แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 3 เตรียมเงินจำนวน 850,000 บาท เพื่อนำมาซื้อยาเสพติดตามที่จำเลยที่ 1 ติดต่อกับผู้ขาย แต่จำเลยที่ 1 สามารถนำยาเสพติดของกลางมามอบให้จำเลยที่ 2 ได้ในปริมาณราคาเพียง600,000 บาทเท่านั้น เงินที่จำเลยที่ 3 เตรียมมาดังกล่าวจึงยังคงเหลืออีก 250,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเดียวกันกับเงินที่ได้เตรียมมาซื้อยาเสพติดในตอนแรกนั่นเอง จึงถือได้ว่าเป็นทรัพย์ที่มีไว้เพื่อใช้ในการกระทำผิด ศาลมีอำนาจสั่งริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันมีเฮโรอีน จำนวน 3,385กิโลกรัมเพื่อจำหน่าย เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมเฮโรอีนดังกล่าวและเงินสด 250,000 บาท ซึ่งเป็นเงินส่วนหนึ่งที่จำเลยใช้ซื้อเฮโรอีนของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดฯ และริบของกลางจำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติด ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง จำคุกตลอดชีวิต ริบเฮโรอีนของกลาง แต่ไม่ริบเงินสด 250,000 บาทโจทก์ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์และจำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาที่เกี่ยวกับเงินของกลางว่า “มีปัญหาว่าเงินของกลางจำนวน 250,000 บาทนั้น พอถือได้หรือไม่ว่าเป็นทรัพย์ที่มีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด ซึ่งศาลมีอำนาจที่จะสั่งริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1) สำหรับปัญหานี้ ข้อเท็จจริงเป็นอันฟังยุติว่า จำเลยที่ 3 ได้เตรียมเงินมาทั้งสิ้นจำนวน850,000 บาท เพื่อนำมาซื้อยาเสพติดตามที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ติดต่อกับผู้ขาย แต่จำเลยที่ 1 สามารถนำยาเสพติดของกลางมามอบให้จำเลยที่ 2 ได้ในปริมาณราคาเพียง 600,000 บาทเท่านั้น เงินที่จำเลยที่ 3เตรียมมาดังกล่าวจึงยังคงเหลืออีก 250,000 บาท ซึ่งก็เป็นจำนวนเดียวกันกับเงินที่ได้เตรียมมาซื้อยาเสพติดในตอนแรกนั่นเองจึงถือได้ว่าเป็นทรัพย์ที่มีไว้เพื่อใช้ในการกระทำผิด กรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1) ซึ่งบัญญัติให้อำนาจศาลที่จะสั่งริบเสียได้ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่ริบเงินของกลางดังกล่าวศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบเงินของกลางจำนวน 250,000 บาทเสียด้วย