก์ก็ได้อ้างอิงถึงเอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐานฉะนั้นการที่จะพิจารณาว่าจำเลยทั้งสิบเข้าหุ้นส่วนกันหรือไม่จำต้องอาศัยบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเอกสารหมายจ.4 เป็นหลักในการวินิจฉัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1012บัญญัติว่า “อันว่าสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากัน เพื่อกระทำกิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น”แต่วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสหกรณ์ร้านค้าโรงเรียนศรีวิกรม์ตามเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 2 ไม่ปรากฏว่ามีวัตถุประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันเกิดจากการตั้งร้านค้าดังกล่าวแต่อย่างใด ในข้อ 7 ซึ่งกล่าวถึงการจัดสรรผลประโยชน์ประจำปี ก็มิได้มีรายละเอียดว่าจะแบ่งปันกำไรให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 จำนวนเท่าใด ส่วนเรื่องการจัดสรรกำไรสุทธิเป็นเงินค่าตอบแทนกรรมการนั้น ก็ปรากฏจากเอกสารดังกล่าวในหน้า 146 ว่า เป็นเงินค่าตอบแทนกรรมการในช่วงปี 2524 ถึง 2525 แต่หนี้สินที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้เกิดขึ้นในปี 2527 ทั้งสิ้น ทั้งตามเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 5 มีข้อความระบุว่า คณะกรรมการดำเนินการในระยะเริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. 2524ให้คณะครูซึ่งประกอบด้วยจำเลยทั้งสิบดำเนินการกันก่อน และในหน้า 144 ระบุว่าคณะกรรมการอยู่ในตำแหน่งคราวละ 1 ปี เจือสมกับที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 นำสืบว่า ครูในโรงเรียนศรีวิกรม์มีประมาณ 200 คน จำเลยที่ 1 เป็นครูใหญ่ มีคำสั่งตั้งให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ซึ่งเป็นครูในโรงเรียนเป็นคณะกรรมการชั่วคราว โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ก่อนหลังจากได้รับแต่งตั้งในปี 2524 แล้ว จำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย ประกอบกับจำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาพระโขนง รวม 2 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.6 จ.7 ชำระหนี้ค่าสินค้าให้โจทก์บางส่วน แสดงว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์แต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยโจทก์ไม่มีหลักฐานอื่นมาประกอบให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 10เป็นผู้สั่งซื้อสินค้าด้วย และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 มอบให้จำเลยที่ 1 ออกเช็คชำระหนี้ให้โจทก์แต่อย่างใด เป็นข้อกล่าวอ้างของโจทก์แต่ฝ่ายเดียว ไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ ศาลฎีกาเห็นว่า คำพยานจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 มีน้ำหนักยิ่งกว่าพยานโจทก์ ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 เข้าหุ้นส่วนกันกับจำเลยที่ 1 เพื่อจัดตั้งสหกรณ์ร้านค้าโรงเรียนศรีวิกรม์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์ตามฟ้อง…”
พิพากษายืน.

Share