คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5515/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แม้ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาจะได้ความว่าเหตุตามฟ้องเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2525 และวันที่ 11 มีนาคม2525 แต่โจทก์กล่าวในฟ้องว่าเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2526และวันที่ 11 มีนาคม 2526 เป็นข้อแตกต่างเกี่ยวกับเวลาที่กระทำความผิดซึ่งเป็นเพียงรายละเอียดถือไม่ได้ว่าต่างกันในสาระสำคัญและเมื่อจำเลยไม่ได้หลงต่อสู้ จึงไม่ใช่เหตุที่ศาลจะพิพากษายกฟ้องโจทก์ จำเลยรับราชการในตำแหน่งเสมียนตราอำเภอ ได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่สมุห์บัญชีของสุขาภิบาลอีกตำแหน่งหนึ่ง จำเลยจึงเป็นพนักงานสุขาภิบาลอีกในฐานะหนึ่ง ดังนั้น ในการปฏิบัติหน้าที่สมุห์บัญชีสุขาภิบาล จำเลยจึงเป็นเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติสุขาภิบาล พ.ศ. 2495 มาตรา 22 เมื่อความผิดที่โจทก์ฟ้องเป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดิน มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว แม้สุขาภิบาลผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 วรรคแรก และโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานอัยการก็มีอำนาจฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้อง แม้จะเป็นปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยทุจริต เบียดบังเอาทรัพย์ของสุขาภิบาลศรีธาตุไปหลายครั้ง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91,147, 151 และ 157 จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 จำคุก 5 ปี มีเหตุบรรเทาโทษลดให้หนึ่งในสามจำคุก 3 ปี 4 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “แม้ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาจะได้ความว่า การกระทำที่โจทก์นำมาฟ้องข้อนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2525 และวันที่ 11 มีนาคม 2525 แต่โจทก์กล่าวในฟ้องว่าเกิดเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2525 และวันที่ 11 มีนาคม2526 ก็ตาม ก็ไม่ใช่เหตุที่ศาลจะพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับฟ้องข้อนี้ เพราะเป็นข้อแตกต่างเกี่ยวกับเวลาที่กระทำความผิดซึ่งเป็นเพียงรายละเอียดถือไม่ได้ว่าต่างกันในสาระสำคัญ และปรากฏแก่ศาลว่า จำเลยมิได้หลงต่อสู้ เนื่องจากจำเลยต่อสู้คดีว่า ลงบัญชีจ่ายเงินจำนวน 2 ครั้งเพราะผิดพลาดทางบัญชี จำเลยมิได้เอาเงินออกไปแต่อย่างใด ฎีกาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ฎีกาของจำเลยข้อ 2.3 มีใจความว่า คดีนี้ประธานกรรมการสุขาภิบาลศรีธาตุแต่ผู้เดียวมอบอำนาจให้นายอุทัย สุขสำราญ ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสุขาภิบาล เป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติสุขาภิบาล พ.ศ. 2495 มาตรา 19ที่บัญญัติว่าให้คณะกรรมการสุขาภิบาลควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารกิจการของสุขาภิบาล ประธานสุขาภิบาลศรีธาตุมิได้เป็นผู้เสียหายในคดีนี้ ทั้งมิได้เป็นผู้จัดการหรือผู้แทนสุขาภิบาลศรีธาตุซึ่งเป็นนิติบุคคล โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาเห็นว่าพระราชบัญญัติสุขาภิบาล พ.ศ. 2495 มาตรา 22 บัญญัติว่า พนักงานสุขาภิบาลมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามความหมายแห่งกฎหมายลักษณะอาญาจำเลยรับราชการในตำแหน่งเสมียนตราอำเภอศรีธาตุ ได้รับแต่งตั้งจากทางราชการให้ปฏิบัติงานในหน้าที่สมุห์บัญชีของสุขาภิบาลศรีธาตุจำเลยจึงเป็นพนักงานสุขาภิบาลของสุขาภิบาลศรีธาตุอีกฐานหนึ่งดังนั้นในการปฏิบัติหน้าที่สมุห์บัญชีสุขาภิบาลศรีธาตุ จำเลยจึงเป็นเจ้าพนักงาน และความผิดที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้กระทำมิใช่ความผิดต่อส่วนตัวหรือเป็นความผิดอันยอมความกันได้ แม้ผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนคดีนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 วรรคแรกดังนั้น ประธานสุขาภิบาลศรีธาตุผู้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยจะเป็นผู้จัดการหรือผู้แทนของสุขาภิบาลศรีธาตุซึ่งเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 5(3) หรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย เมื่อมีการสอบสวนในความผิดที่ฟ้องแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานอัยการก็มีอำนาจฟ้องคดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 ฎีกาข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
มีปัญหาต่อมาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องข้อ (ก) 7. หรือไม่ฟ้องข้อนี้โจทก์บรรยายว่าเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2526 (ที่ถูก 2525)จำเลยเบิกเงินค่าวัสดุเครื่องเขียนแบบพิมพ์ของสุขาภิบาลศรีธาตุเป็นเงิน 1,680 บาท แล้วลงบัญชีจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวในบัญชีเงินสดในวันนั้น ครั้นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2526 (ที่ถูก 2525)จำเลยได้นำเงินจำนวนดังกล่าวมาลงบัญชีเงินสดซ้ำอีกเพื่อให้มีรายจ่ายของสุขาภิบาลศรีธาตุสูงขึ้นอีก 1,680 บาท แล้วในวันที่11 มีนาคม 2526 (ที่ถูก 2525) นั้นเอง จำเลยเบียดบังเอาเงินของสุขาภิบาลศรีธาตุที่จ่ายสูงขึ้น 1,680 บาท ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริต เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามฟ้องข้อนี้ โจทก์มีนายพิทักษ์ บูรณากาญจน์ นักวิชาการตรวจเงินแผ่นดิน 5 และนายอำพัน อนันตศานต์ พนักงานตรวจเงินแผ่นดิน 2 สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 4 มาเบิกความว่าเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2526ถึงวันที่ 12 กันยายน 2526 นายพิทักษ์กับนายอำพันได้ร่วมกันตรวจสอบใบรับเงินและบัญชีต่าง ๆ ของสุขาภิบาลศรีธาตุ ปรากฏว่าเงินของสุขาภิบาลที่อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยผู้เป็นสมุห์บัญชีในแผนกการสุขาภิบาลศรีธาตุขาดบัญชีไป 6,000 กว่าบาท แยกรายละเอียดได้ 3 ประการ คือ 1. รับเงินผลประโยชน์แล้วไม่นำลงบัญชีหลายครั้งเป็นเงิน 4,000 กว่าบาท (โจทก์นำมาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย 8 กระทงตามฟ้องข้อ (ก) 1. ถึงข้อ (ก) 4. กับข้อ (ก) 6.และข้อ (ก) 8. ถึงข้อ (ก) 10.) 2. ลงบัญชีจ่ายเงินค่าซื้อวัสดุเครื่องเขียนแบบพิมพ์รายการเดียวเป็นเงิน 1,680 บาท ซ้ำกัน2 ครั้ง (โจทก์นำมาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย 1 กระทงตามฟ้องข้อ (ก) 7.)และ 3. ยกยอดเงินคงเหลือในบัญชีต่ำไป 9 บาท (โจทก์นำมาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย 1 กระทง ตามฟ้องข้อ (ก) 5.) แต่นายพิทักษ์และนายอำพันพยานโจทก์ทั้งสองก็มิได้เบิกความยืนยันว่าการลงบัญชีซ้ำกัน 2 ครั้ง ตามฟ้องข้อ (ก) 7. ดังกล่าว ทำให้จำเลยได้รับตัวเงินไปจริงหรือไม่ พยานหลักฐานโจทก์อย่างอื่นก็ไม่มีให้ปรากฏเช่นนั้น จำเลยนำสืบว่าได้ยืมเงิน 1,680 บาท ไปจากสุขาภิบาลศรีธาตุ เมื่อนำเงินไปซื้อวัสดุเครื่องเขียนแบบพิมพ์แล้วได้ลงจ่ายในบัญชีเงินสด ที่มีการลงซ้ำกันเพราะผิดพลาดทางบัญชีจำเลยมิได้เอาตัวเงินไปอีก นายธีระศักดิ์ เทสสิริ นายอำเภอศรีธาตุและประธานสุขาภิบาลศรีธาตุกับนายสมัย ปริมงคลปลัดอำเภอศรีธาตุและปลัดสุขาภิบาลศรีธาตุในช่วงระยะเวลาเกิดเหตุ พยานจำเลยเบิกความว่าตามประวัติจำเลยไม่เคยมีเรื่องส่อไปในทางทุจริต นายธีระศักดิ์เคยใช้ให้ไปรับเงินบริจาคจำเลยก็มิได้ยักยอก จำเลยเก่งทางด้านธุรการแต่ไม่มีความรู้ทางด้านบัญชี นายสมัยต้องคอยสอน ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยรับราชการในตำแหน่งสมุห์บัญชีอำเภอศรีธาตุและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมุห์บัญชีสุขาภิบาลศรีธาตุด้วย เฉพาะงานในหน้าที่สมุห์บัญชีสุขาภิบาลศรีธาตุจำเลยต้องรับผิดชอบในเรื่องการเงินและการบัญชีทั้งหมดซึ่งมีอยู่ 2 แผนก คือ แผนกการสุขาภิบาลศรีธาตุและแผนกการประปาสุขาภิบาลศรีธาตุซึ่งต้องรับและจ่ายเงินแทนทุกวันทำการ การทำบัญชีอาจเกิดการผิดพลาดได้ เงินตามฟ้องข้ออื่นทั้งหมดข้อเท็จจริงก็ฟังเป็นยุติแล้วว่าจำเลยมิได้ยักยอกหรือเบียดบังเอาไป เงินตามฟ้องข้อ (ก) 7. มีจำนวนเพียงครั้งเดียวและเป็นจำนวน 1,680 บาทเท่านั้น หากจำเลยมีเจตนาทุจริตคิดยักยอกในลักษณะเช่นนี้ จำเลยก็น่าจะกระทำได้หลายครั้งและมีจำนวนเงินมากกว่าตามที่โจทก์กล่าวหา การที่มีการลงบัญชีซ้ำกัน 2 ครั้งห่างกัน 9 วัน จึงอาจเกิดจากความผิดพลาดของผู้ทำบัญชีโดยจำเลยมิได้เอาเงินไปก็ได้ ศาลฎีกาได้ใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงของโจทก์และของจำเลยแล้ว เห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องข้อ (ก) 7. เช่นกันปัญหานี้แม้จะเป็นปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกา แต่ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้ได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับฟ้องข้อ (ก) 7เสียด้วย

Share