แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทยทำสัญญาซื้อสินค้าจากโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลในต่างประเทศ ตามหนังสือสัญญาข้อ 11 มีข้อตกลงว่า เมื่อมีข้อพิพาทหรือข้อขัดแย้งเกิดขึ้นให้อนุญาโตตุลาการที่คู่สัญญาได้ร่วมกันแต่งตั้งเป็นผู้วินิจฉัยข้อพิพาทและข้อสัญญาข้อ 12 ความว่า โจทก์จำเลยตกลงกันให้ศาลยุติธรรมของประเทศอังกฤษมีอำนาจพิจารณา พิพากษา ดังนี้เมื่อเกิดข้อพิพาทและโจทก์จำเลยไม่เลือกใช้อนุญาโตตุลาการ และสัญญาข้อ 12 ไม่ได้ระบุโดยชัดแจ้งว่า ให้ศาลยุติธรรมของประเทศอังกฤษแต่เพียงศาลเดียวพิจารณา พิพากษาคดีนี้ได้ โจทก์ย่อมฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ศาลแพ่ง ซึ่งเป็นศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาในเขตศาลได้.
โจทก์เป็นพ่อค้าขายรถปั้นจั่นฟ้องเรียกค่าเสียหายกรณีจำเลยผิดสัญญาซื้อขายไม่ได้ฟ้องเรียกค่าที่ได้ส่งมอบรถ คดีโจทก์มีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 164 ไม่ใช่ 2ปี ตาม มาตรา 165(1).
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2520 จำเลยที่ 1ได้ทำสัญญาซื้อรถปั้นจั่นที่ใช้งานแล้ว 1 คัน ราคา 198,000เหรียญสหรัฐอเมริกาจากโจทก์ จำเลยผิดสัญญาไม่จัดหาสถานที่ บุคลากรและวัสดุให้โจทก์ตามสัญญาและไม่ยอมรับรถ จึงถือว่าสัญญาเลิกกันโจทก์ได้รับความเสียหาย คิดแล้วรวมเป็นเงิน 2,754,576.31 บาทขอให้จำเลยทั้งสองชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยได้ทำสัญญาตามฟ้องโจทก์จริง ตามสัญญาจะต้องเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณาก่อนและต้องฟ้องต่อศาลยุติธรรมในประเทศอังกฤษ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติตามสัญญาครบถ้วน โจทก์เป็นผู้มีหน้าที่จัดหาบุคลากร รถที่โจทก์ส่งมอบเป็นรถเก่าใช้การไม่ได้ จำเลยทั้งสองแจ้งให้โจทก์ซ่อม โจทก์ไม่ซ่อม จำเลยจึงไม่ยอมรับ โจทก์ไม่ได้เสียหาย หากเสียหายไม่เกิน 20,000 บาทฟ้องโจทก์ขาดอายุความ โจทก์ส่งมอบรถล่าช้า ทำให้จำเลยเสียหายต้องเช่ารถเครนมาเพื่อประกอบรถปั้นจั่นกับต้องเช่ารถปั้นจั่นมาทำงาน ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า รถปั้นจั่นที่โจทก์ส่งมอบแก่จำเลยใช้การได้ โจทก์ไม่ผิดสัญญา จำเลยไม่ได้เช่ารถมาประกอบรถปั้นจั่นตามฟ้องแย้ง และไม่ได้เช่ารถปั้นจั่นมาทำงาน โจทก์ไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยทั้งสอง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 800,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน1,000,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2520 โจทก์ได้ทำสัญญาขายรถปั้นจั่นใช้งานแล้ว 1 คัน ราคา 198,000เหรียญสหรัฐอเมริกา แก่จำเลยที่ 1 ปรากฏตามสัญญาเอกสารหมาย จ.2โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากจำเลยผิดสัญญาค่าปรับตามสัญญาข้อ 2(ค) พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันเลิกสัญญา ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 945,040.32 บาทค่าเสียหายที่โจทก์ได้ใช้จ่ายไป 13 รายการ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันเลิกสัญญาถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน2,754,576.31 บาท รวมเป็นค่าเสียหาย 3,699,616.63 บาทศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชดใช้เพียง 1,000,000 บาทขอให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายอีก 2,699,616.63 บาท และจำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้นำสืบให้ชัดแจ้งว่า โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคลโดยชอบด้วยกฎหมายที่ประเทศเบอร์มูดา โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และตามหนังสือสัญญาหมาย จ.2 ข้อ 11 มีข้อตกลงว่าเมื่อมีข้อพิพาทหรือข้อขัดแย้งเกิดขึ้นให้อนุญาโตตุลาการที่คู่สัญญาได้ร่วมกันแต่งตั้งเป็นผู้วินิจฉัยข้อพิพาท เมื่อโจทก์จำเลยไม่เลือกใช้ข้อตกลงข้อนี้ จึงต้องเป็นไปตามสัญญาข้อ 12 ที่โจทก์จำเลยตกลงกันให้ศาลยุติธรรมของประเทศอังกฤษมีอำนาจพิจารณาพิพากษา ศาลแพ่งไม่มีอำนาจพิจารณาคดี คดีโจทก์ขาดอายุความและโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยได้รับความเสียหาย ขอให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยจำนวน 136,719.75 บาท ตามฟ้องแย้งนั้น เห็นสมควรวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสองก่อน ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่าโจทก์มีนายชัย เสือวรรณศรี นายไพบูลย์ ลีนะวัตพยานโจทก์เบิกความว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดที่ประเทศเบอร์มูดาและตามหนังสือรับรองท้ายฟ้องนายวิลเลียม เอ็ม คอกซ์ โนตารีพับลิค เบอร์มูดา ได้รับรองว่านายเอียน ฮิลตัน และโดนัล เคนเนช เป็นผู้อำนวยการและเลขาธิการของบริษัท ซี คอนเทนเนอร์สแอตแลนติก จำกัด ฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของเกาะเบอร์มูดา โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้
จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์จะต้องฟ้องจำเลยต่อศาลยุติธรรมของประเทศอังกฤษเท่านั้น เห็นว่า ข้อตกลงตามสัญญาข้อ 12ไม่ได้ระบุโดยชัดแจ้งว่า เมื่อเกิดข้อพิพาทตามสัญญาและโจทก์จำเลยไม่เลือกใช้อนุญาโตตุลาการตามสัญญาข้อ 11 ให้ศาลยุติธรรมของประเทศอังกฤษแต่เพียงศาลเดียวพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ ดังนั้นเมื่อโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล ศาลแพ่งจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้
จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.2 โจทก์ได้ตกลงทำสัญญาขายรถปั้นจั่นที่ใช้งานแล้วแก่จำเลย และตามสัญญาข้อ 4 โจทก์ต้องนำรถมาประกอบในประเทศไทยโดยจำเลยผู้ซื้อเป็นผู้รับผิดชอบดูแลจัดเตรียมสถานที่ประกอบติดตั้งรถรวมถึงจัดอุปกรณ์บุคลากรที่จำเป็นเพื่อประกอบรถ เมื่อประกอบรถเสร็จแล้ว ได้มีการทดสอบการทำงานของรถเมื่อเดือนมีนาคม 2521 โดยนาย เจ.เอช.จูเลียสผู้ตรวจทดสอบของบริษัทลอยด์ส ริยิสเตอร์ ออฟ ชิปปิ้ง เป็นผู้รับรองการตรวจสอบตามเอกสารหมาย จ.6 จำเลยว่ารถใช้งานไม่ได้ อุปกรณ์บางชิ้น เช่น ยางชำรุด ท่อน้ำมันไฮดรอลิครั่วซึมไม่ยอมรับ โจทก์ได้จัดการเปลี่ยนให้ใหม่ มีนาย เจ.เอช.จูเลียสผู้ตรวจทดสอบของบริษัทลอยด์ส ริยิสเตอร์ ออฟ ชิปปิ้ง ตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง และออกหนังสือรับรองว่าได้เปลี่ยนยางล้อทั้ง 4 เส้นและซ่อมแซมการรั่วของไฮดรอลิคแล้ว ตามเอกสารหมาย จ.7 เมื่อจำเลยได้รับหนังสือเอกสารหมาย จ.7 แล้วก็ยังไม่ชำระราคาอ้างว่าปั้นจั่นไม่อยู่ในสภาพใช้การได้ดี โจทก์ได้จัดการเปลี่ยนอะไหล่หลายชิ้นให้ใหม่ และให้นาย เจ.เอช.จูเลียส ผู้ตรวจทดสอบของบริษัทลอยด์ส รียิสเตอร์ ออฟ ชิปปิ้ง และผู้อื่นอีกหลายคนได้ร่วมทำการตรวจสอบตามเอกสารหมาย จ.9 ซึ่งปรากฏรายงานว่าปั้นจั่นอยู่ในสภาพใช้งานได้ดีตามสภาพ แต่จำเลยกลับปฏิเสธไม่ยอมรับอ้างว่ารถใช้การไม่ได้ เชื่อว่ารถปั้นจั่นที่โจทก์ขายให้แก่จำเลยใช้งานได้ จำเลยไม่ยอมรับ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2522 ตามเอกสารหมาย จ.10จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยได้จัดหารถเครน บุคลากร และสถานที่ให้โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายไปรวมเป็นเงิน 136,719.75 บาท ขอให้โจทก์ชดใช้แก่จำเลยนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาและโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายใด ๆ จากโจทก์ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาตามฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์เป็นพ่อค้าได้ขายรถปั้นจั่นที่ใช้งานแล้วแก่จำเลย คดีของโจทก์ตกอยู่ในบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) มีอายุความ 2 ปีคดีโจทก์ขาดอายุความนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายกรณีจำเลยผิดสัญญาซื้อขาย ไม่ได้ฟ้องเรียกค่าที่ได้ส่งมอบรถคดีโจทก์มีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 ไม่ใช่ 2 ปี ตามมาตรา 165(1) คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสองผิดสัญญา จึงต้องชดใช้ค่าปรับตามสัญญาข้อ 2(ค) พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกสัญญาถึงวันฟ้องเป็นเงิน 945,040.32 บาท แก่โจทก์ นั้นเห็นว่า ตามสัญญาข้อ 2(ค) กำหนดเงื่อนไขในการชำระเงินหรือราคารถ โจทก์ผู้ขายมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากยอดเงินค่ารถที่ค้างชำระจากจำเลยผู้ซื้อนั้น ไม่ถือว่าเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดไว้ล่วงหน้ากรณีเลิกสัญญา เมื่อจำเลยผิดสัญญาและโจทก์ผู้ขายได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระราคาค่ารถ จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากราคารถตามสัญญา ข้อ 2(ค) จากจำเลย แต่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายที่ได้ใช้จ่ายไปเนื่องจากการปฏิบัติตามสัญญาและผลประโยชน์ที่โจทก์ควรจะได้จากการขายรถให้จำเลย
โจทก์ฎีกาอีกว่า จำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ได้ใช้จ่ายไปเนื่องจากการปฏิบัติตามสัญญาตามฟ้องข้อ 7 มี 13 รายการรวมเป็นเงิน 2,344,320.27 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกสัญญาถึงวันฟ้องจำนวน 410,256.04 บาท รวมเป็นเงิน 2,754,576.31 บาท นั้น โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ปฏิบัติการไปตามสัญญา ได้ใช้จ่ายเงินไปตามฟ้องข้อ 7.1 ถึงข้อ 7.13 รวมเป็นเงิน2,344,320.27 บาท ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า ที่โจทก์ได้ใช้จ่ายเงินไปเป็นการกระทำเพื่อกิจการค้าของโจทก์เอง และโจทก์ได้จัดการขายรถปั้นจั่นแก่บุคคลอื่นไปแล้ว จำเลยไม่ต้องรับผิด ไม่ได้ปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่า ค่าใช้จ่ายส่วนไหนไม่ถูกต้อง เกินความจริงแต่อย่างใด เมื่อจำเลยผิดสัญญาและโจทก์ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ได้ใช้จ่ายไปเนื่องจากโจทก์ได้ปฏิบัติตามสัญญา แต่ค่าจ้างวิศวกรมาประกอบรถตามฟ้องข้อ 7.1 รวมเป็นเงิน 1,151,549 บาท และค่าอะไหล่ อุปกรณ์ตามฟ้องข้อ 7.12 เมื่อโจทก์กลับยอมรับเอาผลงานที่วิศวกรประกอบรถปั้นจั่นและรับเอาอะไหล่ อุปกรณ์ที่นำมาประกอบรถทั้งหมดไว้และนำเอารถปั้นจั่นไปขายแก่บุคคลอื่น ถือว่าโจทก์ได้รับผลประโยชน์จากค่าใช้จ่ายดังกล่าวไว้เต็มจำนวนแล้ว จึงไม่มีสิทธิเรียกเอาจากจำเลย แต่นอกจากค่าอะไหล่ อุปกรณ์ที่กล่าวมา ยังมีค่าอากรขาเข้าและขาออก ทั้งค่าขนส่งและค่าแรง ซึ่งนับได้ว่าเป็นค่าเสียหายของโจทก์ที่จำเลยจะต้องชดใช้ให้แก่โจทก์ ดังนั้นค่าเสียหายข้อนี้ตามที่โจทก์ขอมาทั้งสิ้นรวม 652,455 บาท เมื่อหักส่วนที่จำเลยไม่ต้องรับผิดจำนวน 176,871.27 บาท รวมทั้งหักค่าใช้จ่ายในการนำรถปั้นจั่นส่งออกไปขายที่ประเทศฟิลิปปินส์ตามฟ้องข้อ 7.11จำนวน 15,900 บาท ซึ่งไม่ถือเป็นค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาออก จึงเหลือเป็นค่าเสียหายที่โจทก์มีสิทธิได้รับทั้งสิ้น 1,000,000 บาท จำเลยทั้งสองฎีกาและยื่นคำแก้ฎีกาว่า โจทก์นำรถไปขายให้ผู้อื่นได้กำไรมากกว่าส่งมอบแก่จำเลยถึง 2,000 เหรียญสหรัฐ โจทก์ไม่เสียหาย จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิด มิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่กำหนดให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ไม่ถูกต้องค่าเสียหายที่แท้จริงเท่าไร ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฎีกาโจทก์และจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน