แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2521 มาตรา 89,102 และพระราชบัญญัติ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522มาตรา 77 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2529 มาตรา 6 แสดงว่าสมาชิกภาพของสภาผู้แทนราษฎรย่อมมีได้แต่โดยการเลือกตั้ง ดังนี้ แม้ตามคำร้องของผู้ร้องจะอ้างว่าผู้ได้รับเลือกตั้งได้รับเลือกตั้งโดยมิชอบอันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 ผู้ร้องคงมีสิทธิเพียงยื่นคำร้องคัดค้านเพื่อให้เลือกตั้งใหม่เท่านั้นไม่มีสิทธิร้องขอให้ศาลสั่งให้ผู้ร้องเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนบุคคลอื่นที่ถูกคัดค้านได้
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า การตรวจนับคะแนนในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นไปโดยไม่ชอบ ขอให้ศาลสั่งว่าประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษที่ว่า นายประโภชน์เป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งนั้นไม่ชอบให้ประกาศใหม่ว่าผู้ร้องเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้ง ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่าการตรวจนับและประกาศชอบแล้วขอให้ยกคำร้อง ศาลจังหวัดศรีสะเกษสั่งงดการไต่สวน ทำความเห็นและส่งสำนวนไปยังศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามคำขอท้ายคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษประกาศว่านายประโภชน์ สภาวสุ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตเลือกตั้งที่ 2 ของจังหวัดศรีสะเกษ เป็นการไม่ชอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษประกาศใหม่ว่า ผู้ร้องเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตเลือกตั้งที่ 2จังหวัดศรีสะเกษ เป็นอันดับที่ 3 นั้น ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิร้องขอเช่นนั้นได้เพราะตามคำร้องของผู้ร้องอ้างว่านายประโภชน์ผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นอันดับที่ 3 ได้รับเลือกตั้งโดยมิชอบอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 นั้น ผู้ร้องคงมีสิทธิเพียงยื่นคำร้องคัดค้านเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 มาตรา 78 เท่านั้น ผู้ร้องซึ่งได้รับคะแนนเลือกตั้งเป็นอันดับที่ 4 ไม่มีสิทธิร้องขอให้ผู้ร้องเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดศรีสะเกษแทนนายประโภชน์ผู้ที่ได้รับคะแนนเลือกตั้งเป็นอันดับที่ 3 แต่อย่างใด เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นเช่นนั้นได้ และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2521 มาตรา 89 และมาตรา 102 กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้ง และสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเริ่มแต่วันเลือกตั้ง และพระราชบัญญัติ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522มาตรา 77 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2529 มาตรา 6 บัญญัติไว้มีข้อความสำคัญว่าผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นผู้สมัครของพรรคการเมืองซึ่งได้คะแนนมากที่สุด ในกรณีที่เขตเลือกตั้งใดมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มากกว่าหนึ่งคนให้ผู้สมัครของพรรคการเมืองซึ่งได้คะแนนมากตามลำดับลงมาเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง เช่นนี้แสดงว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมมีได้แต่โดยการเลือกตั้งดังนี้แม้ผู้ร้องจะอ้างเหตุประการอื่นอีกว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ยังได้แก้ไขเอกสาร ส.ส.4(รายงานแสดงผลการนับคะแนน) และ ส.ส.5 (ประกาศผลการนับคะแนน)ที่ส่งไปจังหวัดให้ผิดไปจากความจริง โดยเอกสาร ส.ส.4 และส.ส.5 ที่ส่งไปนั้น มีจำนวนคะแนนและรายละเอียดไม่ตรงกับเอกสารส.ส.4 และ ส.ส.5 ที่มีอยู่ในหีบบัตรเลือกตั้ง ศาลก็ไม่อาจบังคับตามคำขอท้ายคำร้องของผู้ร้องได้แต่ประการใด ดังนั้น ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจร้องขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ผู้ร้องเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษในเขตเลือกตั้งที่ 2 เป็นลำดับที่ 3 ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2531 ไม่จำต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่า คำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง หรือไม่ ด้วยเหตุดังได้วินิจฉัยมาแล้วจึงไม่อาจรับคำร้องไว้พิจารณาได้”
มีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ