คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 485/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ผู้อุทธรณ์ไม่นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยภายในเวลาที่ศาลกำหนด ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยมิได้ติดต่อกับศาลเป็นเวลา 2 เดือนเศษ คงมีข้ออ้างเพียงว่าทนายโจทก์ได้เลื่อนการพิจารณาคดีออกไปหลายคดี ประกอบกับความพลั้งเผลอ ย่อมเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 174(2) ประกอบมาตรา 246 ซึ่งศาลชอบที่จะใช้ดุลพินิจสั่งจำหน่ายคดีเสียได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 132(1)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า พินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองที่นางเสงี่ยม แทนทอง ทำขึ้นเป็นโมฆะ จำเลยให้การต่อสู้ว่า พินัยกรรมฉบับที่โจทก์ถือเป็นเหตุนำมาฟ้องมีผลตามกฎหมายไม่เป็นโมฆะ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2530 โดยให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยภายใน 10 วัน ต่อมาวันที่11 พฤศจิกายน 2531 เจ้าหน้าที่ศาลรายงานว่า โจทก์มิได้นำส่งสำเนาอุทธรณ์ตามกำหนดเวลาที่ศาลสั่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งสำเนาไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาสั่ง ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งอุทธรณ์ ให้จำหน่ายคดี โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปรากฏข้อเท็จจริงจากถ้อยคำสำนวนว่าโจทก์ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2531 ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ในวันเดียวกันและสั่งว่า สำเนาให้จำเลยโดยให้โจทก์นำส่งภายใน 10 วัน มิฉะนั้นจะถือว่าทิ้งอุทธรณ์ แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยภายในกำหนดที่ศาลชั้นต้นสั่ง วันที่ 11 พฤศจิกายน 2531 เจ้าหน้าที่ศาลจึงได้รายงานว่าโจทก์มิได้นำส่งสำเนาอุทธรณ์ตามกำหนด ศาลชั้นต้นสั่งให้ส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาสั่งวันที่ 16 มีนาคม 2532 โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ว่า ที่โจทก์มิได้นำส่งสำเนาให้จำเลยภายในกำหนดนั้น เนื่องจากในระหว่างนั้นทนายโจทก์ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ต้องเข้ารักษาตัวและพักฟื้นเป็นเวลา 2 เดือนเศษ เมื่อรักษาตัวหายดีแล้ว ก็มีคดีที่คั่งค้างซึ่งได้เลื่อนนัดพิจารณาไปหลายคดี จำต้องดำเนินการด่วน ประกอบกับความพลั้งเผลอของทนายโจทก์ จึงมิได้ติดต่อนำส่งสำเนาอุทธรณ์ โจทก์มิได้มีเจตนาหรือจงใจไม่นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลย มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่า ที่ศาลอุทธรณ์สั่งจำหน่ายคดีโจทก์ ชอบหรือไม่พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นสั่งคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ว่า รับอุทธรณ์ สำเนาให้จำเลยโดยให้โจทก์นำส่งภายใน10 วันนั้น ย่อมเป็นกรณีที่ศาลกำหนดเวลาให้โจทก์ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2)ซึ่งบทบัญญัติมาตราดังกล่าวบัญญัติว่า ถ้าโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดไว้ให้ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง และมาตรา 246 ให้นำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้ในชั้นอุทธรณ์ด้วย ฉะนั้นเมื่อโจทก์มิได้นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยภายในเวลาที่ศาลกำหนด จึงเป็นการที่โจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์ ซึ่งศาลชอบที่จะสั่งจำหน่ายคดีเสียได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 132(1) อันเป็นเรื่องดุลพินิจของศาล และในข้อที่ว่าศาลอุทธรณ์ได้ใช้ดุลพินิจเหมาะสมถูกต้องแล้วหรือไม่นั้น ปรากฏข้อเท็จจริงว่าศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์เมื่อวันที่ 21ตุลาคม 2531 ให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยภายใน 10 วันคือภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2531 พ้นกำหนดแล้วโจทก์มิได้นำส่งสำเนาอุทธรณ์ และมิได้กระทำการใด ๆ จนวันที่ 16 มีนาคม 2532ทนายโจทก์จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ชี้แจงเหตุผลที่มิได้นำส่งสำเนาอุทธรณ์ ตามคำร้องของทนายโจทก์อ้างว่า ในระหว่างนั้นทนายโจทก์ประสบอุบัติเหตุรถยนต์ต้องรักษาตัวและพักฟื้นเป็นเวลานานถึง 2 เดือนเศษ โดยมิได้ระบุว่าประสบอุบัติเหตุวันใดบาดเจ็บมากน้อยเพียงใด รักษาตัวตั้งแต่วันที่เท่าใดถึงวันที่เท่าใด ที่โรงพยาบาลหรือที่ใด มีหลักฐานของโรงพยาบาลอย่างไรบ้างพักฟื้นตั้งแต่วันใดถึงวันใด ทั้ง ๆ ที่รายละเอียดเหล่านี้ทนายโจทก์ย่อมทราบดีอยู่แล้ว ทำให้เห็นได้ว่า ข้ออ้างของโจทก์ไม่มีมูลความจริง นอกจากนี้ทนายโจทก์ยื่นคำร้องดังกล่าวหลังจากพ้นกำหนดเวลาที่จะนำส่งสำเนาอุทธรณ์ถึง 4 เดือนครึ่ง เป็นการปล่อยเวลาให้เนิ่นนานเกินสมควร เพราะตามคำร้องของทนายโจทก์อ้างว่า ประสบอุบัติเหตุในระหว่างเวลาที่จะต้องนำส่งสำเนาอุทธรณ์ต้องรักษาตัวและพักฟื้นเป็นเวลาประมาณ 2 เดือนเศษ แสดงว่ารวมเวลารักษาตัวและพักฟื้นไม่เกินต้นเดือนมกราคม 2532 แต่ทนายโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2532หรือหากจะคิดแต่เฉพาะช่วงเวลารักษาตัวไม่รวมระยะฟักฟื้นด้วยย่อมจะไม่เกินปลายเดือนธันวาคม 2531 แสดงว่าทนายโจทก์ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยมิได้ติดต่อกับศาลเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นเวลาถึง 2 เดือนเศษ ข้ออ้างของทนายโจทก์ถึงเหตุที่ปล่อยเวลาล่วงเลยไปก็มีเพียงว่า ทนายโจทก์ได้เลื่อนการพิจารณาคดีออกไปหลายคดีประกอบกับความพลั้งเผลอ อันเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น ศาลอุทธรณ์สั่งจำหน่ายคดีชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share