แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยจ้างโจทก์ทำงานก่อสร้างหลายโครงการ ในการจ่ายค่าจ้างแต่ละครั้งไม่มีกำหนดเวลาแน่นอน และจำนวนเงินที่จ่ายให้ก็สุดแล้วแต่ฝ่ายจำเลย จนเมื่องานเสร็จตามโครงการก่อสร้างจึงปรากฏว่าจำเลยได้ค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์ตามจำนวนที่ฟ้องอายุความจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันสิ้นสุดการทำงานตามโครงการก่อสร้างนั้น เมื่อนับถึงวันฟ้องเป็นระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี จึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งหกเข้าทำงานกับจำเลย แต่จำเลยค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์ทั้งหก ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างที่ค้างจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งหกจำเลยทั้งหกสำนวนให้การด้วยวาจาว่า จำเลยไม่ได้เป็นนายจ้างของโจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ และคดีโจทก์ขาดอายุความ ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งหก จำเลยทั้งหกสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ต่อไปว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความนั้น พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงได้ความว่าในการจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทั้งหกในแต่ละครั้งนั้นไม่มีกำหนดเวลาแน่นอน และจำนวนเงินที่จ่ายให้ก็สุดแล้วแต่ทางฝ่ายจำเลย จนเมื่องานเสร็จตามโครงการก่อสร้างสำหรับโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 4ในวันที่ 7 มกราคม 2530 โจทก์ที่ 3 ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2530โจทก์ที่ 5 ในวันที่ 30 ธันวาคม 2529 และโจทก์ที่ 6 ในวันที่ 30เมษายน 2530 จึงปรากฏว่าจำเลยได้ค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์แต่ละสำนวนตามจำนวนเงินดังกล่าวในฟ้อง อายุความจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันสิ้นสุดการทำงานตามโครงการก่อสร้างของโจทก์แต่ละสำนวน เมื่อนับถึงวันฟ้องสำหรับโจทก์ที่ 1 ถึง โจทก์ที่ 4 วันที่ 4 พฤศจิกายน 2531โจทก์ที่ 5 และโจทก์ที่ 6 วันที่ 7 พฤศจิกายน 2531 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์จำเลยทั้งหกสำนวนฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน