คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5565/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติ ญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522มาตรา 78 บัญญัติเหตุอันจะพึงร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ไว้โดยเฉพาะว่าต้องมีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 26,32,34,51 หรือมาตรา 52 เท่านั้นตามคำร้องของผู้ร้องที่อ้างเหตุคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 2และผู้คัดค้านที่ 3 ผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยตนเองหรือตัวแทนของตนได้ให้อามิสสินจ้างแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อจูงใจให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 นั้น จึงเป็นข้อกล่าวหาว่ามีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งผู้ฝ่าฝืนมีความผิดต้องระวางโทษตามมาตรา 84 มิใช่เหตุที่จะร้องคัดค้านการเลือกตั้งเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามมาตรา 78 ส่วนที่อ้างเหตุคัดค้านว่าผู้คัดค้านที่ 3 ได้พิมพ์โฆษณารูปผู้ร้อง ชื่อพรรคซึ่งผู้ร้องสังกัดอยู่และชื่อผู้ร้องในแผ่นพิมพ์โฆษณา แต่บอกหมายเลขประจำตัวของผู้คัดค้านที่ 3 ไว้ ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดคิดว่าผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งตามหมายเลขดังกล่าวซึ่งไม่เป็นความจริงนั้นก็เป็นข้อกล่าวหาว่ามีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 67 ซึ่งผู้ฝ่าฝืนมีความผิดและต้องระวางโทษตามมาตรา 84 มิใช่เหตุที่จะร้องคัดค้านการเลือกตั้งเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ตามมาตรา 78 จึงเป็นคำร้องที่ไม่ชอบจะรับไว้พิจารณาพระราชบัญญัติ ญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522มาตรา 79 บัญญัติให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงเป็นคำฟ้องตามบทวิเคราะห์ศัพท์ในมาตรา 1(3) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งจะต้องชอบด้วยมาตรา 172 วรรคสอง แต่ผู้ร้องบรรยายมาในคำร้องว่า เจ้าหน้าที่กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งได้แกล้งทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งหล่นหายและขีดฆ่าชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งบางคนซึ่งมีตัวตนออกโดยพลการ มิได้บรรยายให้แจ้งชัดว่ากรรมการผู้ใดได้แกล้งทำบัญชีรายชื่อหล่นหายหรือขีดฆ่าชื่อผู้ใดซึ่งมีสิทธิเลือกตั้งออก พอที่จะให้เข้าใจได้ว่าเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งผู้ใดประจำหน่วยเลือกตั้งใดจงใจไม่ปฏิบัติการตามหน้าที่ หรือกระทำการอันใดเพื่อขัดขวางมิให้การเป็นไปตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 52จึงเป็นคำร้องเคลือบคลุม

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ดเขตเลือกตั้งที่ 3 เป็นไปโดยมิชอบ ทำให้ผู้ร้องไม่ได้รับเลือกตั้ง ขอให้เพิกถอนการเลือกตั้งและเลือกตั้งใหม่ผู้คัดค้านทั้งสามคัดค้านว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยชอบ และคำร้องไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะคัดค้านการเลือกตั้งได้กับคำร้องเคลือบคลุม
ศาลชั้นต้นงดการไต่สวนและทำความเห็นส่งสำนวนมายังศาลฎีกาว่า ควรให้ยกคำร้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เพื่อความสะดวกในการพิจารณาจึงให้เรียกผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด นายเยี่ยมพล พลเยี่ยมและนายนิรันดร์ นาเมืองรักษ์ ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ตามลำดับ
มีปัญหาที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยอ้างเหตุว่ามีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 มาตรา 35 และมาตรา 67 หรือไม่และคำร้องของผู้ร้องที่อ้างเหตุคัดค้านการเลือกตั้งว่า เป็นไปโดยมิชอบอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 มาตรา 52 นั้น เคลือบคลุมหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 มาตรา 78 บัญญัติเหตุอันจะพึงร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ไว้โดยเฉพาะว่าต้องมีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 26 มาตรา 32 มาตรา 34 มาตรา 51 หรือมาตรา 52 เท่านั้นตามคำร้องของผู้ร้องที่อ้างเหตุคัดค้านประการแรกว่านายเยี่ยมพล พลเยี่ยม ผู้คัดค้านที่ 2 และนายนิรันดร์นาเมืองรักษ์ ผู้คัดค้านที่ 3 ผู้สมัครรับเลือกตั้งหมายเลข 19และหมายเลข 1 ตามลำดับ โดยตัวเองหรือตัวแทนของตนได้ให้อามิสสินจ้างแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อจูงใจให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 นั้น จึงเป็นข้อกล่าวหาว่ามีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 ซึ่งผู้ฝ่าฝืนมีความผิดต้องระวางโทษตามมาตรา 84มิใช่เหตุที่จะร้องคัดค้านการเลือกตั้งเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามมาตรา 78 และกรณีที่ผู้ร้องอ้างเหตุคัดค้านประการที่สองว่า นายนิรันดร์ นาเมืองรักษ์ ผู้คัดค้านที่ 3ได้พิมพ์โฆษณารูปผู้ร้อง ชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งผู้ร้องสังกัดอยู่และชื่อผู้ร้องในแผ่นพิมพ์โฆษณา แต่บอกหมายเลขประจำตัวว่าเบอร์ 1 ซึ่งความจริงแล้วผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งหมายเลข 8 ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดคิดว่าผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งหมายเลข 1 นั้น ก็เป็นเพียงข้อกล่าวหาว่ามีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 ซึ่งผู้ฝ่าฝืนมีความผิดและต้องระวางโทษตามมาตรา 84 มิใช่เหตุที่จะร้องคัดค้านการเลือกตั้งเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามมาตรา 78 แต่อย่างใด สำหรับคำร้องของผู้ร้องที่อ้างเหตุคัดค้านประการสุดท้ายว่าเจ้าหน้าที่กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งบางหน่วย เช่นหน่วยเลือกตั้งที่วัดสระโบสถ์ในหมู่บ้านขวาว ตำบลขวาว อำเภอเสลภูมิ และหน่วยเลือกตั้งที่โรงเรียนสามัคคีเสลภูมิ บ้านคุ้มใต้ หมู่ที่ 6 ตำบลกลางอำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด แกล้งทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งหล่นหายและขีดฆ่าชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งบางคนซึ่งมีตัวตนอยู่ออกโดยพลการนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 มาตรา 79 บัญญัติให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมดังนั้น คำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงเป็นคำฟ้องตามบทวิเคราะห์ศัพท์ในมาตรา 1(3) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งจะต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตามมาตรา 172 วรรคสอง แต่ผู้ร้องได้บรรยายคำร้องในส่วนนี้ว่าเจ้าหน้าที่กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งได้แกล้งทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งหล่นหาย และขีดฆ่าชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งบางคนซึ่งมีตัวตนออกโดยพลการ เช่นนี้คำร้อง ของผู้ร้องจึงมิได้บรรยายให้แจ้งชัดว่า กรรมการผู้ใดได้แกล้งทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดหล่นหาย หรือขีดฆ่าชื่อผู้ใดซึ่งมีสิทธิเลือกตั้งออกทั้งที่มีตัวตนอยู่ พอที่จะให้เข้าใจได้ว่าเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งผู้ใดประจำหน่วยเลือกตั้งใดจงใจไม่ปฏิบัติการตามหน้าที่ หรือกระทำการอันใดเพื่อขัดขวางมิให้การเป็นไปตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2522 มาตรา 52 ดังนั้น คำร้องของผู้ร้องจึงเคลือบคลุมไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง
เมื่อคำร้องของผู้ร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด เขตเลือกตั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2531เป็นคำร้องที่อ้างเหตุอันมิใช่เหตุที่จะร้องคัดค้านการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522มาตรา 78 และเหตุที่ร้องคัดค้านการเลือกตั้งตามมาตรา 52 ก็เป็นคำร้องที่เคลือบคลุมไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสอง ตามที่วินิจฉัยมาแล้ว จึงไม่อาจรับคำร้องไว้พิจารณาได้”
มีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง

Share