คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 353/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้เสียหายแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาฉ้อโกงเงิน 100,000 บาท เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลย จำเลยได้ยกเครื่องถ่ายเอกสารตีใช้หนี้ให้ผู้เสียหายเป็นเงิน 50,000 บาท ต่อมาจำเลยไม่ชำระเงินที่เหลือและผิดสัญญาประกันชั้นสอบสวน ผู้เสียหายจึงนำเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยมาพบพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนให้ผู้เสียหายกับจำเลยเจรจากัน จำเลยได้ชำระเงินให้ผู้เสียหายเป็นเงิน 9,000 บาท และเจ้าพนักงานตำรวจคุมตัวจำเลยไปพบ ช. เพื่อนของจำเลยโดยมีผู้เสียหายไปด้วย ช. ได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินจำนวน 40,000 บาท ให้แก่ผู้เสียหายแล้วเจ้าพนักงานตำรวจก็ปล่อยตัวจำเลยไปโดยผู้เสียหายไม่คัดค้านและไม่กลับไปแจ้งผลการเจรจาตกลงกับจำเลยให้พนักงานสอบสวนทราบ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าผู้เสียหายไม่ติดใจดำเนินคดีจำเลยในข้อหาฉ้อโกงตามที่แจ้งความไว้อีกต่อไป เป็นการยอมความกันในคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัว แม้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็มีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2).(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษในความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 และให้จำเลยคืนเงิน 100,000 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 ให้จำคุก 6 เดือน จำเลยได้บรรเทาผลร้ายโดยชำระหนี้คืนผู้เสียหายไปแล้วบางส่วนมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือน ให้จำเลยคืนเงินส่วนที่ขาดอยู่อีก 41,000 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยไม่มีเจตนาที่จะฉ้อโกงผู้เสียหายพิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ดังข้อนำสืบของจำเลยว่า เมื่อจำเลยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมครั้งแรกในเดือนเมษายน 2527 นั้น จำเลยได้ยกเครื่องถ่ายเอกสารตีใช้หนี้ให้ผู้เสียหายไป 50,000 บาท ต่อมาจำเลยไม่ชำระเงินส่วนที่เหลือผู้เสียหายจึงนำจ่าสิบตำรวจกวีไปจับกุมจำเลยมาพบร้อยตำรวจเอกสมศักดิ์พนักงานสอบสวน เมื่อร้อยตำรวจเอกสมศักดิ์ให้จำเลยกับผู้เสียหายเจรจากัน จำเลยได้ชำระเงินให้ผู้เสียหาย 9,000 บาท แล้วจ่าสิบตำรวจกวีคุมตัวจำเลยไปพบนายชาญรัตน์เพื่อนของจำเลยที่ซอยหมอเหล็ง โดยมีผู้เสียหายไปด้วย เมื่อนายชาญรัตน์สั่งจ่ายเช็คจำนวนเงิน 40,000 บาท ให้แก่ผู้เสียหายดังที่ผู้เสียหายเบิกความข้างต้นแล้วจ่าสิบตำรวจกวีก็ปล่อยตัวจำเลยไป ซึ่งความข้อนี้ร้อยตำรวจเอกสมศักดิ์ก็เบิกความรับรองว่า เมื่อผู้เสียหายกับจำเลยไปเจรจากันแล้วก็ไม่ได้กลับมาบอกพยานว่าตกลงกันอย่างไร ดังนั้นเมื่อผู้เสียหายได้รับเช็คจากนายชาญรัตน์เพื่อนของจำเลยแล้วจ่าสิบตำรวจกวีได้ปล่อยตัวจำเลยไปโดยผู้เสียหายไม่คัดค้านทั้งไม่กลับไปแจ้งผลการเจรจาตกลงกับจำเลยให้ร้อยตำรวจเอกสมศักดิ์ทราบ แสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายไม่ติดใจดำเนินคดีกับจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงตามที่แจ้งความไว้อีกต่อไป อันเป็นการยอมความกันในคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัว แม้จะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็มีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปและผูกพันพนักงานอัยการโจทก์ ที่โจทก์นำสืบว่า เช็คที่นายชาญรัตน์เป็นผู้สั่งจ่าย ผู้เสียหายรับเงินไม่ได้ เนื่องจากธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินนั้น ก็ไม่ปรากฏว่าเหตุดังกล่าวเป็นเงื่อนไขในการตกลงยอมความ โจทก์จึงไม่มีสิทธิรื้อฟื้นคดีซึ่งยุติไปแล้วมาฟ้องจำเลยอีกเพราะสิทธิการฟ้องคดีของโจทก์ได้ระงับไปแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่ไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.

Share