คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 909/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างห้ามเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหรือหน้าที่ของลูกจ้าง นายจ้างย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจโยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งลูกจ้างเพื่อประโยชน์ในการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพอันเป็นอำนาจของนายจ้างโดยเฉพาะได้และไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างอันไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ดำรงตำแหน่งนักทดลองวิทยาศาสตร์ในสำนักแผนและโครงการ ต่อมาจำเลยประกาศใช้แผนภูมิสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2523 ทำให้โจทก์ถูกจัดเป็นพนักงานสายธุรการย้อนหลังกลับไปเป็นระดับ วท.5 ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างในทางที่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยปรับระดับตำแหน่งโจทก์ให้เป็นนักวิชาการระดับ 9 จำเลยให้การว่า การบรรจุลูกจ้างดำรงตำแหน่งใดเป็นอำนาจเฉพาะและเป็นสิทธิของนายจ้าง เมื่อประกาศใช้แผนภูมิดังกล่าวแล้ว จำเลยให้โจทก์ดำรงตำแหน่งเดิมมิได้เปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ตามคำฟ้องของโจทก์ปรากฏข้ออ้างแต่เพียงว่า จำเลยตกลงจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำโดยไม่มีข้ออ้างว่าเมื่อโจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยแล้วโจทก์จะต้องดำรงตำแหน่งและทำหน้าที่ใดโดยเฉพาะ โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหรือหน้าที่นั้นไม่ได้ เมื่อไม่มีข้อตกลงดังกล่าวซึ่งจะถือได้ว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างโจทก์จำเลยแล้ว เช่นนี้ แม้ในขณะที่โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยโดยจำเลยแต่งตั้งให้โจทก์ทำหน้าที่เป็นนักทดลองวิทยาศาสตร์หรือนักวิชาการก็ตาม จำเลยก็ย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจโยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งของโจทก์ได้ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพซึ่งเป็นอำนาจของจำเลยโดยเฉพาะ การกระทำของจำเลยจึงมิใช่เป็นเรื่องเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างอันไม่เป็นคุณแก่โจทก์ดังข้ออุทธรณ์ของโจทก์แต่อย่างใดที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share