แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ปัญหาที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลภาษีอากรกลางก่อนที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยหรือไม่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์ เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้พระราชบัญญัติ ญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 มาตรา 8 บัญญัติถึงการฟ้องคดีตามมาตรา 7(1) ต่อศาลภาษีอากรว่าจะต้องมีการวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เสียก่อนและบทกฎหมายมาตรานี้หาได้บังคับเฉพาะผู้ถูกประเมินแต่เพียงฝ่ายเดียวไม่ ดังนั้นเมื่อจำเลยได้ใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้ว และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังไม่ได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาด โจทก์จึงต้องห้ามมิให้นำคดีมาฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลางตามบทกฎหมายดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นายจรูญ วัฒนากร ขายที่ดินโดยมุ่งการค้าหรือหากำไร แต่ไม่นำเงินได้ดังกล่าวมารวมคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประจำปี 2523 ต้องเสียภาษีพร้อมเงินเพิ่ม แต่นายจรูญถึงแก่กรรมไปแล้ว จึงส่งแบบแจ้งการประเมินให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกและผู้รับมรดกรับผิดชำระภาษีดังกล่าวจำเลยต่อสู้เรื่องอำนาจฟ้องและให้การว่า นายจรูญมิได้ซื้อที่ดินมาโดยมุ่งการค้าหรือหากำไร ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความว่าขณะที่นายจรูญ วัฒนากร ยังมีชีวิตอยู่ นายจรูญมีที่ดินรวมหลายแปลงนายจรูญมีภริยาชื่อนางฉวี วัฒนากร ระหว่างนางฉวีมีชีวิต นายจรูญได้ตั้งบริษัท จ.ฉ.วัฒนา จำกัด โดยมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการซื้อขายเช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ขายฝากจำนองอสังหาริมทรัพย์รวมอยู่ด้วยนายจรูญซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 4936ตำบลคลองเตย อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร จากนางบุญชู คงจรูญ กับพวก เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2511 ในราคา2,406,000 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2523 นายจรูญได้ขายที่ดินดังกล่าวให้แก่บริษัทตึกคู่ฟ้า จำกัด ในราคา13,233,000 บาท และนายจรูญได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี พ.ศ. 2523 โดยไม่ได้นำเงินได้จากการขายที่ดินดังกล่าวมารวมคำนวณเสียภาษีเงินได้ แต่ได้ระบุข้อยกเว้นไว้เจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจสอบแล้ว มีความเห็นว่าเงินได้จากการขายที่ดินโฉนดที่ 4936 ของนายจรูญไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เจ้าพนักงานได้นำยอดเงินที่นายจรูญขายที่ดินได้มาคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินของนายจรูญเป็นเหตุให้นายจรูญต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นเป็นเงิน 6,678,207.04 บาท และต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของเงินภาษีเป็นเงิน 1,335,641.40 บาทรวมเงินภาษีและเงินเพิ่มทั้งสิ้นจำนวน 8,013,848.44 บาทเจ้าพนักงานประเมินได้ออกหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปยังผู้จัดการมรดกและทายาทของนายจรูญให้ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่ปรากฏว่าผู้จัดการมรดกหรือทายาทนายจรูญได้ชำระค่าภาษีอากรตามที่แจ้งประเมินไป ต่อมาวันที่ 25 กุมภาพันธ์2530 จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อกองอุทธรณ์กรมสรรพากร แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบผลการวินิจฉัยอุทธรณ์โจทก์เกรงคดีจะขาดอายุความจึงนำคดีมาฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันนำทรัพย์สินจากกองมรดกของนายจรูญมาชำระค่าภาษีอากรให้โจทก์ตามจำนวนที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินไป
คดีมีปัญหาในเบื้องแรกว่า โจทก์มีอำนาจนำคดีนี้มาฟ้องจำเลยทั้งสี่ต่อศาลภาษีอากรกลางในฐานะทายาทของนายจรูญให้ร่วมกันนำทรัพย์สินจากกองมรดกของนายจรูญมาชำระค่าภาษีอากรก่อนที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ซึ่งได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไว้หรือไม่ ปัญหานี้แม้ไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์ก็ตาม แต่ศาลฎีกาเห็นว่าปัญหาในเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน และศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยที่ 1 ที่ 2ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้วและได้ความว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังไม่ได้มีคำวินิจฉัยกรณีของโจทก์จึงต้องห้ามมิให้นำคดีมาฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลางตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 ซึ่งบัญญัติว่า “คดีตามมาตรา 7(1) ในกรณีที่กฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรบัญญัติให้คัดค้านหรืออุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยต่อเจ้าพนักงานหรือคณะกรรมการตามหลักเกณฑ์วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนดไว้จะฟ้องคดีในศาลภาษีอากรได้ก็ต่อเมื่อได้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการ และระยะเวลาเช่นว่านั้น และได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดคำคัดค้านหรือคำอุทธรณ์นั้นเสร็จสิ้นแล้ว” ดังนั้น ที่ศาลภาษีอากรกลางรับวินิจฉัยคดีของโจทก์โดยอ้างว่าประมวลรัษฎากรมิได้บัญญัติให้กรมสรรพากรโจทก์มีหน้าที่ต้องอุทธรณ์การประเมินก่อนฟ้องคดีต่อศาล โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องที่ศาลภาษีอากรกลางได้จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา เพราะบทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติถึงการฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรในกรณีนี้ว่า จะต้องได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เสียก่อน และบทกฎหมายมาตรานี้หาได้บังคับเฉพาะผู้ถูกประเมินแต่เพียงฝ่ายเดียวไม่กรมสรรพากรโจทก์ก็ตกอยู่ในบังคับของกฎหมายดังกล่าวด้วยเป็นดังนี้จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในปัญหาอื่นอีกต่อไป
พิพากษายืน