แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
แม้ที่ดินที่จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และจำเลยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองก่อนวันที่ 4 มีนาคม 2515 ซึ่งเป็นวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ใช้บังคับ จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9,108 ทวิ
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสี่สำนวนฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ซึ่งมิได้มีสิทธิครอบครองและมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปยึดถือครอบครองก่อสร้างที่ดินทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหนองขี้เห็น อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 9, 108 ทวิ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ข้อ 11 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 กับให้จำเลยทั้งสี่และบริวารออกจากที่ดินที่ยึดถือครอบครอง จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 9, 108 ทวิ(ที่ถูกเป็นมาตรา 108 ทวิ วรรคสอง) ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 96 ข้อ 11 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 จำคุกจำเลยทั้งสี่คนละ 2 เดือน ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 3,600 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 1,400 บาท จำเลยที่ 4 เป็นเงิน 400 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสี่ไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ให้จำเลยและบริวารออกจากเขตที่ดินที่ยึดถือครอบครองไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าจำเลยทั้งสี่ได้เข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งตั้งอยู่ตำบลโคกสะอาด อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ตามรายการรังวัดเอกสารหมาย จ.2 มีปัญหาวินิจฉัยข้อแรกว่า ที่พิพาทดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์หนองขี้เห็นซึ่งใช้เป็นที่เลี้ยงสัตว์หรือไม่ โจทก์มีนายรอด รักพร้า ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 ตำบลโคกสะอาด อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2503 และนายมั่น ขุนไธสง เป็นพยานโดยนายรอดเบิกความว่าที่ดินหมู่ที่ 4 หรือเรียกว่าบ้านขี้ตุ่น มีที่ดินสำหรับใช้เลี้ยงสัตว์เรียกว่าหนองขี้เห็น อาณาเขตทิศเหนือจดลำห้วยกูนทิศตะวันออกจดที่นานายดำ เขื่อนมั่น ปัจจุบันเป็นของนายแสวงสดรัมย์ ทิศตะวันตกจดบ้านหนองแสง ทิศใต้จดหนองจาน เนื้อที่1,375 ไร่ ได้ออกไปตรวจที่ดินทำเลเลี้ยงสัตว์หนองขี้เห็น ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พบว่าจำเลยทั้งสี่ได้บุกรุกเข้ามาปลูกปอในที่ดินดังกล่าวได้ห้ามปรามแล้ว จำเลยทั้งสี่ไม่เชื่อฟังนายมั่นเบิกความว่า พยานอายุ 63 ปี มาอยู่บ้านขี้ตุ่น หมู่ที่ 4ตำบลโคกสะอาด อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2489 รู้จักที่ดินสาธารณะเลี้ยงสัตว์หนองขี้เห็นเนื้อที่ 1,375 ไร่ ซึ่งทางราชการได้ขึ้นทะเบียนเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2492 ตามสำเนาทะเบียนที่ดินสาธารณประโยชน์ ตำบลโคกสะอาด อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์เอกสารหมาย จ.1 พยานได้รับเชิญจากนายรอดผู้ใหญ่บ้านให้ไปตรวจที่ดินดังกล่าว และในวันที่เจ้าพนักงานที่ดินออกไปรังวัดว่าจำเลยทั้งสี่บุกรุกที่ดินคนละกี่ไร่ พยานก็ร่วมไปด้วย เห็นว่าไม่ปรากฏว่าพยานทั้งสองมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสี่มาก่อนไม่มีข้อระแวงสงสัยว่าจะแกล้งกล่าวหาปรักปรำจำเลยทั้งสี่นายรอดเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองมีหน้าที่ดูแลที่ดินสาธารณะในหมู่บ้านย่อมรู้จักที่ดินดังกล่าวดี นอกจากนี้นายมั่นพยานโจทก์อีกปากหนึ่งซึ่งมีอายุมาก ย้ายมาอยู่ในหมู่บ้านนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2489 และยังเป็นประธานฌาปนกิจหมู่บ้านขี้ตุ่นก็เบิกความยืนยันว่า ได้ออกไปร่วมตรวจทำเลที่เลี้ยงสัตว์กับนายรอด ได้เห็นจำเลยทั้งสี่กับพวกบุกรุกเข้าไปปลูกปอในที่ดินดังกล่าวนี้ และยังได้พูดขอร้องห้ามปรามให้เลิกบุกรุก จำเลยทั้งสี่กับพวกไม่เชื่อฟัง จึงทำให้คำเบิกความของนายรอดมีน้ำหนักมั่นคง แม้ในทะเบียนที่ดินสาธารณประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 ระบุว่าที่ดินดังกล่าวตั้งอยู่ หมู่ที่ 8 ก็ตามเห็นว่า การขึ้นทะเบียนที่ดินพิพาทว่าเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์เป็นเวลานานแล้วประมาณ 30 ปี เลขที่หมู่บ้านอาจคลาดเคลื่อนหรือเปลี่ยนแปลงไปได้ตามกาลสมัย นอกจากนั้นจำเลยทั้งสี่ก็ไม่ได้โต้แย้งเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ จึงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณประโยชน์หนองขี้เห็น ส่วนที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่า ที่ดินของจำเลยที่ 1 ได้รับยกให้มาจากนายสีเขื่อนทองซึ่งเป็นพ่อตา จำเลยที่ 2 กับที่ 3 ได้รับที่ดินมาจากนายวัน วรรณกิจ พ่อตา และจำเลยที่ 4 ว่าได้รับที่ดินมาจากนายดี วัดจำนงค์ พ่อตาเช่นเดียวกัน แม้จำเลยทั้งสี่จะมีนายจันทร์ ลือนาม ซึ่งเคยเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 11ตำบลโคกสะอาด อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ เบิกความว่านายสี เขื่อนทอง นายวัน วรรณกิจ และนายดี วัดจำนงค์ได้ทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวพยานเป็นผู้รับรองในแบบแจ้งการครอบครองที่ดินเอกสารหมาย ล.1 ล.3 (2 แผ่น) และ ล.6 มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 จำเลยทั้งสี่ได้ครอบครองโดยเปิดเผยด้วยความสงบตลอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ แต่จำเลยทั้งสี่จะยกอายุความเรื่องการครอบครองขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1306
ปัญหาต่อไปมีว่า การที่จำเลยทั้งสี่บุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินในที่สาธารณประโยชน์หนองขี้เห็นเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทที่จำเลยทั้งสี่เข้าไปยึดถือครอบครองเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน และจำเลยทั้งสี่มิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ก็ได้ความจากคำเบิกความของนายรอดและนายมั่นพยานโจทก์เองว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 บุกรุกเข้าไปปลูกปอในที่ดินพิพาทมานานประมาณ15 ปีแล้ว ส่วนจำเลยที่ 1 ก็มีนายสี เขื่อนทอง พ่อตาของจำเลยที่ 1 เบิกความสนับสนุนยืนยันว่าได้ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 ทำกินมานาน 16 ปีแล้ว เมื่อได้ความว่าจำเลยทั้งสี่เข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทก่อนวันที่ 4 มีนาคม 2515ซึ่งเป็นวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ใช้บังคับ จำเลยทั้งสี่จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องมานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษายืน