แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ในคดีที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกจากตึกแถวที่เช่าเนื่องจากครบกำหนดอายุสัญญาเช่าแล้ว เมื่อจำเลยให้การรับว่าได้ทำสัญญาเช่ากับโจทก์จริงแม้จำเลยจะเบิกความว่าลายมือชื่อผู้เช่าในสัญญาเช่าที่โจทก์นำมาฟ้องไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยและสัญญาเช่าปลอม ก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใดเพราะสัญญาเช่าจะปลอมหรือไม่จำเลยก็ไม่มีสิทธิจะอยู่อาศัยในตึกแถวที่เช่าอีกต่อไป ข้อความที่จำเลยเบิกความต่อศาลดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อสำคัญในคดี แม้จะเป็นความเท็จจำเลยก็ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเบิกความเท็จ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 177 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 จำคุก 1 ปี จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกจากตึกแถวที่เช่าเนื่องจากครบกำหนดอายุสัญญาเช่า 3 ปี เป็นคดีหมายเลขดำที่ 1116/2528 หมายเลขแดงที่ 1142/2529ของศาลชั้นต้น จำเลยให้การรับว่าได้ทำสัญญาเช่าตึกแถวกับโจทก์จริง แต่สัญญาเช่าฉบับที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นสัญญาปลอม ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าสัญญาเช่าปลอมหรือไม่เป็นประเด็นข้อหนึ่ง จำเลยเบิกความเป็นพยานว่าจำเลยไม่ได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้เช่าในสัญญาเช่า สัญญาเช่าที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นสัญญาปลอมในการพิจารณาคดีดังกล่าวได้มีการส่งสัญญาเช่าพิพาทไปตรวจพิสูจน์ยังกองพิสูจน์หลักฐานกรมตำรวจ ผลการตรวจพิสูจน์ผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นว่าลายมือชื่อในช่องผู้เช่าน่าจะเป็นลายมือชื่อของจำเลย ศาลชั้นต้นจึงตัดสินว่าสัญญาเช่าไม่ปลอมและให้ขับไล่จำเลย ปัญหามีว่าการกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จหรือไม่ เห็นว่า จำเลยให้การรับว่าได้ทำสัญญาเช่ากับโจทก์จริงแม้จริงจะเบิกความว่าลายมือชื่อในช่องผู้เช่าในสัญญาเช่าที่โจทก์นำมาฟ้องไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยและสัญญาเช่าเป็นสัญญาปลอมก็ไม่ทำให้ผลของคดีเรื่องก่อนเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด สัญญาเช่าจะปลอมหรือไม่จำเลยก็ไม่มีสิทธิจะอยู่อาศัยในตึกแถวที่เช่าอีกต่อไปข้อความที่จำเลยเบิกความต่อศาลดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อสำคัญในคดีแม้จะเป็นข้อความเท็จ จำเลยก็ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 177 ดังที่โจทก์ฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน