แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์เป็นบุตรของเจ้ามรดกซึ่งเกิดกับ ส. แต่ขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายโจทก์ยังไม่คลอด คงมีแต่ ม. มารดาของเจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ ม. จึงเป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629(2) หลังจาก ส. มารดาโจทก์คลอด โจทก์แล้วโจทก์โดย ส. ซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมได้ฟ้องจำเลยทั้งสี่ว่า ส. มารดาโจทก์กับ ม. มารดาเจ้ามรดก ซึ่งต่างเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ไม่มีอำนาจทำสัญญาแบ่งมรดกของเจ้ามรดก โจทก์จึงขอเรียกทรัพย์มรดกส่วนที่ ม.รับไปคืนจากจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นผู้รับโอน ดังนี้ เป็นการฟ้องเรียกทรัพย์มรดกคืนจากทายาท ต้องฟ้องภายในกำหนดอายุความ 1 ปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายหรือนับแต่เมื่อโจทก์ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกตาม ป.พ.พ.มาตรา 1754 เมื่อศาลมีคำสั่งว่าโจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2522 ขณะนั้นโจทก์มี ส.มารดาเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมถือได้ว่าโจทก์โดย ส. ได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดกตั้งแต่วันดังกล่าว โจทก์มาฟ้องเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2525 เกิน 1 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความจำเลยทั้งสี่เป็นผู้รับโอนทรัพย์มรดกจาก ม. ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมย่อมเป็นบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาทยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1755.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเลอศักดิ์เปรมสุริยา กับนางสุนีย์ เปรมสุริยา ตามคำสั่งศาลจังหวัดนครปฐมนายเลอศักดิ์ เปรมสุริยา ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2520 มีทายาทโดยธรรมซึ่งมีสิทธิรับมรดกเพียงผู้เดียวคือโจทก์ มีทรัพย์มรดกคือที่ดินโฉนดที่ 5051 ตำบลบางภาษี อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐมโดยผู้ตายถือกรรมสิทธิ์ร่วม 1 ใน 5 ส่วน มีห้องแถวปลูกอยู่ 88 ห้องที่ดินโฉนดที่ 15121 และ 15122 ตำบลบางภาษี อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ระหว่างที่โจทก์ยังไม่คลอดจากครรภ์มารดานั้น นางสุนีย์มารดาโจทก์ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับนางมึ้งมารดาของเจ้ามรดกเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2520 แบ่งมรดกรายนี้โดยนางสุนีย์ไม่ทราบว่ากำลังตั้งครรภ์โจทก์ ดังนั้น สัญญาประนีประนอมยอมความจึงเป็นโมฆะ เพราะไม่มีอำนาจกระทำได้ ต่อมามารดาโจทก์กับมารดาของเจ้ามรดกในฐานะผู้จัดการมรดกได้ร่วมจดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดที่ 5051 เฉพาะส่วนที่เป็นมรดกให้แก่จำเลยที่ 1 โดยไม่มีการชำระราคาเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาซื้อขายดังกล่าวเป็นโมฆะ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ทำการฉ้อฉลโอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่มีการชำระราคาเช่นกันและมิได้มีเจตนาที่จะโอนกันจริง แล้วจำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนขายให้แก่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่ 1 โดยไม่มีการชำระเงินกันจริงเพียงแต่มีเจตนาหลีกเลี่ยงมิให้โจทก์เรียกคืน สัญญาดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ ต่อมาจำเลยที่ 3 จดทะเบียนให้จำเลยที่ 4 เข้าถือกรรมสิทธิ์ร่วมนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 3 ที่ 4 จึงเป็นโมฆะด้วย การกระทำของจำเลยทั้งสี่ไม่สุจริต ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินโฉนดที่ 5051 ตำบลบางภาษี อำเภอบางเลนจังหวัดนครปฐม เฉพาะส่วนของนายเลอศักดิ์ เปรมสุริยา 1 ส่วน ใน 5ส่วน ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของคู่สัญญาในการจดทะเบียน หากไม่สามารถปฏิบัติได้ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้เงินจำนวน 3,000,000 บาท แก่โจทก์หากไม่ชำระให้นำที่ดินดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระแก่โจทก์ 1 ใน 5 ส่วนให้จำเลยทั้งสี่ชำระดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินจำนวน3,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะปฏิบัติตามคำพิพากษา
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่บุตรของนายเลอศักดิ์เปรมสุริยา คำสั่งศาลที่แสดงว่าโจทก์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเลอศักดิ์เกิดจากนางสุนีย์นำความเท็จมาร้องต่อศาลและเบิกความเท็จ นายเลอศักดิ์มีทายาทโดยธรรมเฉพาะนางมึ้งมารดาของนายเลอศักดิ์แต่เพียงผู้เดียว ทรัพย์มรดกมีเฉพาะที่ดินเท่านั้นสัญญาประนีประนอมยอมความทำด้วยความสมัครใจ จึงมีผลสมบูรณ์ไม่เป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ซื้อที่ดินดังกล่าวโดยชอบและเสียค่าตอบแทนโดยสุจริต โจทก์ไม่มีอำนาจเพิกถอน โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์มรดกคืนโดยบรรยายฟ้องว่า ผู้จัดการมรดกจำหน่ายโอนทรัพย์มรดกโดยมิชอบโจทก์โดยนางสุนีย์ผู้ใช้อำนาจปกครองได้ทราบเรื่องมาตั้งแต่ต้น แต่ไม่ฟ้องคดีเสียภายใน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์เกิดและถือเป็นวันรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก คดีจึงขาดอายุความ ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นบุตรของนายเลอศักดิ์ เปรมสุริยา และนางสุนีย์ เปรมสุริยาบุคคลทั้งสองมิได้จดทะเบียนสมรสกัน นายเลอศักดิ์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2520 นางสุนีย์มารดาคลอดโจทก์เมื่อวันที่ 20พฤษภาคม 2521 และศาลได้มีคำสั่งว่าโจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายเลอศักดิ์ เปรมสุริยา เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2522 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2525
พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่เห็นว่า ตามฟ้องของโจทก์บรรยายว่า เมื่อนายเลอศักดิ์ เจ้ามรดกถึงแก่กรรม นางมึ้ง แซ่อึ๊ง มารดาของเจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ นางมึ้งแซ่อึ๊ง จึงเป็นทายาทโดยธรรมของนายเลอศักดิ์เจ้ามรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 (2) และตามฟ้องของโจทก์อ้างว่า นางสุนีย์มารดาโจทก์กับนางมึ้ง แซ่อึ๊ง มารดาของเจ้ามรดกซึ่งต่างก็เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ไม่มีอำนาจทำสัญญาแบ่งมรดกของนายเลอศักดิ์ โจทก์จึงขอเรียกทรัพย์มรดกของนายเลอศักดิ์ส่วนหนึ่งที่นางมึ้ง แซ่อึ๊ง รับไปคืนจากจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นผู้รับโอน เป็นการฟ้องเรียกร้องทรัพย์มรดกของนายเลอศักดิ์เจ้ามรดกคืนจากทายาทต้องฟ้องภายในกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายหรือนับแต่เมื่อโจทก์ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายเลอศักดิ์เจ้ามรดกเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม2522 ในขณะนั้นโจทก์มีนางสุนีย์มารดาเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม ถือได้ว่าโจทก์โดยนางสุนีย์มารดารู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของนายเลอศักดิ์เจ้ามรดกตั้งแต่วันดังกล่าว โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่22 มิถุนายน 2525 เกิน 1 ปีแล้ว เช่นนี้ คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามบทกฎหมายดังกล่าวจำเลยทั้งสี่เป็นผู้ที่รับโอนทรัพย์มรดกมาจากนางมึ้งซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของนายเลอศักดิ์เจ้ามรดก ย่อมเป็นบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาทยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1755 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน