คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2199/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

วัตถุประสงค์ของ รัฐวิสาหกิจซึ่งระบุไว้ในกฎหมายจัดตั้งนั้นเป็นเพียงการกำหนดประเภทของกิจการซึ่งรัฐวิสาหกิจจะดำเนินกิจการเท่านั้น งานของ รัฐวิสาหกิจมิได้จำกัดอยู่แต่ในเฉพาะขอบเขตที่ระบุเป็นวัตถุประสงค์ไว้ในกฎหมายจัดตั้ง แม้พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การฟอกหนัง พ.ศ. 2498 มิได้กำหนดให้องค์การฟอกหนังมีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการกีฬาไว้ก็ตาม แต่กรณีที่ผู้อำนวยการองค์การฟอกหนังมีนโยบายที่จะเชื่อมความสามัคคีระหว่างองค์การฟอกหนังกับรัฐวิสาหกิจอื่นโดยยอมรับการแข่งขันกีฬาเป็นสื่อสัมพันธ์การกีฬาย่อมเป็นงานอย่างหนึ่งขององค์การฟอกหนัง เมื่อผู้อำนวยการองค์การฟอกหนังได้แต่งตั้งให้ผู้ตายเป็นนักกีฬาตัวแทนขององค์การฟอกหนัง โดยให้มีสิทธิฝึกซ้อมวันเวลาใดก็ได้ในช่วงก่อนการแข่งขัน จึงเป็นกรณีที่ผู้ตายได้รับมอบหมายให้ทำงานให้แก่องค์การฟอกหนัง เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายในขณะฝึกซ้อมตามที่ได้รับอนุญาต และสาเหตุแห่งการตายเนื่องจากออกกำลังกายเกินควรต้องถือว่าผู้ตายถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างทายาทของผู้ตายย่อมมีสิทธิได้รับเงินทดแทน ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 54วรรคสามที่กำหนดการจ่ายค่าทดแทนต้องไม่ต่ำกว่าเดือนละหนึ่งพันบาทและไม่เกินกว่าเดือนละหกพันบาทนั้น มีสภาพใช้บังคับอย่างกฎหมายซึ่งศาลต้องรู้เอง แม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้ไว้ ศาลก็ไม่มีอำนาจพิพากษาให้นายจ้างรับผิดเกินกว่าบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายมนูศักดิ์ พรรณรักษ์ ซึ่งเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 1 เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 2และเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 3 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำขององค์การฟอกหนังซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงกลาโหมครั้งสุดท้ายทำงานในตำแหน่งรองหัวหน้าฝ่ายธุรการ ได้รับค่าจ้างเดือนละ 10,610 โรงงานเภสัชกรรมทหาร สังกัดกระทรวงกลาโหมได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาสามัคคีซอยตรีมิตร ครั้งที่ 3ระหว่างหน่วยงานภายในสังกัดกระทรวงกลาโหม และได้เชิญองค์การฟอกหนังเข้าร่วมการแข่งขันด้วย โดยกำหนดการแข่งขันในวันที่ 16 ธันวาคม 2530 และวันที่ 23 ธันวาคม 2530 องค์การฟอกหนังแต่งตั้งให้นายมนูศักดิ์ พรรณรักษ์ เป็นกรรมการกีฬาและเป็นนักกีฬาแบดมินตันเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2530 เวลา 16.50 นาฬิกานายมนูศักดิ์ พรรณรักษ์ กำลังฝึกซ้อมแบดมินตันอยู่เกิดมีอาการหน้ามืดเป็นลมและถึงแก่กรรม โจทก์ทั้งสามได้ยื่นคำขอรับเงินทดแทนต่อสำนักงานกองทุนเงินทดแทน แต่สำนักงานกองทุนเงินทดแทนได้มีคำวินิจฉัยว่านายมนูศักดิ์ พรรณรักษ์ มิได้ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน โจทก์จึงอุทธรณ์คำวินิจฉัยของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนได้มีมติยืนตามคำวินิจฉัยของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน ซึ่งโจทก์ไม่เห็นพ้องด้วย เพราะนายมนูศักดิ์ พรรณรักษ์ ได้ประสบอันตรายถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง โจทก์มีสิทธิได้รับค่าทำศพและค่าทดแทนตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยและมติของจำเลย และพิพากษาว่านายมนูศักดิ์ พรรณรักษ์ ประสบอันตรายถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง ให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนเดือนละ 6,366 บาทมีกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2530 เป็นเงิน 381,960 บาทกับค่าทำศพผู้ตายเป็นเงิน 10,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น391,960 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสาม จำเลยให้การว่า องค์การฟอกหนังมิได้มีวัตถุประสงค์ในการแข่งขันกีฬา การจัดการแข่งขันกีฬาในวันที่ 16 และวันที่ 23 ธันวาคม 2530 นั้น เป็นนโยบายที่ได้ให้มีการสามัคคีและเสริมสร้างพลานามัยของพนักงานเองโดยผู้ที่จะเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาจะต้องคำนึงถึงสุขภาพของตนเองเป็นหลักว่าสามารถจะเล่นกีฬาชนิดใดได้ และไม่เป็นการบั่นทอนสุขภาพของตนเองทั้งนี้เป็นไปโดยความสมัครใจ นายมนูศักดิ์ พรรณรักษ์ถึงแก่กรรมเนื่องจากมีโรคประจำตัวไม่ใช่เกิดจากการเล่นกีฬาการที่นายมนูศักดิ์ พรรณรักษ์ ถึงแก่กรรมมิใช่เป็นเรื่องลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย หรือเจ็บป่วยถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างหรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้าง เป็นเรื่องที่นายมนูศักดิ์ พรรณรักษ์ ไปฝึกซ้อมกีฬาแบดมินตันในวันนอกวันทำการเพื่อสุขภาพของตนเอง และมิใช่โดยคำสั่งขององค์การฟอกหนังนายจ้าง ทั้งนี้นายมนูศักดิ์ พรรณรักษ์กับพวก ได้จัดการฝึกซ้อมกันเองและการเล่นกีฬา มิใช่เป็นการทำงานขององค์การฟอกหนังนายจ้าง ในวันเกิดเหตุก็เป็นวันหยุดราชการนายมนูศักดิ์ พรรณรักษ์ จะไม่ไปซ้อมกีฬาแบดมินตันก็ไม่มีความผิดใด ๆ เกี่ยวกับการทำงาน สนามแบดมินตันที่ไปเล่นนั้นก็ไม่ใช่สนามขององค์การฟอกหนังที่จัดให้มีการฝึกซ้อมกัน ฉะนั้นทายาทของนายมนูศักดิ์ พรรณรักษ์ จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนขอให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสาม ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนเดือนละ6,366 บาท มีกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2530 กับจ่ายค่าทำศพผู้ตายเป็นเงิน 10,000 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสาม จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า การที่ผู้ตายถึงแก่ความตายนั้น เป็นกรณีที่ถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้งหรือไม่พิเคราะห์แล้วเห็นว่า วัตถุประสงค์ของรัฐวิสาหกิจซึ่งระบุไว้ในกฎหมายจัดตั้งนั้น เป็นเพียงการกำหนดประเภทของกิจการซึ่งรัฐวิสาหกิจจะดำเนินกิจการเท่านั้น งานของรัฐวิสาหกิจมิได้จำกัดอยู่แต่ในเฉพาะขอบเขตที่ระบุเป็นวัตถุประสงค์ไว้ในกฎหมายจัดตั้ง แม้พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การฟอกหนัง พ.ศ. 2498 มิได้กำหนดให้องค์การฟอกหนังมีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการกีฬาไว้ก็ตามแต่กรณีที่ผู้อำนวยการองค์การฟอกหนังมีนโยบายที่จะเชื่อมความสามัคคีระหว่างองค์การฟอกหนังกับรัฐวิสาหกิจอื่น โดยยอมรับการแข่งขันกีฬาเป็นสื่อสัมพันธ์แล้ว การกีฬาย่อมเป็นงานอย่างหนึ่งขององค์การฟอกหนัง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางว่า ผู้อำนวยการองค์การฟอกหนังได้แต่งตั้งให้ผู้ตายเป็นนักกีฬาตัวแทนขององค์การฯ โดยให้มีสิทธิฝึกซ้อมวันเวลาใดก็ได้ในช่วงตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2530 ถึงวันที่ 22 ธันวาคม2530 แล้ว จึงเป็นกรณีที่ผู้ตายได้รับมอบหมายให้ทำงานให้แก่องค์การฟอกหนัง เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายในขณะฝึกซ้อมตามที่ได้รับอนุญาต และสาเหตุแห่งการตาย เนื่องจากออกกำลังกายเกินควรแล้ว ต้องถือว่าผู้ตายถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทมีสิทธิได้รับเงินทดแทนอุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้อำนวยการองค์การฟอกหนังได้แต่งตั้งให้ผู้ตายเป็นนักกีฬาตัวแทนขององค์การฯ เป็นการฟังข้อเท็จจริงผิดจากพยานเอกสารนั้นเห็นว่า ปัญหาที่ผู้อำนวยการองค์การฟอกหนังได้แต่งตั้งให้ผู้ตายเป็นนักกีฬาตัวแทนขององค์การฯ หรือไม่เป็นข้อเท็จจริง จำเลยจะอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางอีกหาได้ไม่ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสามเดือนละ 6,366 บาทนั้น เป็นการไม่ชอบด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดการจ่ายค่าทดแทน (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2525 ข้อ 4 เห็นว่าประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 54(4)ที่แก้ไขแล้ว บัญญัติว่า เมื่อลูกจ้างประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทนเป็นรายเดือนร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือนมีกำหนดห้าปี แต่ต้องไม่น้อยกว่าค่าทดแทนรายเดือนต่ำสุด และไม่มากกว่าค่าทดแทนรายเดือนสูงสุดตามที่กระทรวงมหาดไทยจะได้กำหนด ซึ่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องกำหนดการจ่ายค่าทดแทนลงวันที่ 16 เมษายน 2515 แก้ไขโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดการจ่ายค่าทดแทน (ฉบับที่ 2)ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2525 ข้อ 4 ก็ได้บัญญัติว่า กรณีจะเป็นประการใดก็ตาม ค่าทดแทนตามข้อ 54 วรรคสาม แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ต้องไม่ต่ำกว่าเดือนละหนึ่งพันบาทและไม่เกินเดือนละหกพันบาท ซึ่งมีความหมายว่ากรณีที่ลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างนั้น นายจ้างต้องจ่ายค่าทดแทนร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน แต่ต้องไม่ต่ำกว่าเดือนละหนึ่งพันบาทและไม่เกินเดือนละหกพันบาท มีกำหนดห้าปี ประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวนี้มีสภาพใช้บังคับอย่างกฎหมายซึ่งศาลต้องรู้เอง แม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้ไว้ ศาลก็ไม่มีอำนาจพิพากษาให้นายจ้างรับผิดเกินกว่าบทบัญญัติของกฎหมาย การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสามเดือนละ 6,366 บาท เนื่องจากนายมนูศักดิ์ พรรณรักษ์ ผู้ตายได้รับค่าจ้างเดือนละ 10,610 บาทนั้น จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสามเดือนละ 6,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share