คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1344/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จ. ทำสัญญาขายที่ดินในโฉนดบางส่วนทางด้านติดถนนให้จำเลยตามสัญญาซื้อขายระบุว่า จำเลยสัญญาและรับรองจะเว้นที่ดินทางขวามือเป็นถนนกว้าง 3 เมตร ยาวจดที่ดินของจำเลยให้ จ. มีสิทธิเดินและใช้รถยนต์เข้าไปถึงที่ดินส่วนที่เหลือของ จ.ได้ตลอดไป ดังนี้ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นข้อสัญญาก่อตั้งภารจำยอมในทางพิพาท เมื่อจ. ตาย โจทก์ในฐานะทายาทผู้รับมรดกที่ดินส่วนที่เหลือของ จ.ย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาให้ไปจดทะเบียนทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นางจูทำสัญญาซื้อขายที่ดินบางส่วนในโฉนดที่ดินเลขที่ 15387 จำนวน 50 ตารางวา ซึ่งอยู่ทางด้านติดถนนให้แก่จำเลยสัญญาซื้อขายข้อ 4 ระบุว่า ผู้ซื้อได้สัญญาและรับรองที่จะเว้นที่ดินริมทางเข้าบ้านด้านถนนทางขวามือเป็นถนนกว้าง 3 เมตร ยาวจดที่ดินของผู้ซื้อเพื่อให้ผู้ขายมีสิทธิเดินและใช้รถยนต์เข้าไปถึงที่ดินส่วนที่เหลือของผู้ขายได้ตลอดไป แต่จำเลยได้ปลูกเรือนคร่อมทางเดินดังกล่าว ทั้งยังเปิดหน้าต่างให้หน้าต่างเข้าไปในช่องทางเดินและได้ทำประตูเหล็กเลื่อนบนทางด้านที่ติดกับถนนและใส่กุญแจในตอนกลางคืน ซึ่งยังมิได้ปฏิบัติตามสัญญาที่ทำไว้กับนางจูโจทก์ในฐานะทายาทผู้รับมรดกของนางจูและเป็นผู้รับมรดกที่ดินส่วนที่เหลือของนางจูจึงฟ้องคดีนี้ ขอให้บังคับจำเลยรื้อประตูเหล็ก รื้อเรือนที่คร่อมทาง เปลี่ยนแปลงบานหน้าต่างมิให้ล้ำเข้าไปในช่องทางเดินรื้อสิ่งกีดขวางให้มีช่องทางเดินกว้าง3 เมตร และจดทะเบียนภารจำยอมต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติ ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา จำเลยให้การว่าข้อตกลงตามสัญญามิใช่ข้อตกลงในลักษณะภารจำยอม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้ปฏิบัติในเรื่องภารจำยอม ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนภารจำยอม ส่วนที่โจทก์ขอให้รื้อประตูเหล็กเลื่อน รื้อห้องนอนและสิ่งกีดขวางให้ยก โจทก์จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยไปจดทะเบียนภารจำยอมเสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ตามที่คู่ความนำสืบรับกันว่า ทางพิพาทแต่เดิมเป็นกรรมสิทธิ์ของนางจูสุรสิทธิ์ มาก่อน นางจูเป็นผู้อนุญาตให้จำเลยซึ่งเป็นบุตรเขยปลูกสร้างบ้าน และต่อมาที่ดินส่วนดังกล่าวนางจูได้ทำสัญญาขายให้จำเลยบางส่วน มีสัญญาข้อ 4 ระบุว่าจำเลยจะต้องเว้นที่ดินด้านซอยอารีสัมพันธ์ 4 ด้านขวามือของบ้านกว้าง 3 เมตร ยาวจนสุดที่ดินที่จำเลยซื้อ เพื่อให้นางจูใช้สิทธิเดินกับใช้รถยนต์เข้าไปยังที่ดินด้านในอันเป็นที่ดินส่วนที่เหลือของนางจูได้ตลอดไป มีข้อที่จะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยจะต้องปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายที่ดินข้อ 4 ท้ายฟ้องกับคำขอท้ายฟ้องของโจทก์หรือไม่ได้ความจากโจทก์ว่า เมื่อจำเลยซื้อที่ดินจากนางจู สุรสิทธิ์แล้ว จำเลยได้สร้างบ้านคร่อมทางพิพาท เปิดบานหน้าต่างเข้ามาในทางพิพาท ปักเสาล้ำเข้ามาในทางพิพาท จนทางพิพาทมีความกว้างเหลือเพียง 2.85 เมตร ทำประตูเหล็กเลื่อนปิดเปิดและใช้ลวดผูกไว้ เป็นเหตุให้โจทก์เดินเข้าออกทางพิพาทไม่สะดวกและจำเลยไม่ยอมไปจดทะเบียนเป็นภารจำยอม เห็นว่า ห้องนอนที่จำเลยสร้างคร่อมทางพิพาทและนำรถยนต์เข้าไปจอด กับได้ทำประตูเหล็กเลื่อนปิดเปิดดังกล่าวนั้น นางสาวพิมพรรณ แพทย์หลักฟ้า พยานโจทก์ซึ่งเป็นน้องภรรยาโจทก์และเคยอยู่บ้านโจทก์เบิกความรับว่า สิ่งปลูกสร้างดังกล่าวได้มีอยู่ตั้งแต่นางจูมีชีวิตอยู่แล้ว พิเคราะห์กรณีที่จำเลยได้นางสุกัญญาบุตรเลี้ยงของนางจูเป็นภรรยาด้วยแล้ว นางจูคงหวังฝากผีฝากไข้ไว้กับจำเลยและนางสุกัญญาเพื่อดูแลตามข้อนำสืบของจำเลย นางจูจึงยินยอมให้จำเลยปลูกบ้านอยู่อาศัยขึ้นก่อน ต่อมาจึงได้ขายที่ดินส่วนนั้นให้แก่จำเลย และระบุไว้ในสัญญาซื้อขายข้อ 4 ตามเอกสารท้ายฟ้องให้จำเลยรับรองที่จะเว้นที่ดินริมทางเข้าบ้านด้านริมซอยอารีสัมพันธ์ 4 ทางขวามือของบ้านให้เป็นถนนกว้าง 3 เมตร ยาวจนสุดที่ดินที่จำเลยซื้อ เพื่อให้นางจูมีสิทธิเดินและใช้รถยนต์เข้าไปถึงที่ดินส่วนที่เหลือของนางจูได้ตลอดไป ครั้นเมื่อจำเลยซื้อที่ดินดังกล่าวจากนางจูมาแล้ว สภาพของสิ่งปลูกสร้างที่สร้างคร่อมและล้ำเข้าไปในทางพิพาทจนทางพิพาทเหลือความกว้างเพียง 2.85 เมตร ก็คงมีอยู่ในสภาพนั้นตั้งแต่นางจูมีชีวิตอยู่แล้ว แสดงว่านางจูยอมใช้ทางพิพาทในสภาพเช่นนั้น โดยไม่อิดเอื้อนตลอดมาเป็นเวลาหลายปีจนกระทั่งได้ถึงแก่กรรม และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1299 วรรคแรก ภารจำยอมอาจได้มาโดยทางนิติกรรมทางหนึ่งด้วย เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การรับฟังได้ว่าจำเลยได้ทำสัญญากับนางจูยอมเว้นทางพิพาทให้นางจูมีสิทธิเดินและใช้รถยนต์เข้าไปถึงที่ดินส่วนของนางจูได้ตลอดไป อันเป็นข้อสัญญาก่อตั้งภารจำยอมในทางพิพาทเช่นนี้ เมื่อโจทก์เป็นทายาทและเป็นผู้รับมรดกของนางจู โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาให้ไปจดทะเบียนทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำขอของโจทก์ข้อนี้ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยไปจดทะเบียนภารจำยอมตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share