คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2510/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในการจ่ายเงินได้ให้แก่พนักงานของโจทก์ โจทก์ไม่ได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและนำส่งให้ถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 จึงได้ประเมินให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย พร้อมเงินเพิ่มและส่งหนังสือแจ้งการประเมินโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังโจทก์ที่บริษัท ว. ซึ่งเป็นสถานที่ที่โจทก์แจ้งให้จำเลยติดต่อด้วย แต่ไม่มีผู้รับ พนักงานไปรษณีย์ได้ส่งหนังสือดังกล่าวคืนจำเลยโดยแจ้งว่า “คืน ไม่มีผู้รับตามจ่าหน้า” เช่นนี้ แม้พนักงานไปรษณีย์ผู้ไปส่งหนังสือแจ้งการประเมินจะเบิกความอ้างว่าได้ส่งให้แก่ประชาสัมพันธ์ของบริษัท ว. แต่ประชาสัมพันธ์นั้นไม่ยอมรับ และนำหนังสือเข้าไปภายในบริษัทแล้วกลับออกมาบอกว่าไม่มีชื่อผู้รับที่บริษัทนี้ ก็หาเป็นการส่งที่สมบูรณ์ตาม ป. รัษฎากรมาตรา 8 ไม่ เพราะจำเลยที่ 1 ได้เลือกเอาวิธีการส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตามบทบัญญัติมาตรา 5 วรรคหนึ่ง อันเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะพิพาท และเป็นกรณีไม่มีผู้รับตามจ่าหน้า ซึ่งตามไปรษณียนิเทศ พ.ศ. 2529 ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ. ไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 และมาตรา 4แห่ง พ.ร.บ. การสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 ข้อ 359 ให้ถือเป็นไปรษณียภัณฑ์และพัสดุไปรษณีย์ที่นำจ่ายผู้รับไม่ได้และจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้เลือกส่งโดยวิธีอื่น ๆ ตามที่กำหนดไว้ใน ป. รัษฎากร มาตรา 8 ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1นำเอาวิธีประกาศหนังสือพิมพ์มาใช้ในการส่งหนังสือแจ้งการประเมินดังกล่าวให้แก่โจทก์ในระหว่างที่ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2529 ให้สิทธิโจทก์ที่จะใช้สิทธิในการเสียภาษีโดยยื่นแบบ จ. 1 ได้จึงไม่มีผลเป็นการตัดสิทธิโจทก์ตามบทกฎหมายดังกล่าว.
สิทธิที่จะยื่นคำขอเสียภาษีตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด (แบบ อ.1) โดยได้รับยกเว้นจากการเรียกตรวจสอบไต่สวน ประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากรและความรับผิดทางอาญา ตาม พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2529 มาตรา 30 มีความหมายรวมถึงบุคคลที่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายด้วย หาได้จำกัดเฉพาะบุคคลที่มีหน้าที่เสียภาษีโดยตรงเท่านั้นไม่ ดังนั้นโจทก์ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินได้ของพนักงาน แต่ไม่ได้หักไว้ ซึ่งจะต้องรับผิดร่วมกับพนักงานโจทก์ผู้มีเงินได้ในการเสียภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนเงินภาษีที่มิได้หักตาม ป. รัษฎากร มาตรา 54 ย่อมเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ดังกล่าวโดยตรง โจทก์จึงได้รับสิทธิตามบทกฎหมายดังกล่าวทุกประการ.
เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีอากรโจทก์โดยไม่มีอำนาจเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2529 มาตรา 30 โจทก์จึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องศาลได้โดยไม่ต้องอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณา อุทธรณ์ก่อน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หัก ณ ที่จ่ายที่ ต.4/1038/1/39131 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2528
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายโดยชอบแล้ว เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หัก ณ ที่จ่ายที่ ต. 4/1038/1/39131ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2528
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “…โจทก์เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และได้เข้ามาทำกิจการในประเทศไทยระหว่างปีพ.ศ. 2523 ถึง 2527 แต่จากการตรวจสอบของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 พบว่าเงินได้พึงประเมินซึ่งจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(1) และบริษัทโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างผู้จ่ายเงิน มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ดังกล่าวไว้ทุกคราวที่จ่ายเงินให้แก่พนักงานของบริษัทนั้น โจทก์มิได้หักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่ายและนำส่งให้ถูกต้องครบถ้วนตามมาตรา 50 และมาตรา 52 จำเลยที่ 2 จึงได้ประเมินให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย พร้อมเงินเพิ่ม ได้มีการส่งหนังสือแจ้งการประเมินให้โจทก์ และประกาศหนังสือพิมพ์สายกลางตามเอกสารหมาย จ.17 ในที่สุด แต่ก่อนที่จะมีการประกาศหนังสือพิมพ์และอยู่ในระหว่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2529 มาตรา 30 ใช้บังคับซึ่งให้สิทธิผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากร และยังไม่ได้เสียภาษีอากรหรือเสียไว้ไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ ได้ยื่นคำขอเสียภาษีอากรตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดภายในเดือนกรกฎาคม 2529 วันที่ 12 พฤษภาคม2529 โจทก์จึงได้ยื่นคำขอเสียภาษีอากรตามแบบ อ.1 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.ล.8 และได้ชำระภาษีอากรตามมาตรา 30 แห่งบทกฎหมายดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 2,084,017.77 บาท ซึ่งเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้ออกใบเสร็จรับเงินไว้ ปรากฏตามเอกสารท้ายเอกสารหมาย จ.ล.8รวม 2 ฉบับ และเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้ทำการวิเคราะห์แบบอ.1 แล้วบันทึกไว้ว่า ปรากฏว่าโจทก์ได้เสียภาษีไว้ถูกต้องแล้วปรากฏตามเอกสารหมาย ล.3 ข้อ 2 ตอนท้าย แต่ต่อมาเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 กลับมีหนังสือแจ้งผลการวิเคราะห์ แบบ อ.1 ไปยังโจทก์ว่าโจทก์ไม่ได้รับสิทธิตามมาตรา 30 ของพระราชกำหนดดังกล่าว ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.16 ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1ประการแรกมีว่า โจทก์ได้รับสิทธิตามพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2529 มาตรา 30 หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 อ้างว่าเพราะโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินแล้ว จึงเป็นบุคคลที่ไม่ได้มีสิทธิตามบทมาตราดังกล่าว และกฎหมายมาตรานี้ให้สิทธิเฉพาะผู้มีหน้าที่เสียภาษีของตนเองโดยตรง แต่กรณีของโจทก์เป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย จึงไม่อยู่ในข่ายได้รับสิทธิตามมาตรานี้ ในปัญหาแรกได้ความจากนางสาววันทูรย์เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี 6 ของจำเลยที่ 1 ว่า ได้ส่งหนังสือแจ้งการประเมินไปยังโจทก์โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ แต่ส่งไม่ได้โดยพนักงานไปรษณีย์แจ้งว่า “คืน ไม่มีผู้รับตามจ่าหน้า” ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.12 แม้นายวีระพงษ์ แสงทับ พนักงานไปรษณีย์ผู้ไปส่งหนังสือแจ้งการประเมินจะเบิกความอ้างว่า ได้ส่งให้แก่ประชาสัมพันธ์ของบริษัทวิคเคอรี่ ประพนธ์ ประมวลและสุธี จำกัด แต่ประชาสัมพันธ์นั้นไม่ยอมรับ และนำหนังสือที่ส่งเข้าไปภายในบริษัทและกลับออกมาบอกว่าไม่มีชื่อผู้รับที่บริษัทนี้ ก็หาเป็นการส่งที่สมบูรณ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 8 ดังที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ไม่เพราะจำเลยที่ 1 ได้เลือกเอาวิธีการส่งหนังสือแจ้งการประเมินไปยังโจทก์โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตามประมวลรัษฎากร มาตรา 8 วรรคหนึ่งอันเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะพิพาทและการส่งในกรณีของจำเลยที่ 1นี้ ปรากฏว่าเป็นเรื่องไม่มีผู้รับ ซึ่งตามไปรษณียนิเทศ พ.ศ.2529ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติไปรษณีย์พ.ศ. 2477 และมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2519 ซึ่งใช้บังคับขณะพิพาท ข้อ 359 ได้กำหนดไว้ว่า กรณีไม่มีผู้รับตามจ่าหน้าถือเป็นไปรษณียภัณฑ์และพัสดุไปรษณีย์ที่นำจ่ายผู้รับไม่ได้ ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงหาชอบที่จะกล่าวอ้างว่าการส่งหนังสือแจ้งการประเมินชอบด้วยกฎหมายแล้วไม่ ส่วนการที่นายโรเบิร์ตสตีเวน เฟรเซอร์ ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ไม่ยอมรับหนังสือแจ้งการประเมิน ก็ไม่อาจถือได้ว่าได้มีการส่งหนังสือดังกล่าวให้แก่โจทก์โดยชอบแล้วเช่นกัน จำเลยที่ 3 เองก็ได้บันทึกข้อความตามเอกสารหมายล.3 ว่า โจทก์ยังไม่ได้รับหนังสือ ถึงกับต้องมีการประกาศหนังสือพิมพ์ในเวลาต่อมา ตามเอกสารหมาย จ.17 แสดงชัดว่าเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เองก็ทราบดีว่า โจทก์ยังไม่ได้รับหนังสือแจ้งการประเมิน หาใช่เป็นเรื่องเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่าโจทก์ยังมิได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย จึงได้มีการประกาศหนังสือพิมพ์ซ้ำอีกดังจำเลยที่ 1อุทธรณ์ไม่ แต่เป็นเพราะเมื่อส่งหนังสือแจ้งการประเมินให้โจทก์ไม่ได้ เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ก็ชอบที่จะทำการส่งหนังสือตามวิธีการที่บัญญัติในประมวลรัษฎากร มาตรา 8 ได้หลายวิธีด้วยกันรวมทั้งให้เจ้าพนักงานสรรพากรไปส่งเองหรือวิธีปิดหมายก็ย่อมทำได้แต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 หาได้กระทำไม่ การที่จำเลยที่ 1 นำเอาวิธีประกาศหนังสือพิมพ์มาใช้ในระหว่างที่พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2529 มาตรา 30 ให้สิทธิโจทก์ที่จะใช้สิทธิในการเสียภาษีโดยยื่นแบบ อ.1 ได้ โจทก์จึงย่อมได้รับสิทธิตามบทกฎหมายดังกล่าว
ส่วนปัญหาที่ว่า สิทธิที่จะยื่นคำขอเสียภาษีตาาแบบ อ.1 โดยได้รับยกเว้นจากการเรียกตรวจสอบไต่สวน ประเมิน หรือสั่งให้เสียภาษีอากรนี้ รวมถึงภาษีเงินได้ที่โจทก์มีหน้าหัก ณ ที่จ่ายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 50 และมาตรา 52 ด้วยใช่หรือไม่นั้น แม้บทกฎหมายดังกล่าวจะใช้คำว่า ในกรณีมีผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรผู้ใดซึ่งยังไม่ได้เสียภาษีอากรหรือเสียไว้ไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ให้ยื่นคำขอเสียภาษีอากรตามแบบ อ.1 ได้ ดังจำเลยที่ 1อุทธรณ์ก็ตาม แต่ก็หาได้มีความหมายว่า ภาษีอากรที่ได้รับสิทธิตามมาตรา 30 นี้ จะต้องจำกัดเฉพาะผู้มีหน้าที่เสียภาษีโดยตรงดังจำเลยที่ 1 เข้าใจแต่เพียงประการเดียวเท่านั้นไม่ แต่รวมถึงโจทก์ซึ่งกฎหมายมาตราดังกล่าวกำหนดหน้าที่ให้โจทก์ต้องมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินได้ของพนักงานของโจทก์เอาไว้ มิฉะนั้นโจทก์เองจะต้องรับผิดร่วมกับพนักงานของโจทก์ผู้มีเงินได้ในการเสียภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนเงินภาษีที่มิได้หักและนำส่งตามประมวลรัษฎากรมาตรา 54 ซึ่งบทกฎหมายมาตรานี้ย่อมมีผลเท่ากับว่าโจทก์เองก็ต้องเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ดังกล่าวโดยตรงถ้าไม่ได้หักภาษี ณที่จ่ายไว้ กรณีเช่นนี้จึงไม่อาจเรียกได้ว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรตามที่มาตรา 30 ให้สิทธิไว้ โจทก์จึงได้รับสิทธิตามบทกฎหมายดังกล่าวทุกประการ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้เพราะโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และอ้างว่ามาตรา 30 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวไม่มีผลยกเว้นการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่าในปัญหานี้ ศาลภาษีอากรกลางได้วินิจฉัยตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 55/2530 ระหว่างนางเปลี่ยนรัชตะทรัพย์ โจทก์ กรมสรรพากรกับพวก จำเลย ว่า กรณีของโจทก์เป็นเรื่องเจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินโดยไม่มีอำนาจ เป็นการฝ่าฝืนพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2529มาตรา 30 โจทก์จึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องศาลได้โดยไม่ต้องอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก่อน ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง อุทธรณ์จำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้นทุกประการ”
พิพากษายืน

Share