แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การผิดสัญญาของผู้ประกันทำให้ศาลไม่สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้ประกันได้ดำเนินการเพื่อให้ได้ตัวจำเลยมาศาล เช่นนี้ไม่มีเหตุอันควรที่จะลดค่าปรับให้ อัตราโทษตามกฎหมายที่จำเลยถูกฟ้องและข้อสันนิษฐานที่ปราศจากพยานหลักฐาน ก็ไม่เป็นเหตุที่จะขอลดค่าปรับให้ผู้ประกันเช่นกัน.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 11, 12, 58, 62, 81ระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ประกันประกันตัวจำเลยไป โดยทำสัญญาประกันไว้ต่อศาลชั้นต้นว่า ถ้าผิดสัญญาผู้ประกันยอมให้ปรับ 100,000 บาท ปรากฏว่าผู้ประกันผิดสัญญาไม่ส่งตัวจำเลยต่อศาลตามนัด ศาลชั้นต้นออกหมายจับจำเลยและสั่งปรับผู้ประกันเป็นเงิน 100,000 บาทเต็มตามสัญญาประกัน
ผู้ประกันอุทธรณ์ขอให้ลดค่าปรับ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ประกันฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ประกันว่า สมควรลดค่าปรับหรือไม่เพียงใด พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ในวันนัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรกวันที่ 2 มิถุนายน2531 ผู้ประกันไม่สามารถนำตัวจำเลยมาศาลได้ ศาลอนุญาตให้เลื่อนการพิจารณาไปวันที่ 1 กรกฎาคม 2531 ถึงวันนัดผู้ประกันก็ไม่สามารถนำตัวจำเลยมาได้อีก การผิดสัญญาของผู้ประกันทำให้ศาลไม่สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้ประกันได้กระทำการใดๆ เพื่อให้ได้ตัวจำเลยมาศาล จึงไม่มีเหตุอันควรที่จะลดค่าปรับให้ ที่ผู้ประกันฎีกาว่า ความผิดที่โจทก์ฟ้องจำเลยมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งศาลอาจลงโทษจำคุกหรือปรับจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษนี้มาก เมื่อเปรียบเทียบกับค่าปรับผิดสัญญาประกันที่ศาลปรับนับว่าแตกต่างกันมากนั้นเห็นว่าเมื่อผู้ประกันผิดสัญญาต่อศาลทำให้ศาลไม่สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีได้ ดังนั้นอัตราโทษตามกฎหมายที่จำเลยถูกฟ้องจะเป็นอย่างไรจึงมิใช่เหตุที่จะขอลดค่าปรับ ส่วนที่ผู้ประกันฎีกาว่า จำเลยออกไปกับเรือประมงในทะเล จนบัดนี้ยังไม่ทราบว่าเป็นตายร้ายดี อาจถูกเขมรหรือญวนจับตัวไปก็ได้นั้น ผู้ประกันก็ยอมรับมาในฎีกาว่าเป็นข้อสันนิษฐานที่ปราศจากพยานหลักฐาน จึงไม่เป็นเหตุที่จะลดค่าปรับให้ผู้ประกันแต่อย่างใด’
พิพากษายืน.