คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 330/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตาม หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ร่วมมอบอำนาจให้ พ. ไปร้องทุกข์ดำเนิน คดีจำเลยที่ 2 ในข้อหาออกเช็ค โดย เจตนาไม่ให้มีการใช้ เงินตาม เช็ค เท่านั้น พ. ไม่ได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนิน คดีแก่จำเลยที่ 2 แต่ กลับไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนิน คดีแก่จำเลยที่ 1 และตาม บันทึกการร้องทุกข์มอบคดีอันยอมความได้ ที่พนักงานสอบสวนทำขึ้นนั้น ก็ปรากฏว่า พ. แจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนิน คดีแก่จำเลยที่ 1 ในฐานะ ส่วนตัว โดย ไม่มีข้อความตอน ใด ระบุว่า พ. ร้องทุกข์ให้ดำเนิน คดีแก่จำเลยที่ 1 โดย ได้ รับมอบอำนาจจากโจทก์ร่วม ดังนี้ การร้องทุกข์ของ พ. จึงไม่ชอบ เท่ากับโจทก์ร่วมซึ่ง เป็นผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนิน คดีซึ่ง เป็นความผิด ต่อ ส่วนตัวแก่จำเลยทั้งสองต่อ พนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจทำการสอบสวนคดีนี้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 ฉะนั้นพนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2497 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ห้างหุ้นส่วนจำกัดเชียงใหม่บริการผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 20,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 9 เดือน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้ยึดทรัพย์จำเลยที่ 1 ใช้แทนค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2528 จำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คของธนาคารศรีนคร จำกัด สาขาลำปาง เลขที่ 022969/786 ลงวันที่ 10พฤษภาคม 2528 สั่งจ่ายเงินจำนวน 167,106 บาท และประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 มอบให้แก่นายพิทักษ์ ปลื้มพิทักษ์กุลหุ้นส่วนคนหนึ่งของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นเช็คพิพาทกันคดีนี้ และต่อมาธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2528 ให้เหตุผลว่ายังไม่มีการตกลงกับธนาคาร และจำเลยทั้งสองยังไม่ได้ชำระเงินตามเช็คคดีมีปัญหาว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ร่วมได้ร้องทุกข์ การสอบสวนของพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับจำเลยทั้งสองชอบด้วยกฎหมาย พนักงานอัยการโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.5โจทก์ร่วมได้มอบอำนาจให้นายพิทักษ์ ปลื้มพิทักษ์กุล ไปแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 ในข้อหาออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คเท่านั้น ไม่ได้มอบอำนาจให้นายพิทักษ์ไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 แต่นายพิทักษ์ไม่ได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 กลับไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ดังปรากฏตามบันทึกการร้องทุกข์มอบคดีอันยอมความได้เอกสารหมาย จ.6 ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำขึ้นตามบันทึกการร้องทุกข์มอบคดีอันยอมความได้เอกสารหมาย จ.6 ก็ปรากฏว่านายพิทักษ์แจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัว ไม่มีข้อความตอนใดระบุว่านายพิทักษ์แจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 โดยได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ร่วมซึ่งเป็นการร้องทุกข์ที่ไม่ชอบเพราะนายพิทักษ์ไม่ใช่ผู้เสียหายเท่ากับว่าโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีนี้ซึ่งเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัวแก่จำเลยทั้งสองต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจทำการสอบสวนคดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 120 แม้นายอรัญ อภิวงศ์ หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1นายพิทักษ์และร้อยตำรวจเอกวสันต์ มัธยมนันทน์ พนักงานสอบสวนพนักงานสอบสวนเบิกความว่า นายอรัญในนามของโจทก์ร่วมได้มอบอำนาจให้นายพิทักษ์ไปแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองต่อพนักงานสอบสวนแล้วก็ตาม แต่คำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวขัดต่อหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.5 และบันทึกการร้องทุกข์มอบคดีอันยอมความได้ เอกสารหมาย จ.6 ย่อมไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ดังนั้นที่โจทก์ฎีกาว่าเมื่อประมวลจากคำเบิกความของพยานบุคคลและเอกสารหมายจ.5 และ จ.6 ซึ่งเป็นพยานเอกสารแล้ว ฟังได้ว่าโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีนี้ต่อพนักงานสอบสวนแล้วนั้นจึงฟังไม่ขึ้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว…”
พิพากษายืน.

Share