คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5046/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเป็นกฎหมายที่กำหนดขึ้นเพื่อความเป็นธรรมแก่ลูกจ้างและเพื่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ไม่ว่านายจ้างกับลูกจ้างยังมีความผูกพันเป็นนายจ้างลูกจ้างกันอยู่หรือไม่ก็ตาม นายจ้างลูกจ้างจะทำข้อตกลงหรือสัญญาใด ๆ ซึ่งมีผลทำให้ลูกจ้างได้รับค่าจ้างต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้หาได้ไม่ ดังนั้น สัญญาที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างทำกับจำเลยนายจ้างสละสิทธิหรือไม่ติดใจเรียกร้องเงินใด ๆ จากจำเลยซึ่งหมายถึงค่าจ้างเพิ่มที่โจทก์จะพึงเรียกได้ตามกฎหมาย ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนต่อประกาศดังกล่าว ไม่มีผลใช้บังคับ สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 582 ไม่ใช่เป็นเงินที่กฎหมายบังคับให้นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างหรือเป็นกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ลูกจ้างจึงมีอำนาจที่จะสละสิทธิเรียกร้องได้ โจทก์จะได้รับค่าจ้างเพิ่มให้เท่ากับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นจำนวนเท่าใด คู่ความยังโต้เถียงกันในเรื่องค่าจ้างของโจทก์แต่ละคนและโจทก์บางคนมีสิทธิได้รับหรือไม่อยู่ ศาลฎีกาย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในประเด็นนี้ต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ต่ำกว่ากฎหมาย และต่อมาเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมและไม่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างที่ขาดพร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี และเงินเพิ่มกับค่าเสียหายและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยให้การว่า โจทก์ยินยอมไม่เรียกร้องสิ่งใดจากจำเลย นอกเหนือจากเงินสะสมและค่าชดเชยที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์แล้ว ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1จ่ายค่าจ้างเพิ่มแก่โจทก์ที่ 18 เท่ากับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี คำขออื่นให้ยก โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลแรงงานกลางสั่งรับอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของโรงพยาบาลแวนแซนด์วูดซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดลำปาง โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 โดยประจำทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลดังกล่าว โจทก์ทุกคนเว้นแต่โจทก์ที่ 28 ได้รับค่าจ้างจากจำเลยที่ 1 ในอัตราค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของกฎหมาย ต่อมาวันที่ 26 พฤษภาคม 2529 จำเลยที่ 1 ปิดกิจการโรงพยาบาลและเลิกจ้างโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์นั้นจำเลยที่ 1 ได้จ่ายค่าชดเชยและเงินช่วยค่าใช้จ่ายให้แก่โจทก์ที่ 1ไปแล้ว ตามเอกสารหมาย จ.10, จ.11 โดยโจทก์ที่ 1 บันทึกข้อความไว้ในเอกสารหมาย จ.10 ว่า “ข้าพเจ้าขอสละสิทธิในการเรียกร้องเงินหรือสิ่งของอื่นใดที่ข้าพเจ้ามีสิทธิทั้งตามกฎหมายแรงงานและกฎหมายอื่นจากโรงพยาบาลแวนแซนด์วูด หรือมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรอีกไม่ว่ากรณีใด ๆ และจำเลยที่ 1 ได้จ่ายค่าชดเชยและเงินสะสมให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึง 28 (เว้นแต่โจทก์ที่ 18) ไปแล้วตามเอกสารหมาย ล.5 โดยโจทก์ดังกล่าวได้บันทึกข้อความไว้ในเอกสารหมาย ล.5 ว่า “ไม่ติดใจที่จะเรียกร้องเงินใด ๆ กับโรงพยาบาลแวนแซนด์วูดอีกต่อไป” ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในเรื่องค่าจ้างซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องจ่ายเพิ่มให้แก่โจทก์ที่ 1ถึงโจทก์ที่ 27 (เว้นแต่โจทก์ที่ 9 และที่ 18) ให้เท่ากับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของกฎหมาย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าว่าการที่โจทก์ทำบันทึกข้อตกลงสละสิทธิเรียกร้องเงินประเภทดังกล่าวไว้ในเอกสารหมาย จ.10, จ.11 และ ล.5 นั้น บันทึกข้อตกลงมีผลใช้บังคับหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยออกประกาศโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 2(4) และข้อ 14แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2515นั้น คณะกรรมการค่าจ้างกำหนดขึ้นโดยพิจารณาถึงการครองชีพมาตรฐานการครองชีพ และข้อเท็จจริงอื่น ๆ ซึ่งลูกจ้างในแต่ละท้องถิ่นจะสามารถดำรงชีพอยู่ได้ จึงเป็นกฎหมายที่กำหนดขึ้นเพื่อความเป็นธรรมแก่ลูกจ้างและเพื่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ฉะนั้น ไม่ว่าในระหว่างที่นายจ้างกับลูกจ้างยังมีความผูกพันเป็นนายจ้างลูกจ้างกันอยู่ หรือสิ้นความผูกพันกันแล้วก็ตาม นายจ้างลูกจ้างจะทำข้อตกลงหรือสัญญาใด ๆ ซึ่งมีผลทำให้ลูกจ้างได้รับค่าจ้างต่ำกว่าหรือน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้หาได้ไม่ การที่โจทก์ที่ 1 ทำสัญญากับจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.10, จ.11 และโจทก์ที่ 2 ถึง 28(เว้นแต่โจทก์ที่ 18) ทำสัญญาไว้กับจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย ล.5ว่าโจทก์สละสิทธิหรือไม่ติดใจเรียกร้องเงินใด ๆ จากจำเลยที่ 1 อีกซึ่งหมายความรวมถึงค่าจ้างเพิ่ม ซึ่งโจทก์จะพึงเรียกได้ตามกฎหมายนั้น จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่มีผลใช้บังคับ จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มในช่วง2 ปีที่ยังไม่ขาดอายุความตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 27 (เว้นแต่โจทก์ที่ 9 และโจทก์ที่ 18)ส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 582 นั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องที่กฎหมายบังคับให้นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างหรือเป็นกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ลูกจ้างจึงมีอำนาจที่จะสละสิทธิเรียกร้องได้ เมื่อโจทก์ได้ทำเอกสารสละสิทธิเรียกร้องดังกล่าวแล้วจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วนสำหรับค่าจ้างเพิ่มให้เท่ากับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของโจทก์ แต่ละคนเป็นจำนวนใดนั้น คู่ความยังโต้เถียงกันในเรื่องค่าจ้างของโจทก์แต่ละคนและโจทก์บางคนมีสิทธิได้รับหรือไม่อยู่ จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในประเด็นนี้ต่อไป”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างเพิ่มให้แก่โจทก์ที่ 1ถึงโจทก์ที่ 27 (เว้นโจทก์ที่ 9 และที่ 18) พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาเฉพาะในส่วนนี้ต่อไป

Share