คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2825/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ปัญหามีว่าวันออกเช็คหรือวันที่เช็คพิพาทถึงกำหนด ผู้ออกเช็คมีเงินในบัญชีที่ธนาคารพอจ่ายตามเช็คหรือไม่ เป็นข้อสำคัญแห่งคดีเพราะเป็นเหตุที่ทำให้การกระทำเป็นความผิดโจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบว่าวันดังกล่าวจำเลยมีเงินในบัญชีที่ธนาคารไม่พอจ่ายตามเช็คพิพาทคดีจึงจะลงโทษจำเลยได้การที่โจทก์กับจำเลยตกลงเลื่อนกำหนดวันนำเช็คไปยื่นขอรับเงินจากธนาคารเป็นวันอื่น ซึ่งไม่ใช่วันออกเช็คโดยมิได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขวันออกเช็คใหม่ ไม่ทำให้หน้าที่นำสืบของโจทก์เปลี่ยนแปลง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งที่ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 4ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามฟ้อง
โจทก์และจำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์มิได้นำสืบว่าในวันออกเช็คบัญชีของจำเลยที่ 1 ปิดแล้วหรือไม่ คดีของโจทก์จึงขาดสาระสำคัญของความผิดลงโทษจำเลยที่ 4 ไม่ได้และเหตุดังกล่าวเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิพากษาให้มีผลกับจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 ซึ่งไม่ได้อุทธรณ์ได้พิพากษากลับ ยกฟ้องโจทก์ทั้งหมด
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 4
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อในเช็คแทนจำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คของธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาบางยี่ขันจำนวน 4 ฉบับ ลงวันที่ล่วงหน้าต่าง ๆ กัน มอบให้แก่โจทก์เป็นการชำระหนี้ คือ ฉบับแรกเช็คลงวันที่ 27 สิงหาคม 2526จำนวนเงิน 30,828 บาท ฉบับที่สองลงวันที่ 29 สิงหาคม 2526จำนวนเงิน 40,922 บาท ฉบับที่สามลงวันที่ 8 กันยายน 2526จำนวนเงิน 55,440 บาท และฉบับที่สี่ลงวันที่ 9 กันยายน 2526จำนวนเงิน 43,575 บาท ปรากฏตามเช็คเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.4ต่อมาวันที่ 27 มกราคม 2527 โจทก์นำเช็คทั้ง 4 ฉบับเข้าบัญชีที่ธนาคารเพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็ค แต่ปรากฏว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะบัญชีของจำเลยที่ 1 ปิดแล้ว ปรากฏตามใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.8 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่าจำเลยที่ 4ได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า กรณีที่โจทก์กับจำเลยตกลงกันให้โจทก์นำเช็คไปยื่นขอรับเงินจากธนาคารในวันอื่นซึ่งไม่ใช่วันออกเช็คนั้น โจทก์ไม่ต้องนำสืบว่าวันออกเช็คพิพาทนั้นจำเลยที่ 1 มีเงินในบัญชีไม่พอจ่ายตามเช็คหรือไม่ หรือบัญชีของจำเลยที่ 1 ปิดแล้วหรือไม่ เพราะไม่ใช่สาระสำคัญซึ่งเป็นองค์ประกอบของความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาข้อนี้โจทก์ได้นำสืบไว้ว่าในวันที่จำเลยที่ 4 โทรศัพท์ขอเลื่อนการนำเช็คไปยื่นขอรับเงินจากธนาคารเป็นวันที่ 27 มกราคม 2527 นั้นจำเลยที่ 4 ให้เหตุผลว่าจำเลยที่ 1 มีเงินในบัญชีไม่พอจ่ายตามเช็คและจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก็เบิกความยอมรับข้อนี้ไว้แล้วทั้งนางสาวนพวรรณ จิตตะวณิช สมุห์บัญชีของธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาบางยี่ขัน ก็เบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 1 ปิดบัญชีเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2526 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าวันออกเช็คพิพาทจำเลยที่ 1 มีเงินในบัญชีไม่พอจ่ายตามเช็ค จำเลยที่ 4 จึงมีความผิดตามฟ้อง พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ปัญหาที่ว่าวันออกเช็คหรือวันที่เช็คพิพาทถึงกำหนดนั้น ผู้ออกเช็คมีเงินในบัญชีที่ธนาคารพอจ่ายตามเช็คหรือไม่ เป็นข้อสำคัญแห่งคดีเพราะเป็นเหตุที่ทำให้การกระทำเป็นความผิด โจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบว่าวันดังกล่าวจำเลยที่ 1มีเงินในบัญชีที่ธนาคารไม่พอจ่ายตามเช็คพิพาท คดีจึงจะลงโทษจำเลยที่ 4 ได้ การที่โจทก์กับจำเลยตกลงเลื่อนกำหนดวันนำเช็คไปยื่นขอรับเงินจากธนาคารเป็นวันอื่น ซึ่งไม่ใช่วันออกเช็คโดยมิได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขวันออกเช็คใหม่ไม่ทำให้หน้าที่นำสืบของโจทก์เปลี่ยนแปลง ส่วนข้อเท็จจริงนั้นปรากฏว่านายทวี ฉัตรธิรักษ์พยานโจทก์ ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์ก็เบิกความเพียงว่า ก่อนที่เช็คพิพาทฉบับแรกถึงกำหนด จำเลยที่ 4 ได้โทรศัพท์แจ้งพยานขอเลื่อนการนำเช็คไปยื่นขอรับเงินจากธนาคารเป็นวันที่27 มกราคม 2527 โดยอ้างว่าวันดังกล่าวจึงจะเบิกเงินเกินบัญชีจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ได้ พยานมิได้เบิกความเลยว่าจำเลยที่ 4 อ้างเหตุผลว่าเป็นเพราะจำเลยที่ 1 มีเงินในบัญชีไม่พอจ่ายตามเช็คดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาไม่ ส่วนกรณีที่ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ได้ปิดบัญชีที่ธนาคารเมื่อวันที่13 ตุลาคม 2526 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากเช็คพิพาทฉบับสุดท้ายครบกำหนดแล้วประมาณ 1 เดือนนั้น ไม่พอฟังว่าวันออกเช็คพิพาทหรือวันที่เช็คพิพาทถึงกำหนด จำเลยที่ 1 มีเงินในบัญชีไม่พอจ่ายตามเช็คพิพาท คดีจึงลงโทษจำเลยที่ 4 ไม่ได้”
พิพากษายืน

Share