คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5851/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แม้การแบ่งแยกโฉนดจะทำให้ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของโจทก์ก็ตาม แต่จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามพินัยกรรมและได้ครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา การที่จำเลยสร้างรั้วในเขตที่ดินพิพาทจึงเป็นการสร้างในที่ดินของจำเลยเอง ไม่เป็นการสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้สร้างรั้วคอนกรีตเสริมสังกะสีรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ ขอให้บังคับให้จำเลยรื้อถอนรั้วดังกล่าวออกไปจากที่ดินของโจทก์และห้ามมิให้เกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์อีกต่อไป จำเลยให้การว่า โจทก์จำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกที่ตกได้แก่จำเลยตามพินัยกรรมซึ่งจำเลยได้ครอบครองตลอดมาและจำเลยได้สร้างรั้วคอนกรีตเสริมสังกะสีในที่ดินส่วนของจำเลยเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า หลวงเลขาวิจารณ์บิดาของโจทก์ จำเลยและนายเรืองศรี บุรณศิริ ได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่บุคคลทั้งสามโดยผู้ทำพินัยกรรมได้ทำแผนที่สังเขปสำหรับแบ่งแยกที่ดินตามพินัยกรรมแนบท้ายพินัยกรรมไว้ด้วย ปรากฏตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.6 และแผนที่สังเขปเอกสารหมาย ล.7 โดยพินัยกรรมระบุให้โจทก์เป็นผู้จัดการแบ่งแยกโฉนดเมื่อโจทก์ทำการแบ่งแยกแล้ว สำหรับที่ดินส่วนแบ่งของโจทก์เป็นโฉนดเลขที่ 1636 ตำบลจักรวรรดิ์ อำเภอสามเพ็ง กรุงเทพมหานครของจำเลยเป็นโฉนดเลขที่ 8645 ตำบล อำเภอ และจังหวัดเดียวกันปัญหาที่ขึ้นมาสู่ศาลฎีกาตามข้อฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยได้สร้างรั้วรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาได้ตรวจดูพินัยกรรมและแผนที่สังเขปสำหรับแบ่งแยกที่ดินตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.6 และ ล.7 แล้ว เห็นว่ามีข้อกำหนดให้แบ่งแยกที่ดินออกเป็น3 แปลงดังแผนที่สังเขปท้ายพินัยกรรม ที่ดินหมายเลข 1 ซึ่งอยู่ติดกับถนนทรงวาดให้แก่จำเลย หมายเลข 2 ซึ่งอยู่ติดถนนทรงวาดให้แก่นายเรืองศรี บุรณศิริ หมายเลข 3 ซึ่งอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาและมีทางออกถนนทรงวาดให้แก่โจทก์และปรากฏตามบันทึกในแผนที่สังเขปว่าเส้นเขตของที่ดินหมายเลข 1 และ 2 ล้อมกรอบด้วยเส้นสีดำเส้นเขตของที่ดินหมายเลข 3 ล้อมกรอบด้วยเส้นสีแดง ในแผนที่สังเขปได้เว้นที่ว่างไว้กว้าง 2 เมตร เป็นแนวทางทิศใต้ของที่ดินแปลงที่ 1และแปลงที่ 2 ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินแปลงที่ 3 และอยู่นอกเส้นเขตสีแดง ซึ่งเป็นเขตที่ดินของโจทก์ ที่ดินที่เว้นว่างไว้ดังกล่าวส่วนที่ติดกับที่ดินแปลงที่ 1 จึงตกเป็นของจำเลยตามพินัยกรรมที่ดินส่วนนี้มีความยาวตลอดแนวด้านหลังของตึกแถวที่บริษัทจิ๊บฮั่วฮง จำกัด เป็นผู้เช่าเท่านั้น มิได้ยาวตลอดไปถึงตึกแถวส่วนที่บริษัทฮั่วเซียงไถ่ จำกัดเป็นผู้เช่าด้วย จำเลยนำสืบว่าตึกแถวในที่ดินของจำเลยที่ให้บริษัทฮั่วเซียงไถ่ จำกัด เช่าต่อไปหลังจากเข้าครอบครองที่ดินตามพินัยกรรมแล้วคือ ตึกแถวเลขที่ 822 และ 824 ส่วนตึกแถวที่มีที่ดินเว้นว่างไว้ด้านหลังกว้าง 2 เมตร คือตึกแถวเลขที่ 826 และ 828 ซึ่งจำเลยให้บริษัทจิ๊บฮั่วฮง จำกัด เช่าต่อไปและทำรั้วกำแพงคอนกรีตกั้นรอบที่ดินของจำเลย รั้วที่จำเลยกั้นด้านหลังตึกแถวที่ให้บริษัทจิ๊บฮั่วฮงจำกัด เช่ามีความยาวเท่ากับตึกแถวทั้งสองห้องดังกล่าวสอดคล้องกับแผนที่สังเขปสำหรับแบ่งแยกที่ดินตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.7เมื่อพิเคราะห์แผนที่ดังกล่าวเปรียบเทียบกับแผนที่วิวาทเอกสารหมายจ.2 แล้ว เห็นว่า แนวเขตที่ดินส่วนของโจทก์ตามพินัยกรรมส่วนที่ติดกับที่ดินของจำเลยทางด้านทิศใต้ น่าจะเริ่มจากหมุดเขตที่ 03823ไปถึงหลักเหล็กที่ 1 (ล.ล.1) แล้วลงมาทางทิศใต้ถึงหลักเหล็กที่ 2(ล.ล.2) และหลักเหล็กที่ 3 (ล.ล.3) ตามลำดับ ซึ่งความยาวของแนวเขตที่ดินระหว่างหมุดเขตที่ 03823 ถึงหลักเหล็กที่ 1 จะเท่ากับความกว้างของตึกแถวในที่ดินของจำเลยจำนวน 2 ห้องที่บริษัทฮั่วเซียงไถ่ จำกัด เช่าพอดี แต่แนวเขตที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1636ของโจทก์ซึ่งแบ่งแยกในภายหลังตามแผนที่วิวาทเริ่มจากหมุดเขตที่03823 ผ่านหลักเหล็กที่ 1 (ล.ล.1) ไปจนถึงหลักเหล็กที่ 4 (ล.ล.4)ล้ำเข้ามาในส่วนที่เป็นของตึกแถวห้องที่สามทำให้ที่ดินส่วนที่ต้องเว้นว่างไว้ 2 เมตรด้านหลังตึกแถวที่จำเลยให้บริษัทจิ๊บฮั่วฮงจำกัด เช่ามีความยาวไม่ตลอดตึกแถวทั้งสองห้อง จึงเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าการแบ่งแยกโฉนดไม่ตรงตามแนวเขตที่ดินในแผนที่สังเขปสำหรับแบ่งแยกที่ดินตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.7 แนวเขตที่ดินตามโฉนดของโจทก์ล้ำเข้าไปในที่ดินส่วนของจำเลยเป็นเหตุให้ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของโจทก์ แต่อย่างไรก็ตาม จำเลยก็นำสืบว่าจำเลยได้ครอบครองที่ดินของจำเลยและที่ดินพิพาทมาตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2511 หลังจากฌาปนกิจศพหลวงเลขาวิจารณ์ได้1 เดือน โดยให้บริษัทจิ๊บฮั่วฮง จำกัด เช่าตึกแถวพร้อมที่ดินของจำเลย และต่อมาได้สร้างรั้วกำแพงคอนกรีตกั้นรอบบริเวณที่ดินพิพาทเมื่อโจทก์รื้อตึกแถว 9 ห้องในที่ดินของโจทก์เพื่อสร้างใหม่และให้ผู้อื่นเช่าที่ดินพิพาทใช้เป็นที่เก็บอุปกรณ์การขายกาแฟเป็นเวลา 10 ปีเศษมาแล้ว และได้เสริมสังกะสีต่อรั้วกำแพงให้สูงขึ้นเนื่องจากโจทก์ได้ถมที่ดินของโจทก์ให้สูงขึ้น ซึ่งโจทก์นำสืบรับว่าได้ปรับปรุงฐานพื้นดินใหม่ทั้งหมดภายหลังจากรื้อตึกแถว 9 ห้องในที่ดินของโจทก์ออกแล้วเพื่อสร้างตึกแถวขึ้นใหม่ ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2527 ที่ศาลออกไปเผชิญสืบก็ปรากฏว่าระดับพื้นที่ดินพิพาทตลอดแนวต่ำกว่าพื้นที่ดินนอกรั้วถึง72 เซนติเมตร แสดงว่า โจทก์มิได้เป็นฝ่ายครอบครองที่ดินพิพาทจึงมิได้ปรับปรุงพื้นฐานที่ดินพิพาทให้สูงเท่ากับที่ดินของโจทก์ด้วยยิ่งกว่านั้นยังได้ความจากคำเบิกความของนายบวรพยานโจทก์ที่ออกไปทำแผนที่วิวาทว่า สภาพรั้วคอนกรีตดังกล่าวเก่าใกล้เคียงกับตึกแถวของจำเลยทั้งสี่ห้องในที่ดินของจำเลย รูปคดีฟังได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามพินัยกรรมและได้ครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา แม้ที่ดินพิพาทจะอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของโจทก์ แต่เมื่อโจทก์มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวการที่จำเลยสร้างรั้วในเขตที่ดินพิพาทจึงเป็นการสร้างในที่ดินของจำเลยเอง ไม่เป็นการสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์”
พิพากษายืน

Share