คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 199/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินชนิดให้ใช้เงินเมื่อทวงถาม มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 ผู้ออกตั๋วและจำเลยที่ 2 ผู้รับอาวัล ใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินแล้ว แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดชดใช้เงินได้ เพราะตั๋วสัญญาใช้เงินที่ให้ใช้เงินเมื่อทวงถาม ไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 944 และมาตรา 985 วรรคแรกที่ผู้ทรงจะต้องนำตั๋วยื่นเพื่อให้ใช้เงินภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่ลงในตั๋ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงิน 6 ฉบับ ที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อออกตั๋ว และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่ออาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับที่ 1 ถึงฉบับที่ 5 ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินตามตั๋วพร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่เคยทวงถามจำเลยทั้งสอง จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 27,965 บาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยในต้นเงิน 26,320 บาทพร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาว่าโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงินทั้ง 6 ฉบับ ได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 983 บัญญัติให้ตั๋วสัญญาใช้เงินต้องมีรายการวันถึงกำหนดใช้เงิน ถ้าไม่ระบุเวลาใช้เงินจึงให้ถือว่าพึงใช้เงินเมื่อได้เห็นตามมาตรา 984 วรรคสอง และตามมาตรา 985 วรรคแรก บัญญัติให้นำมาตรา 913 ในหมวด 2 ว่าด้วยตั๋วแลกเงินมาใช้บังคับในเรื่องตั๋วสัญญาใช้เงินเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ด้วย ซึ่งตามมาตรา 913 บัญญัติวันถึงกำหนดใช้เงินไว้ใน (3) ว่า “เมื่อทวงถามหรือเมื่อได้เห็น” ตั๋วสัญญาใช้เงินรายพิพาทนี้ระบุเวลาใช้เงินไว้เมื่อทวงถาม ข้อที่จะต้องพิจารณาจึงมีว่า คำว่า “เมื่อทวงถามหรือเมื่อได้เห็น” ตามมาตรา 913(3) นี้ มีความหมายอย่างเดียวกันตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า มาตรา 913(3) ได้ใช้คำว่า “หรือ” คั่นกลางระหว่างคำว่า “เมื่อทวงถาม” กับคำว่า “เมื่อได้เห็น” ซึ่งแสดงความหมายว่าวันถึงกำหนดใช้เงินเมื่อทวงถาม กับเมื่อได้เห็นนั้นแตกต่างกัน ความหมายที่ต่างกันนี้จะเห็นได้ชัดขึ้นต่อไปว่า ถ้าเป็นตั๋วแลกเงินชนิดให้ใช้เงินเมื่อได้เห็น ผู้ทรงต้องนำตั๋วยื่นเพื่อให้ใช้เงิน โดยต้องยื่นให้ใช้เงินภายในกำหนดเวลา ซึ่งบังคับไว้เพื่อการยื่นให้รับรองตั๋วเงินชนิดให้ใช้เงินในเวลาใดเวลาหนึ่งภายหลังได้เห็นนั้น ตามมาตรา 944 ซึ่งอนุโลมมาใช้แก่ตั๋วสัญญาใช้เงินได้เพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพของตราสารชนิดนี้ตามมาตรา 985 วรรคแรก และผู้ทรงตั๋วแลกเงินที่ให้ใช้เงินเมื่อได้เห็น ซึ่งต้องนำตั๋วยื่นเพื่อให้ใช้เงินภายในกำหนดเวลาตามมาตรา944 นั้น ก็คือกำหนดเวลายื่นตั๋วเพื่อให้รับรองภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่ลงในตั๋ว หรือภายในเวลาช้าเร็วกว่านั้นตามแต่ผู้สั่งจ่ายจะได้ระบุไว้ตามมาตรา 928 แต่จะเห็นได้ว่ามาตรา 938นี้มิให้นำมาใช้แก่ตั๋วสัญญาใช้เงินตามมาตรา 985 วรรคแรก จะนำมาตรา 928 วรรคสอง คือ ตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งให้ใช้เงินในเวลาใดเวลาหนึ่งภายหลังได้เห็น แสดงว่าผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินที่จะต้องนำตั๋วยื่นให้ผู้ออกตั๋วจดรับรู้เพื่อรับรองการจ่ายเงิน เฉพาะตั๋วสัญญาใช้เงินชนิดที่ให้ใช้เงินในเวลาใดเวลาหนึ่งภายหลังได้เห็นตามมาตรา 913(4) เท่านั้น และผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินชนิดให้ใช้เงินเมื่อได้เห็นตามมาตรา 913(3) ตอนท้าย เพียงแต่นำตั๋วยื่นต่อผู้ออกตั๋วเพื่อให้ใช้เงินเช่นเดียวกันตามมาตรา 944 แต่ผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินชนิดให้ใช้เงินเมื่อทวงถามตามมาตรา 913(3) ตอนต้นนั้น บทบัญญัติในหมวด 3 ว่าด้วยตั๋วสัญญาใช้เงิน ไม่มีบทบัญญัติบังคับไว้อย่างกรณีตั๋วสัญญาใช้เงินชนิดให้ใช้เงินเมื่อได้เห็นหรือเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้นับแต่ได้เห็นตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นเลย จึงต้องถือว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ให้ใช้เงินเมื่อทวงถามมีความหมายและผลบังคับต่างกับตั๋วสัญญาใช้เงินเมื่อได้เห็น ฉะนั้นเมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินรายพิพาทนี้ระบุเวลาใช้เงินไว้เมื่อทวงถามจึงไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 944 ประกอบด้วยมาตรา 985 วรรคแรกที่ผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินต้องนำตั๋วยื่นเพื่อให้ใช้เงินภายใน6 เดือนนับแต่วันที่ลงในตั๋วดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยทั้งบทบัญญัติในหมวด 3 ว่าด้วยตั๋วสัญญาใช้เงินก็ไม่มีบทบัญญัติบังคับใช้ให้ต้องทวงถามภายในระยะเวลาเท่าใด ผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินชนิดให้ใช้เงินเมื่อทวงถามจึงใช้สิทธิทวงถามให้ใช้เงินในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ โจทก์ได้บรรยายมาในคำฟ้องแล้วว่า โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินรายพิพาททั้ง 6 ฉบับดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นแต่เนื่องจากศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้พิจารณาพิพากษาในปัญหาตามที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ จึงเห็นสมควรให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาในปัญหาดังกล่าว
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาและพิพากษาใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมศาลฎีกาในชั้นนี้ ให้ศาลอุทธรณ์รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่”

Share