คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4077/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เยาวชนอายุ 14 ปีเศษ กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288และถูกฟ้องเมื่ออายุ 17 ปีเศษ ดังนี้ คดีอยู่ในอำนาจของศาลคดีเด็กฯ ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 163 ข้อ 1 แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กฯมาตรา 8(1) ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กฯ มาตรา 24 จัตวานั้น ห้ามพนักงานอัยการฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 24 ทวิ ต่อศาลทุกศาล

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 91, 288, 371พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ขณะโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิด จำเลยมีอายุ 14 ปีเศษ อยู่ในอำนาจศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง พนักงานสอบสวนขอผัดฟ้องแล้วไม่ขอผัดฟ้องต่อ ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางมีคำสั่งปล่อยจำเลย โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลอาญาธนบุรีโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการ และกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 8(1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 163 ข้อ 1 ลงวันที่15 มิถุนายน 2515 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเกิดวันที่ 7 ตุลาคม 2512 และถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดคดีนี้เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2527 ขณะจำเลยมีอายุ 14 ปีเศษ ข้อเท็จจริงตามฟ้องของโจทก์ปรากฏว่า เจ้าพนักงานจับจำเลยได้เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2527 ระหว่างสอบสวนจำเลยถูกส่งตัวไปยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลางตั้งแต่วันจับกุมและพนักงานสอบสวนได้ขอผัดฟ้องจำเลยต่อศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางในคดีที่ ผ.990/2527 ครบกำหนดผัดฟ้องครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2527 แต่พนักงานสอบสวนไม่ได้ขอผัดฟ้องต่อไป ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางจึงปล่อยตัวจำเลยไป และการฟ้องคดีนี้โจทก์ไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการ
พิเคราะห์แล้ว โจทก์ฎีกาประการแรกว่า ขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้จำเลยมีอายุ 17 ปีเศษ ซึ่งเกินกว่าอายุ 16 ปีบริบูรณ์ไปแล้ว กรณีเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 8(1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 163 ลงวันที่15 มิถุนายน 2515 ต้องถืออายุของจำเลยในขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดี มิใช่ในขณะกระทำผิด จำเลยจึงไม่ได้รับความคุ้มครองให้พิจารณาพิพากษาในศาลคดีเด็กและเยาวชน โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลอาญาธนบุรีได้ ศาลฎีกาเห็นว่า ขณะโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยคดีนี้เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน2530 จำเลยอายุ 17 ปีเศษ ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางมีอำนาจพิจารณาคดีนี้ กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 8(1) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เนื่องจากจำเลยต้องหาว่ากระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดในขณะที่จำเลยมีอายุ 14 ปีเศษ หาใช่จำเลยกระทำเมื่อมีอายุเกินกว่า 16 ปีบริบูรณ์ดังที่กฎหมายบัญญัติยกเว้นไว้ไม่ และอายุของจำเลยที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญาต้องถืออายุของจำเลยในขณะกระทำผิด มิใช่ถืออายุของจำเลยในขณะถูกฟ้องคดีดังที่โจทก์ฎีกา
โจทก์ฎีกาประการสุดท้ายว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลอาญาธนบุรี โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการ ศาลฎีกาเห็นว่า การที่พนักงานสอบสวนขอผัดฟ้องจำเลยต่อศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางไว้ 2 ครั้ง เมื่อครบกำหนดแล้วไม่ขอผัดฟ้องอีกจนศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางมีคำสั่งปล่อยจำเลย จึงฟังได้ว่าเป็นการพ้นกำหนดระยะเวลาผัดฟ้องจำเลยตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 ทวิ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2506 มาตรา 8 ซึ่งมาตรา 24 จัตวาบัญญัติว่า “ห้ามมิให้พนักงานอัยการฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 ทวิ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการ” ข้อความในบทบัญญัติดังกล่าวที่ห้ามฟ้องคดีนั้นไม่ได้ระบุว่าห้ามฟ้องต่อศาลใด จึงต้องตีความโดยเคร่งครัดให้เป็นผลดีแก่จำเลยว่าคดีดังกล่าวห้ามฟ้องต่อศาลทุกศาล หากจะให้ฟ้องต่อศาลอื่นได้ในเมื่อจำเลยมีอายุพ้นกำหนดที่อยู่ในอำนาจศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางได้แล้วกฎหมายก็ต้องบัญญัติไว้ให้ชัดแจ้ง”
พิพากษายืน

Share