คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3150/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นกรมในรัฐบาล มิได้ทำการขายปุ๋ยแก่บุคคลทั่วไปแต่รัฐบาลได้จัดทำโครงการช่วยเหลือเกษตรกรโดยให้โจทก์จัดหาปุ๋ยมาขายแก่เกษตรกรในราคาถูก การขายสินค้าของโจทก์มิใช่เป็นการหากำไร โจทก์จึงมิใช่พ่อค้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) ทั้งมิใช่เป็นบุคคลผู้ประกอบกสิกรรมตามมาตรา 165(2) ไม่อยู่ในบังคับของอายุความตามมาตราดังกล่าว และเป็นกรณีไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องถืออายุความ 10 ปี ตามมาตรา 164 ก.ทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ไว้ภายในอายุความ จึงทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ต้องเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลาเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดไป คือวันสิ้นกำหนดที่ ก.สัญญาว่าจะนำเงินมาชำระหนี้ จำเลยที่ 6 ถึงที่ 10 ทำหนังสือค้ำประกันต่อโจทก์ในหนี้ที่ก.กู้ยืมเงินจากโจทก์ หนี้ดังกล่าวโจทก์ให้กู้ยืมเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนช่วยเหลือชาวนา ถือได้ว่าเป็นการที่รัฐบาลให้ราษฎรกู้ยืมเพื่อการเกษตรกรรมการค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 6 ถึงที่ 10เนื่องจากการดังกล่าว จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียอากรตามบัญชีอากรแสตมป์ข้อ 17 ข้อยกเว้น (ก.) แห่งประมวลรัษฎากร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายแกบ ชูทอง สามีจำเลยที่ 1 เป็นประธานกลุ่มชาวนาบ้านบางหว้า ตำบลเชียรเขา และเป็นประธานกลุ่มชาวนาอำเภอเชียรใหญ่ นายแกบถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 11กุมภาพันธ์ 2524 จำเลยที่ 1 เป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของนายแกบ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2509 จำเลยที่ 2 เช่าซื้อเครื่องสูบน้ำแบบระหัดท่อเหล็กขนาด 6″ x 6″ ประกอบเครื่องยนต์ยี่ห้อโคเลอร์ ขนาดเค 141 จากโจทก์ 1 ชุด ราคา 1,220 บาทสัญญาจะชำระเงินเป็นงวดรวม 3 งวด มีนายแกบ ชูทอง และจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 2 คงค้างชำระ 813 บาท ต้องรับผิดค่าเสียหายเท่าอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดสัญญาเป็นเวลา 5 ปี เป็นเงิน 304.87 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยที่ 2ต้องรับผิดต่อโจทก์ 1,117.87 บาท นายแกบและจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดด้วย วันที่ 2 พฤศจิกายน 2509 จำเลยที่ 2เช่าซื้อเครื่องพ่นยาปราบศัตรูข้าว ยี่ห้อเอ็กมี่จากโจทก์จำนวน 4 เครื่อง ราคา 900 บาท สัญญาจะชำระเงิน 3 งวด มีนายแกบเป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 2 ยังค้างชำระอีก 600 บาทคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นเวลา 5 ปี เป็นเงิน225 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยที่ 2 ค้างชำระโจทก์ และนายแกบต้องรับผิดด้วย จำนวน 825 บาท วันที่ 5 กันยายน 2510 นายแกบซื้อปุ๋ยเคมีแอมโมเนียมฟอสเฟต สูตร 16-20-0 จากโจทก์ จำนวน7,300 กิโลกรัม ราคา 14,600 บาท สัญญาจะชำระราคาภายในวันที่ 30มิถุนายน 2511 มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน นายแกบผิดนัดไม่ชำระราคาเลย ต้องรับผิดชำระค่าปุ๋ยดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีเป็นเวลา 5 ปี รวมเป็นเงิน 20,075 บาทโดยจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดด้วย วันที่ 6 สิงหาคม 2510นายแกบเช่าซื้อเครื่องสูบน้ำแบบท่อเหล็กขนาด 8″ x 12″ ยี่ห้อบริค จากโจทก์ 1 เครื่อง ราคา 3,425 บาท สัญญาจะชำระราคา 3 งวด มีจำเลยที่ 2 และที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกัน นายแกบผิดนัดไม่ชำระราคาต้องรับผิดชำระแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นเวลา 5 ปี จำเลยที่ 2 และที่ 4เป็นผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดด้วยในจำนวนเงินทั้งสิ้น4,709.37 บาท วันที่ 10 สิงหาคม 2511 นายจรัล ชายวงศ์ ซื้อปุ๋ยแอมโมเนียมฟอสเฟต สูตร 16-20-0 จากโจทก์ จำนวน 16,300กิโลกรัม ราคา 32,600 บาท สัญญาจะชำระราคาภายในวันที่ 2 พฤษภาคม2512 มีจำเลยที่ 5 นายแกบ และนายสงวน หนูครุน เป็นผู้ค้ำประกันนายจรัลค้างชำระอีก 31,000 บาท ต่อมานายจรัลและนายสงวนถึงแก่ความตาย โจทก์ทราบการตายของคนทั้งสองเมื่อเดือนมกราคม 2525คนทั้งสองไม่มีทรัพย์มรดกที่จะชำระหนี้โจทก์ นายแกบและจำเลยที่ 5 เป็นผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดแทนนับแต่วันผิดนัดเป็นเวลา5 ปี นายจรัลต้องรับผิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีเป็นเงิน 11,625 บาท รวมเป็นเงินที่นายแกบและจำเลยที่ 5ต้องรับผิดต่อโจทก์ 42,625 บาท เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2511จำเลยที่ 4 เช่าซื้อเครื่องสูบน้ำแบบท่อเหล็กขนาด 8″ x 12″ยี่ห้อบริคจากโจทก์ 1 เครื่อง ราคา 3,500 บาท สัญญาจะชำระราคา 3 งวด มีนายแกบและจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 4 ชำระราคาแก่โจทก์เพียง 500 บาท แล้วไม่ชำระอีกเลยจำเลยที่ 4 ต้องรับผิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นเวลา5 ปี เป็นเงิน 1,125 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำนวน 4,125 บาท นายแกบกับจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดด้วย เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2512 นายแกบได้กู้ยืมเงินตามโครงการช่วยเหลือชาวนาจากโจทก์ 2 รายการโดยกู้ยืมเงินเพื่อจัดซื้อปุ๋ย จำนวน 162,000 บาท และเพื่อจัดซื้อเครื่องสูบน้ำ จำนวน 72,150 บาท ทั้งสองรายการสัญญาจะชำระคืนภายในวันที่ 1 กันยายน 2513 โดยมีจำเลยที่ 6, 7, 8, 9และที่ 10 เป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาวันที่ 2 พฤศจิกายน 2513นายแกบได้รับเงินจัดสรรซื้อปุ๋ยเคมีจากโจทก์อีก 3,500 บาทกำหนดชำระคืนวันที่ 30 สิงหาคม 2514 แต่นายแกบผิดนัดไม่ชำระคืนต้องรับผิด ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้องโจทก์คิดเพียง 5 ปี เป็นเงิน 1,312.50 บาทรวมเป็นเงินที่นายแกบต้องรับผิดอีก 4,812.50 บาท นายแกบทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้นายแกบถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 11กุมภาพันธ์ 2524 โจทก์ทราบการตายเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2524จำเลยที่ 1 เป็นภรรยานายแกบเป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของนายแกบ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระหนี้แทนนายแกบ โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยที่ 1 เพิกเฉยขอให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน340,935.36 บาท โดยให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 18 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ดังต่อไปนี้ จำเลยที่ 2 จำนวน 57,851.87 บาท จำเลยที่ 3 จำนวน 1,117.87 บาท จำเลยที่ 4 จำนวน 39,034.37 บาท จำเลยที่ 5 จำนวน 42,625 บาท จำเลยที่ 6, 7, 8, 9 และ 10 จำนวน262,645.50 บาท จำเลยที่ 11 จำนวน 10,831.12 บาท จำเลยที่12 จำนวน 9,143.75 บาท จำเลยที่ 13 จำนวน 16,644.37 บาทจำเลยที่ 14 จำนวน 10,828.12 บาท จำเลยที่ 15 จำนวน 10,656บาทจำเลยที่ 16 จำนวน 14,781.25 บาท จำเลยที่ 17 จำนวน 2,887.50 บาทและจำเลยที่ 18 จำนวน 67,237.50 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินที่แต่ละคนต้องรับผิดแก่โจทก์ นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8, 9, 10,11, 13, 15, 17 และที่ 18 ให้การปฏิเสธ ขอให้ยกฟ้อง ต่อมาจำเลยที่ 3 ขอถอนคำให้การเดิม และให้การใหม่ว่าเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 2 จริง ยอมชดใช้เงินแทนจำเลยที่ 2 ตามที่โจทก์เรียกร้องและนำเงินจำนวน 1,117.87 บาท วางศาลเพื่อชำระแก่โจทก์ต่อไปจำเลยที่ 12 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา จำเลยที่ 14และที่ 16 ให้การรับว่าเป็นหนี้โจทก์จริงต่อมาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 14 ศาลอนุญาตโจทก์กับจำเลยที่ 16 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลพิพากษาตามยอมแล้วศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 166,427.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากต้นเงิน 121,038 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากบังคับเอาจากจำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้จำเลยที่ 4 ชำระแทนไม่เกิน 4,709.37 บาท และจำเลยที่ 6, 7, 8, 9 และ 10 ร่วมกันชำระแทนไม่เกิน 78,512.50 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากต้นเงิน 3,425 บาทและ 57,100 บาท ตามลำดับ จำเลยที่ 6, 7, 8, 9 และ 10 ร่วมกันรับผิด2,500 บาท สำหรับจำเลยที่ 16 ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมฉบับลงวันที่ 28 เมษายน 2526 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก จำเลยที่ 1และจำเลยที่ 6 ถึงที่ 10 อุทธรณ์ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์จำเลยที่ 10 ถึงแก่กรรมศาลอุทธรณ์อนุญาตให้นางจำนอง เสือแก้วภริยาเข้าเป็นคู่ความแทนศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 6 ถึงที่ 10 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 6 ถึงที่ 10ฎีกาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความเพราะมิได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ภายใน 1 ปีนับแต่วันที่นายแกบ ชูทอง ถึงแก่กรรมนั้น ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ในหนี้ที่นายแกบซื้อเชื่อปุ๋ยกับเช่าซื้อเครื่องสูบน้ำจากโจทก์ หนี้ที่ค้ำประกันจำเลยที่ 2ที่ 4 และนายจรัล ชายวงศ์ และหนี้ตามสัญญากู้ยืมหนี้เหล่านี้เว้นแต่หนี้ตามสัญญากู้ยืม นายแกบได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2520 อันอยู่ภายในระยะเวลา 10 ปีนับแต่หนี้ดังกล่าวถึงกำหนดชำระ แต่เกิน 2 ปี ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นมีว่า นายแกบได้รับสภาพหนี้ต่อโจทก์ภายในอายุความหรือไม่ ซึ่งฝ่ายจำเลยต่อสู้ว่า หนี้เหล่านี้ต้องใช้อายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) และ(2) เห็นว่า โจทก์เป็นกรมในรัฐบาล โจทก์มิได้ทำการขายปุ๋ยและให้เช่าซื้ออุปกรณ์การเกษตรแก่บุคคลทั่วไป แต่รัฐบาลได้จัดทำโครงการช่วยเหลือเกษตรกรและให้โจทก์จัดหาปุ๋ยและอุปกรณ์การเกษตรขายและให้เช่าซื้อแก่เกษตรกรในราคาถูก การขายสินค้าของโจทก์จึงมิใช่เป็นการหากำไรโจทก์จึงมิใช่พ่อค้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) ทั้งมิใช่เป็นบุคคลผู้ประกอบกสิกรรมตามมาตรา 165(2) ไม่อยู่ในบังคับของอายุความตามมาตราดังกล่าว และกรณีไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องถืออายุความ 10 ปี ตามมาตรา 164 ดังนั้นการรับสภาพหนี้ของนายแกบจึงเป็นการรับสภาพหนี้ภายในอายุความเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง และต้องเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลาเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้นสิ้นสุดไปซึ่งตามหนังสือรับสภาพหนี้นายแกบสัญญาว่าจะนำเงินมาชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 24 พฤษภาคม 2521 ถือว่าเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงได้สิ้นสุดลงในวันดังกล่าว ต้องเริ่มนับอายุความ10 ปี ใหม่ตั้งแต่วันนั้นสำหรับหนี้เงินยืมแม้นายแกบจะไม่ได้รับสภาพหนี้ไว้ แต่หนี้ดังกล่าวมีกำหนดอายุความ 10 ปี และต้องเริ่มนับอายุความตั้งแต่วันที่หนี้ถึงกำหนดชำระ คือวันที่ 1 กันยายน 2515ทำให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ทั้งหมดอันมีต่อนายแกบมีกำหนดอายุความยาวกว่า 1 ปี ดังนั้นกรณีจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม คือ โจทก์ต้องฟ้องจำเลยที่ 1 ภายในกำหนด 1 ปี นับแต่โจทก์ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของนายแกบแม้นายแกบจะถึงแก่กรรมในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2524 แต่ปรากฏตามคำเบิกความของนายยุกติ สาริกะภูติ พยานโจทก์ซึ่งเป็นอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรโจทก์ว่า พยานทราบเรื่องนี้เมื่อวันที่ 15พฤษภาคม 2524 จึงถือว่าโจทก์รู้ถึงความตายของนายแกบในวันดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2525จึงเป็นการฟ้องจำเลยที่ 1 ภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันดังกล่าวคดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ที่จำเลยที่ 6 ถึงที่ 10 ฎีกาว่า โจทก์ผ่อนเวลาชำระหนี้ให้นายแกบ ชูทอง สามีจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 6 ถึงที่ 10 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันนายแกบจึงหลุดพ้นจากความรับผิดด้วยนั้น เห็นว่าจำเลยเหล่านี้มิได้กล่าวอ้างความข้อนี้มาในชั้นอุทธรณ์แต่ประการใดศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
สำหรับฎีกาของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 6 ถึงที่ 10 ที่ว่าเอกสารที่โจทก์นำมาฟ้องไม่ปิดแสตมป์ จึงนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานไม่ได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 นั้น เอกสารที่โจทก์นำมาฟ้องที่เข้าข่ายอาจต้องเสียอากรตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ของประมวลรัษฎากรคือ หนังสือสัญญายืมเงินทุนหมุนเวียนช่วยเหลือชาวนา หนังสือสัญญาเช่าซื้ออุปกรณ์การเกษตร และหนังสือสัญญาค้ำประกัน ส่วนหนังสือสัญญาซื้อขายปุ๋ยและหนังสือรับสภาพหนี้ประมวลรัษฎากรมิได้บังคับให้ต้องปิดอากรแสตมป์แต่อย่างใด สำหรับหนังสือยืมเงินและหนังสือสัญญาเช่าซื้อนั้น ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์กำหนดให้ผู้ที่ต้องเสียอากรคือผู้ให้กู้และผู้ให้เช่าซึ่งก็คือโจทก์ แต่โดยเหตุที่โจทก์เป็นกรมในรัฐบาลจึงได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียอากรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 121 ดังนั้น แม้โจทก์ไม่ปิดแสตมป์สำหรับเอกสารดังกล่าว โจทก์ก็มีสิทธิอ้างเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้ คงมีปัญหาต้องพิจารณาต่อไปในเรื่องหนังสือสัญญาค้ำประกัน แม้ว่าผู้มีหน้าที่ต้องเสียอากรจะไม่ใช่โจทก์อันทำให้ไม่ได้รับการยกเว้นตามประมวลรัษฎากร มาตรา 121ก็ตามแต่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยที่ 1 รับผิดในหนี้ค้ำประกันเฉพาะที่นายแกบค้ำประกันจำเลยที่ 2 ที่ 4 และนายจรัล ชายวงศ์ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ให้การรับว่า นายแกบได้ค้ำประกันนายจรัลจริง และมิได้ให้การปฏิเสธว่านายแกบมิได้ค้ำประกันจำเลยที่ 2 ที่ 4 ดังนั้น จึงฟังได้ว่านายแกบ ได้ทำสัญญาค้ำประกันจริง โดยศาลไม่จำต้องใช้สัญญาค้ำประกันเป็นพยานหลักฐานประกอบการพิจารณาคดี ส่วนความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 6ถึงที่ 10 นั้น ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 6 ถึงที่ 10รับผิดในหนี้ที่ค้ำประกันการกู้ยืมเงินของนายแกบหนี้กู้ยืมดังกล่าวโจทก์ให้นายแกบกู้ยืมไปเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนช่วยเหลือชาวนา ถือได้ว่าเป็นการที่รัฐบาลให้ราษฎร์กู้ยืมเพื่อการเกษตรกรรมการค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 6 ถึงที่ 10 เนื่องจากการดังกล่าวจึงได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียอากรตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ข้อ 17ข้อยกเว้น (ก)
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาข้อสุดท้ายเป็นปัญหาข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 6 ถึงที่ 10 หาได้สืบให้เห็นโดยชัดเจนถึงการปฏิเสธความรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้ท้ายฟ้องไม่ ดังนั้น จำเลยเหล่านี้จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในหนี้สินที่ค้างชำระแก่โจทก์ หาใช่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดเพียงผู้เดียวและจำเลยอื่นรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันไม่นั้น จำเลยที่ 1 มิได้กล่าวอ้างความข้อนี้มาในชั้นอุทธรณ์แต่ประการใด ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share