คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3603/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 200 กำหนดให้ศาลส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง ดังนี้เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์จึงเป็นหน้าที่ของศาลที่จะส่งสำเนาให้จำเลยโดยตรง โจทก์ไม่จำต้องวางเงินค่าส่งสำเนาอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมิได้ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยก่อนศาลอุทธรณ์พิพากษาการพิจารณาพิพากษาของศาลอุทธรณ์จึงขัดต่อบทบัญญัติมาตรา200 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยชัดแจ้ง แต่เนื่องจากระยะเวลาที่จะปฏิบัติตามขั้นตอนได้ล่วงเลยมาจนศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 181 กำหนดให้นำบทบัญญัติในมาตรา 139 และ 166 มาบังคับแก่การพิจารณาโดยอนุโลมดังนั้นศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะยกมาตรา 166 ดังกล่าวมาปรับแก่คดีในชั้นพิจารณาได้ โจทก์อ้างว่าในวันนัดสืบพยานโจทก์ ตัวโจทก์อยู่ที่จังหวัด สกลนคร เพื่อจัดการงานศพของมารดาภรรยาโจทก์ และต้องดูแลอาการป่วยของภรรยาโจทก์ กับโจทก์เข้าใจว่าในวันนัดดังกล่าวทนายโจทก์จะสืบพยานคนอื่นก่อน ส่วนโจทก์จะเข้าสืบในวันนัดภายหลัง โจทก์มิได้จงใจที่จะไม่มาศาลตามกำหนดนัด และโจทก์ไม่ทราบมาก่อนว่าทนายโจทก์ขอถอนตัวออกจากเป็นทนายให้โจทก์ กรณีดังกล่าวหากเป็นความจริงตามคำร้อง ของ โจทก์ก็ถือว่าโจทก์ได้แสดงให้ศาลเห็นได้ว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นด่วนวินิจฉัยสั่งยกคำร้องของโจทก์เสียโดยไม่ไต่สวนนั้นเป็นการไม่ชอบ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358,334, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้อง ให้ประทับฟ้องเฉพาะข้อหาทำให้เสียทรัพย์
จำเลยให้การปฏิเสธ
วันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์และทนายโจทก์ไม่มาศาล ศาลชั้นต้นจึงยกฟ้อง โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ศาลชั้นต้นยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของโจทก์ และมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดีต่อไป
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาประการแรกว่า โจทก์ยื่นอุทธรณเกินกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษา คือวันที่16 สิงหาคม 2531 นั้นเห็นว่าอุทธรณ์ของโจทก์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2531 โจทก์ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 14กันยายน 2531 อยู่ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ศาลอ่านคำสั่งจึงเป็นการชอบแล้ว ประการที่สองจำเลยฎีกาว่า โจทก์มิได้วางเงินค่าส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยเท่ากับโจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์แล้วเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 200 ได้บัญญัติไว้ว่า “ให้ศาลส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งแก้ภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันรับ” ดังนี้จึงเป็นหน้าที่ของศาลที่จะส่งสำเนาให้จำเลยโดยตรง โจทก์จึงไม่จำต้องวางเงินค่าส่งสำเนาอุทธรณ์ประการที่สามจำเลยฎีกาว่าการที่ศาลชั้นต้นมิได้ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยก่อนศาลอุทธรณ์พิพากษานั้น ทำให้การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ไม่ชอบ ข้อนี้การพิจารณาพิพากษาของศาลอุทธรณ์ขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 200 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยชัดแจ้ง แต่เนื่องจากระยะเวลาที่จะปฏิบัติตามขั้นตอนได้ล่วงเลยมาจนศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยคดีไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ ในส่วนที่เกี่ยวกับเนื้อหาแห่งคดีนั้น จำเลยฎีกาว่า กรณีเป็นเรื่องชั้นพิจารณา มิใช่ชั้นไต่สวนมูลฟ้องจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 166 โจทก์จึงขอให้ศาลยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ไม่ได้ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 181 กำหนดให้นำบทบัญญัติในมาตรา 139 และ 166 มาบังคับแก่การพิจารณาโดยอนุโลม ดังนั้นศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะยกมาตรา 166 ดังกล่าวมาปรับแก่คดีได้
สำหรับในปัญหาที่ว่า โจทก์มีเหตุที่จะขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาได้หรือไม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกฟ้องโจทก์เนื่องจากโจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัดสืบพยานโจทก์ แต่ในวันดังกล่าวทนายโจทก์ได้มอบฉันทะให้เสมียนทนายนำคำร้องขอถอนตัวออกจากการเป็นทนายโจทก์มายื่นต่อศาลด้วย ซึ่งศาลได้สั่งว่า ตัวความยังไม่ทราบจึงไม่อนุญาตแสดงว่าตัวโจทก์อาจเข้าใจว่าทนายโจทก์คงจะมาศาลในวันนั้น และโจทก์อ้างว่า ในวันนัดตัวโจทก์อยู่ที่จังหวัดสกลนครเพื่อจัดการงานศพของมารดาภรรยาโจทก์และต้องดูแลอาการป่วยของภรรยาโจทก์กับโจทก์เข้าใจว่า ในวันนัดดังกล่าวทนายโจทก์จะสืบพยานคนอื่นก่อนส่วนโจทก์จะเข้าสืบในวันนัดภายหลัง โจทก์มิได้จงใจที่จะไม่มาศาลตามกำหนดนัด และโจทก์ไม่ทราบมาก่อนว่าทนายโจทก์ขอถอนตัวออกจากเป็นทนายให้โจทก์ กรณีดังกล่าวหากเป็นความจริงตามคำร้องของโจทก์ก็ถือว่าโจทก์ได้แสดงให้ศาลเห็นได้ว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้ที่ศาลชั้นต้นด่วนวินิจฉัยสั่งยกคำร้องของโจทก์เสียโดยไม่ไต่สวนเป็นการไม่ชอบ
พิพากษายืน.

Share