คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1167/2532

แหล่งที่มา : ADMIN

ย่อสั้น

เมื่อความผิดฐานมีสุรากลั่นไว้ในครอบครอง ฐานมีสุราแช่ไว้ในครอบครองและฐานทำสุราแช่โดยไม่ได้รับอนุญาตต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22 ประกอบกับพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับในศาลจังหวัดพ.ศ. 2520 มาตรา 3 แม้ผู้พิพากษาที่ลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ก็ตาม จำเลยก็ไม่มีสิทธิฎีกาในข้อหาดังกล่าว แต่เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงได้ก็ตาม จำเลยก็ไม่มีสิทธิฎีกาในข้อหาดังกล่าว แต่เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยข้อหาความผิดฐานมีภาชนะเครื่องต้มกลั่นสำหรับทำสุราไว้ในครอบครองและฐานทำสุรากลั่นโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งจำเลยมีสิทธิฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้แล้วเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิด ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดฐานมีสุรากลั่นไว้ในครอบครอง ฐานมีสุราแช่ไว้ในครอบครอง และฐานทำสุราแช่โดยไม่ได้รับอนุญาตได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 185 เพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเกี่ยวพันกัน.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกได้ร่วมกันมีภาชนะเครื่องกลั่นสำหรับทำสุราไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยได้ทำสุรากลั่น ทำสุราแช่โดยไม่ได้รับอนุญาต และมีสุราดังกล่าวไว้ในครอบครอง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493มาตรา 5, 30, 32, 45 พระราชบัญญัติสุรา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2497มาตรา 4, 6 ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติสุราพ.ศ. 2493 มาตรา 5, 30, 32, 45 พระราชบัญญัติสุรา (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2497 มาตรา 4, 6 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 เรียงกระทงลงโทษ ฐานมีภาชนะเครื่องกลั่นสำหรับทำสุราไว้ในครอบครองจำคุก 1 เดือน ฐานมีสุรากลั่นไว้ในครอบครองปรับ 300 บาท ฐานมีสุราแช่ไว้ในครอบครอง ปรับ 300 บาท ฐานมีสุรากลั่นโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 เดือน ฐานทำสุราแช่โดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ200 บาท รวมจำคุก 2 เดือน และปรับ 800 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนของกลางริบ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘สำหรับความผิดฐานมีสุรากลั่นไว้ในครอบครอง ฐานมีสุราแช่ไว้ในครอบครองและฐานทำสุราแช่โดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ศาลชั้นต้นลงโทษปรับจำเลยแต่ละกระทงไม่เกินห้าร้อย จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ประกอบกับพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 จำเลยอุทธรณ์ว่าพยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังลงโทษจำเลยได้ เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง และจำเลยไม่มีสิทธิฎีกาในข้อหาดังกล่าวอีกแม้จะมีผู้พิพากษาที่ลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงก็ตาม คงมีปัญหาในชั้นนี้ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานมีภาชนะเครื่องกลั่นทำสุราไว้ในครอบครองและฐานทำสุรากลั่นโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่…… พิเคราะห์แล้ว คดีนี้โจทก์มีนายอุกฤษณ์ สันป่าแก้วสิบตำรวจเอกมนูญ วงษ์ประทานชัย และสิบตำรวจโทปรีชา ปรามหงษ์ เป็ฯประจักษ์พยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า หลังจากได้รับแจ้งจากสายลับว่าจำเลยกับภรรยาจะต้มสุราเถื่อนในคืนนั้นแล้ว พยานทั้งสามจึงวางแผนจับกุมจำเลย ต่อมาเวลาประมาณ 20 นาฬิกา พยานทั้งสามกับพวกซึ่งเป็นลูกจ้างโรงเหล้าอีก 4 คน ได้พากันขึ้นรถยนต์ไปเพื่อจับกุมจำเลยโดยไปจอดรถห่างบ้านจำเลยประมาณ500 เมตร แล้วเดินทางไปทางด้านหลังบ้านจำเลย ขณะเดินลัดป่าไปห่างจากสถานที่ที่สายลับแจ้งไว้ประมาณ 100 เมตร ก็เห็นแสงไฟจึงพากันเดินโอบล้อมบริเวณที่มีแสงไฟนั้น เมื่อเข้าไปถึงพยานทั้งสามแอบดูอยู่ที่กอกล้วย เห็นจำเลยซึ่งอยู่ห่างประมาณ 3 เมตรกำลังเอาฟืนใส่ในเตาซึ่งขุดลงไปในดิน บนเตาดังกล่าวมีถุงเหล็กตั้งอยู่กับมีหม้อดินบนหม้อดินมีกระทะเหล็กที่ใช้ทำความเย็นซึ่งเป็นการต้มสุราเถื่อน และเห็นนางเรียนภรรยาจำเลยช่วยจำเลยอยู่ด้วย พยานทั้งสามแอบซุ่มดูประมาณ 5 นาที เห็นนางเรียนจะออกไปตักน้ำข้างนอก เกรงว่าจะไปพบพวกของพยานจึงรีบเข้าไปจับกุมโดยนายอุกฤษณ์เข้าไปหานางเรียน แต่นางเรียนวิ่งหนีเข้าป่าไป นายอุกฤษณ์สะดุดก้อนหินล้มลงจึงตามจับไม่ได้ ส่วนสิบตำรวจเอกมนูญเข้าไปจับจำเลยแต่จำเลยสะบัดตัวหลุดไปได้และวิ่งหนีเข้าไปในบ้านของจำเลยซึ่งอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 200 เมตรสิบตำรวจเอกมนูญและสิบตำรวจโทปรีชาไม่กล้าตามเข้าไปในบ้านจำเลย หลังจากนั้นพยานทั้งสามกับพวกจึงนำภาชนะสำหรับต้มกลั่นสุรา สุรากลั่น และสุราแช่ของกลางส่งร้อยตำรวจตรีพลายแก้ว เล้งเฮงพนักงานสอบสวน ศาลฎีกาเห็นว่า แม้พยานโจทก์ทั้งสามจะเบิกความในทำนองเดียวกันก็ตาม แต่พยานหลักฐานของโจทก์ยังมีข้อน่าสงสัยหลายประการ คือ ได้ความจากสิบตำรวจเอกมนูญสิบตำรวจโทปรีชาว่าพยานทั้งสองรู้จักจำเลยมาก่อนเกิดเหตุ และทราบว่าจำเลยต้มสุราเถื่อนเป็นประจำ เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุก็พบจำเลยและนางเรียนกำลังต้มสุราเถื่อนอยู่โดยมีของกลางอันเป็นหลักฐานการกระทำผิดอยู่พร้อม และจำเลยกับนางเรียนก็ไม่รู้ตัว แต่พยานโจทก์ทั้งสามกลับซุ่มดูอยู่เป็นเวลาประมาณ 5 นาที จนกระทั่งนางเรียนกำลังจะออกไปตักน้ำจึงเข้าทำการจับกุม ไม่ปรากฏว่าเหตุใดจึงไม่เข้าทำการจับกุมในทันที ทั้งยังได้ความว่า พยานทั้งสามซุ่มดูอยู่ห่างจำเลยเพียงประมาณ 3 เมตร แต่ก็จับกุมจำเลยกับนางเรียนไม่ได้ดังนี้ พฤติการณ์ในการจับกุมจำเลยดังกล่าวจึงมีข้อชวนให้สงสัย นอกจากนี้ปรากฏในบันทึกคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษของนายอุกฤษณ์ เอกสารหมาย จ.3 ระบุว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 20.30นาฬิกา นายอุกฤษณ์กับพวกได้ร่วมกันตรวจจับกุมผู้ลักลอบกระทำผิดพระราชบัญญัติสุรา ฯ ในเขตท้องที่บ้างวังกวางและได้ได้รับแจ้งจากสายสืบว่าที่ใกล้บ้านนายเกียน นางเรียนไม่ทราบนามสกุล มีการลักลอบต้มสุรา เมื่อไปถึงพบชายหญิง 2 คนกำลังช่วยกันต้มสุราอยู่ จึงแสดงตนเป็นเจ้าหน้าที่ และเข้าทำการจับกุมแต่คนทั้งสองหลบหนีไปได้ เมื่อตรวจดูบริเวณที่เกิดเหตุก็พบของกลางในคดีนี้จึงยึดไว้เพื่อดำเนินคดี ดังนี้ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในบันทึกดังกล่าวจึงแตกต่างจากโจทก์ทั้งสาม เนื่องจากตามบันทึกนั้นได้ความเพียงว่ามีชายหญิง 2 คน ลักลอบต้มกลั่นสุราใกล้บ้านจำเลยเท่านั้น ไม่ได้ระบุว่าจำเลยกับนางเรียนภรรยาเป็นผู้ลักลอบทำสุรา ทั้งไม่มีการแอบซุ่มดุก่อนทำการจับกุมดังที่พยานโจทก์เบิกความแต่อย่างใดสำหรับการจับกุมจำเลยมาดำเนินคดีนั้น ได้ความจากร้อยตำรวจตรีพลายแก้ว เล้าเฮง พนักงานสอบสวนพยานโจทก์ว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 22 นาฬิกา นายอุกฤษณ์นำของกลางไปมอบให้และแจ้งความว่าจำเลยกับนางเรียนกระทำความผิดฐานต้มกลั่นสุราผิดกฎหมายและจำเลยยิงปืนพยายามฆ่าเจ้าพนักงานด้วย วันรุ่งขึ้นร้อยตำรวจตรีพลายแก้วได้ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุและทำบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุและแผนที่เกิดเหตุไว้ตามเอกสารหมายจ.6 และ จ.4 ตามลำดับซึ่งในเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวก็ระบุชื่อจำเลยเป็นคนร้ายไว้ด้วยแสดงว่าพนักงานสอบสวนทราบชื่อคนร้ายคดีนี้ตั้งแต่วันเกิดเหตุแล้ว ทั้งหมายจับจำเลยเอกสารหมาย จ.7 ระบุข้อหาความผิดของจำเลยว่าร่วมกันมีภาชนะเครื่องต้มกลั่นสุรา ทำและมีสุรากลั่นทำและมีสุราแช่ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตพยายามฆ่าและดูหมิ่นเจ้าพนักกานในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งนับว่าเป็นข้อหาอุกฉกรรจ์ แต่ปรากฏว่าหมายจับจำเลยออกเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2529 หลังเกิดเหตุคดีนี้ถึง 3 เดือน โดยได้ความจากร้อยตำรวจตรีพลายแก้วเพียงว่าเหตุที่มีการออกหมายจับล่าช้าเพราะรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับคดีนี้ช้าไปเป็นข้ออ้างที่ไม่สมเหตุผล นอกจากนี้ หลังจากออกหมายจับแล้วเป็นเวลา 1 เดือนเศษ จึงมีการจับกุมตัวจำเลยทั้งๆ ที่ได้ความจากสิบตำรวจเอกมนูญ และนายอุกฤษณ์ว่าหลังจากวันเกิดเหตุจำเลยก็ไปทำงานที่โรงพยาบาลอำเภอวังชิ้นตามปกติ ไม่ได้หลบหนีไปไหนศาลฎีกาเห็นว่าคำของพยานโจทก์ทั้งสามปากที่อ้างว่าเห็นจำเลยกับนางเรียนต้มกลั่นสุราเถื่อนในคืนเกิดเหตุนั้น เมื่อพิจารณาประกอบกับพยานหลักฐานอื่นๆของโจทก์ดังได้วินิจฉัยมาแล้วยังมีข้อน่าสงสัยตามสมควรจึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 วรรคสอง กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยพยานจำเลยอีกต่อไป และเมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ในคดีนี้ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิด ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดฐานมีสุรากลั่นไว้ในครอบครอง ฐานมีสุราแช่ไว้ในครอบครอง และฐานทำสุราแช่โดยไม่ได้รับอนุญาตได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา185 เพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น’
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ แต่ของกลางให้ริบ.

Share