คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 754/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ใบหูเป็นส่วนหนึ่งของใบหน้าที่ประกอบรูปหน้าให้งาม การที่ใบหูหลุดขาดแหว่งไปถึงหนึ่งในสาม ย่อมทำให้รูปหน้าเสียความงามอันเป็นการเสียโฉมอย่างติดตัว เป็นอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297 แล้ว ความผิดในข้อหาที่โจทก์ฟ้อง กฎหมายมิได้กำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้นเมื่อจำเลยรับสารภาพศาลก็มีอำนาจรับฟังข้อเท็จจริงตามฟ้องแล้วพิพากษาคดีได้โดยไม่ต้องสืบพยาน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยใช้ปากกัดหูของผู้เสียหายจนหลุดขาดแหว่งและดูหมิ่นผู้เสียหายซึ่งหน้า ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297, 393, 91 จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 จำคุก 3 ปี ตามมาตรา 393 จำคุก 1 เดือน รวมจำคุก 3 ปี 1 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 1 ปี 6 เดือน 15 วัน จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่าบาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับต้องใช้เวลารักษาเพียงประมาณ 14 วันกับใบหน้าของผู้เสียหายมิได้เสียโฉมติดตัวแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงคงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295หาเป็นความผิดตามมาตรา 297 ไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามฟ้องว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยได้ใช้ปากกัดหูซ้ายของนางวิรัตน์หรือวิรัช ภู่เล็กผู้เสียหายจนหลุดขาดแหว่งจากส่วนบนของใบหูไปจดติ่งหู ประมาณหนึ่งในสามของใบหูทั้งหมด ใบหูนั้นเป็นส่วนหนึ่งของใบหน้าที่ประกอบรูปหน้าให้งาม เมื่อใบหูขาดไปถึงหนึ่งในสามย่อมทำให้รูปหน้าเสียความงามอันเป็นการเสียโฉมอย่างติดตัว แม้ผู้เสียหายจะรักษาตัวไม่เกิน 14 วัน ผู้เสียหายก็ได้รับอันตรายสาหัสแล้ว ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์มิได้นำแพทย์ผู้ทำการชันสูตรบาดแผลมาสืบ กับมิได้นำผู้เสียหายมาให้ศาลดูนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ความผิดในข้อหาที่โจทก์ฟ้องกฎหมายมิได้กำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่5 ปีขึ้นไป หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจึงมีอำนาจที่จะรับฟังข้อเท็จจริงตามฟ้องแล้วพิพากษาโดยไม่สืบพยานได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา176 วรรคแรก โจทก์จึงหาจำต้องนำแพทย์มาสืบหรือนำผู้เสียหายมาให้ศาลดูอีกด้วยไม่ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ปรากฏว่าพฤติการณ์ของคดีนี้เป็นเรื่องจำเลยและผู้เสียหายต่างด่าทอกันแล้ววิวาททำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน โดยผู้เสียหายได้ใช้ปากกัดที่มือและนิ้วของจำเลยจนได้รับบาดเจ็บ ซึ่งศาลแขวงธนบุรีได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ปรับ 500 บาท และตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 393 ปรับ 100 บาท ดังนี้ โทษจำคุกจำเลยในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดจึงหนักไปศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดเสียใหม่ และเนื่องจากจำเลยเป็นสตรีมีบุตรที่กำลังศึกษาเล่าเรียนและอยู่ในความอุปการะของจำเลยถึง 3 คนทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยรับโทษจำคุกมาก่อน ประกอบกับผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาว่า ผู้เสียหายเป็นญาติกับจำเลยและไม่ติดใจเอาความกับจำเลยอีกต่อไป ทั้งความผิดตามมาตรา 393 จำเลยก็ต้องขังมาพอแก่โทษแล้ว จึงเห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกให้ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297(4) จำคุก 1 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์”

Share