คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4362/2531

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยเป็นลูกจ้างของโจทก์ จำเลยกับโจทก์ต้องผูกพันกันตามสัญญาจ้างแรงงาน และการที่โจทก์แต่งตั้งให้จำเลยดำรงตำแหน่งใหม่ก็ไม่ทำให้ความเป็นลูกจ้างนายจ้างสิ้นสุดลง คงเป็นไปตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่โจทก์ผู้เป็นนายจ้างจะได้กำหนดขึ้น เมื่อโจทก์ได้ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน แต่จำเลยมิได้ปฏิบัติตาม ดังนี้ จำเลยผิดสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์บรรยายฟ้องว่ากระทำของจำเลยนอกจากจะเป็นการละเมิดต่อโจทก์แล้วยังเป็นการผิดสัญญาจ้างตามข้อผูกพันเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ดังนี้ โจทก์ต้องการให้จำเลยรับผิดตามสัญญาจ้างแรงงานด้วยอายุความในการฟ้องร้องจึงต้องถืออายุความทั่วไป มีกำหนด 10 ปีตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เมื่อจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ฐานกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานจำเลยจึงต้องชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ตั้งแต่วันที่ตกเป็นผู้ผิดนัดเป็นต้นไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ มีหน้าที่จำหน่ายสินค้าของโจทก์ให้แก่ลูกค้าตามกำลังที่โจทก์กำหนดและยังมีหน้าที่ดูแลรักษาและรับผิดชอบทรัพย์สินทุกอย่างของโจทก์ จำเลยจงใจหรือประมาทเลินเล่อไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยให้เครดิตแก่ลูกค้า ฝ่าฝืนคำสั่งของโจทก์ ขอให้จำเลยชำระเงินจำนวน 833,029.17 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่าจำเลยมิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อจำเลยปฏิบัติตามคำสั่งของโจทก์ หลักฐานการซื้อขายสินค้าถูกต้องตามขั้นตอนของโจทก์ทุกประการ ได้ติดตามหนี้สินให้โจทก์แล้วฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความเรื่องละเมิด
ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่าคำฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุมและไม่ขาดอายุความ จำเลยจำหน่ายสินค้าเงินเชื่อเกินกว่าอำนาจที่มีอยู่ตามระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ เป็นเหตุให้ไม่สามารถเรียกเก็บเงินจากลูกค้าได้ เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อปฏิบัติหน้าที่ฝ่าฝืนระเบียบหรือคำสั่งของโจทก์ที่ 112/2525 ทำให้โจทก์ต้องสูญเสียเงินไปรวม 829,245.50 บาท พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 829,245.50 บาท พร้อมดอกเบี้ย คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “นิติสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับโจทก์นั้นเป็นไปตามสัญญาจ้างแรงงานเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 10 ซึ่งตามเอกสารดังกล่าวอันเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องแสดงว่าโจทก์จ้างจำเลยเข้าทำงานเป็นลูกจ้างของโจทก์จำเลยกับโจทก์จึงต้องผูกพันกันตามสัญญาจ้างแรงงานนี้จนกว่าความเป็นลูกจ้างนายจ้างระหว่างจำเลยกับโจทก์จะสิ้นสุดลงไม่ว่าโดยประการใด ๆ และเมื่อจำเลยเข้ามาเป็นลูกจ้างของโจทก์แล้วตราบใดที่ความสัมพันธ์ฉันลูกจ้างนายจ้างระหว่างจำเลยกับโจทก์ยังคงมีอยู่ โจทก์ก็ย่อมจะพิจารณาความรู้ความสามารถความขยันขันแข็ง ความซื้อสัตย์สุจริตของจำเลยและแต่งตั้งให้จำเลยดำรงตำแหน่งใด ๆ ก็ได้ ซึ่งก็ยังคงถือว่าเป็นการสั่งให้ทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานฉบับแรกนั่นเอง หาจำเป็นต้องทำสัญญาจ้างแรงงานกันใหม่ไม่ มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่าจำเลยกับโจทก์ต้องทำสัญญาจ้างแรงงานกันทุกคราวที่โจทก์แต่งตั้งให้จำเลยดำรงตำแหน่งใหม่ การที่โจทก์แต่งตั้งให้จำเลยดำรงตำแหน่งใหม่ จึงไม่ทำให้ความเป็นลูกจ้างนายจ้างระหว่างจำเลยกับโจทก์สิ้นสุดลง ส่วนการที่เมื่อจำเลยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใหม่แล้ว จำเลยต้องปฏิบัติต่อโจทก์อย่างไรบ้างย่อมต้องเป็นไปตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างจำเลยกับโจทก์หรือตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่โจทก์ผู้เป็นนายจ้างจะได้กำหนดขึ้น ซึ่งล้วนแต่เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างแรงงานที่จำเลยต้องถือปฏิบัติในฐานะที่เป็นลูกจ้างทั้งสิ้นดังนี้ที่จำเลยอุทธรณ์เป็นทำนองว่าเมื่อโจทก์แต่งตั้งให้จำเลยดำรงตำแหน่งรักษาการผู้จัดการองค์การอุตสาหกรรมห้องเย็นสาขาเชียงใหม่สัญญาจ้างแรงงานตามเอกสารหมายเลข 10 ท้ายฟ้อง ระหว่างจำเลยกับโจทก์ย่อมสิ้นความผูกพันกันจึงฟังไม่ขึ้น เมื่อสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวยังคงมีผลบังคับอยู่ ประกอบกับโจทก์ผู้เป็นนายจ้างยังได้ออกคำสั่งที่ 112/2525 ซึ่งถือได้ว่าเป็นข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวมาแล้วให้ลูกจ้างถือปฏิบัติ จำเลยก็ต้องปฏิบัติตาม แต่ปรากฏว่าจำเลยมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งที่ 112/2525 ของโจทก์ จำเลยผู้เป็นลูกจ้างจึงได้ชื่อว่าปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงานระหว่างจำเลยกับโจทก์ผู้เป็นนายจ้างเป็นเหตุให้โจทก์ผู้เป็นนายจ้างได้รับความเสียหายโจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องให้จำเลยรับผิดฐานปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวมาแล้วได้ ซึ่งตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ก็้ได้บรรยายมาด้วยแล้วว่าการกระทำของจำเลยนอกจากจะเป็นการละเมิดต่อโจทก์แล้วยังเป็นการผิดสัญญาจ้างตามคำสั่งคำบังคับที่จำเลยมีข้อผูกพันเกี่ยวกับสภาพการจ้างอยู่กับโจทก์เช่นนี้ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์เจาะจงให้จำเลยรับผิดฐานกระทำละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 แต่ประการเดียวจึงฟังไม่ขึ้นเพราะเห็นได้ชัดจากคำบรรยายฟ้องของโจทก์ว่า โจทก์ต้องการให้จำเลยรับผิดตามสัญญาจ้างรางงานด้วย อายุความในการฟ้องร้องจึงต้องถือตามอายุความทั่วไป คือ มีกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า วันเริ่มต้นคิดดอกเบี้ยจะต้องนับแต่วันที่จำเลยปล่อยสินเชื่อแก่ลูกค้าทั้ง 6 รายโดยฝ่าฝืนคำสั่งที่ 112/2525 อันเป็นวันกระทำละเมิดนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าศาลฎีกาได้วินิจฉัยในชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยแล้วว่า คดีนี้จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ ฐานกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานมิใช่ในฐานะผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ดังนั้นจำเลยจึงต้องชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ตั้งแต่วันที่ตกเป็นผู้ผิดเป็นต้นไป ปรากฏตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ในข้อ 2 ว่า โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้จำนวน 829,245.50 บาท แก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ชำระตามหนังสือของโจทก์ลงวันที่ 24 มีนาคม 2530 ซึ่งจำเลยมิได้ให้การแก้ฟ้องโจทก์ในข้อนี้ จึงถือได้ว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2530 แต่ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2530จำเลยมิได้อุทธรณ์อันนับว่าเป็นคุณแก่โจทก์อยู่แล้ว”
พิพากษายืน

Share