แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ข้อ 76 ที่กำหนดให้ใช้ค่าทดแทนตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดนั้น หมายถึงราคาธรรมดาที่อาจจะซื้อขายกันในท้องตลาดตามความเป็นจริงในวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่นำสืบได้ มิใช่หมายความว่าถ้าในวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับไม่มีหลักฐานการจดทะเบียนซื้อขายกันที่สำนักงานที่ดินก็จะต้องถือเอาราคาประเมินเพื่อใช้ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมมาใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าทดแทน ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ข้อ 67 บัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์หรือผู้ที่ได้รับหมายจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ชำระเงินเพิ่มขึ้น ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงินนั้นตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับ เมื่อพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนใช้บังคับวันที่ 1 มกราคม 2520 แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินเพิ่มแก่โจทก์โดยให้เสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2525 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 3 แจ้งให้โจทก์ทราบว่าได้นำเงินไปวางไว้ที่สำนักงานวางทรัพย์จึงไม่ถูกต้อง แต่คดีนี้โจทก์มิได้ฎีกาเป็นแต่กล่าวมาในคำแก้ฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขให้ได้
ย่อยาว
โจทก์ทั้งหกสำนวนฟ้องขอให้จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นในกรณีที่ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนเป็นทางหลวง จำเลยให้การว่าได้คำนวณและกำหนดค่าทดแทนให้ถูกต้องแล้ว ศาลชั้นต้นพิพากษาให้กรมโยธาธิการจำเลยที่ 3 จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งหกสำนวนเพิ่มขึ้นบางส่วนโจทก์ห้าสำนวนและจำเลยที่ 3 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้จำนวนเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นอีก จำเลยที่ 3 ทั้งหกสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 สามารถนำสืบได้ว่าในระหว่างวันที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนใช้บังคับไม่มีการซื้อขายที่ดินในบริเวณใกล้เคียงนั้นเห็นว่าตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 76 ที่กำหนดให้ใช้ค่าทดแทนตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดนั้น หมายถึงราคาธรรมดาที่อาจจะซื้อขายกันในท้องตลาดตามความเป็นจริงในวันที่พระราชกฤษฎีกาฯ ใช้บังคับ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่สามารถนำสืบได้ มิใช่หมายความว่าถ้าในวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับไม่มีหลักฐานการจดทะเบียนซื้อขายกันที่สำนักงานที่ดินก็จะต้องเอาราคาประเมินเพื่อใช้ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมมาใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าทดแทน เพราะเป็นคนละราคาและราคาประเมินเพื่อใช้ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของทางราชการนั้นอาจจะต่ำหรือสูงกว่าราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไป
ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์นำสืบได้หรือไม่ว่า ราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดมีราคาตารางวาละเท่าใด ปัญหานี้ฝ่ายโจทก์นำสืบว่าที่ดินของโจทก์ทุกสำนวนอยู่ติดซอยอุทัย ซึ่งแยกจากถนนประชาธิปกเป็นซอยกว้างประมาณ 12 เมตร มีรถประจำทางวิ่งผ่านซอยอุทัย 2 สาย บริเวณที่ดินของโจทก์ทั้งหกสำนวนเป็นทำเลค้าขาย การซื้อขายที่ดินบริเวณนั้นโจทก์คดีหมายเลขดำที่ 15417/2525เบิกความว่า ร้านอีแอ่นซึ่งอยู่ห่างที่ดินของโจทก์ดังกล่าว 5 ห้องซื้อขายกันเป็นเงิน 600,000 บาท ซึ่งเมื่อได้ตรวจสอบแผนที่ที่ดินบริเวณที่ถูกเวนคืนกับเลขที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดินของนางอุไร คือเลขที่ดินที่ 1112 และ 1136 ประกอบกับรายงานการประชุมของคณะอนุกรรมการจัดซื้อที่ดินและชดเชยค่ารื้อถอนอาคารฯ ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2524 (หน้า 4) แล้ว ปรากฎว่าร้านอีแอ่นก็คือที่ดินของนางอุไร ศักดิ์วานิชกุล นั่นเอง จากหลักฐานดังกล่าวแสดงว่าที่ดินของนางอุไรซึ่งอยู่ห่างที่ดินของโจทก์คดีหมายเลขดำที่ 15417/2525 ประมาณ 5 ห้องซื้อขายกันเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2515 เนื้อที่ดิน 16.7 ตารางวา รวมค่าก่อสร้างเป็นเงิน 600,000 บาท เมื่อหักค่าก่อสร้างออก 100,000บาท จะเป็นราคาที่ดินตารางวาละ 29,940 บาท เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าราคาที่ดินในปี พ.ศ. 2520 ซึ่งเป็นปีที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับนั้น ราคาย่อมจะสูงกว่าในปี พ.ศ. 2515 ดังนั้นข้อเท็จจริงฟังได้ว่าราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดของที่ดินบริเวณใกล้เคียงกับที่ดินของโจทก์คดีหมายเลขดำที่ 15417/2525ในวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับนั้นย่อมมีราคาสูงกว่าตารางวาละ29,940 บาท ดังนั้นการที่ศาลล่างกำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์ตามหมายเลขดำที่ 15417/2525 ตารางวาละ 15,000 บาท และโจทก์คดีดังกล่าวมิได้อุทธรณ์ฎีกานับว่าเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 3อยู่แล้ว
สำหรับโจทก์อีก 5 สำนวนนั้น เมื่อดูจากแผนที่ที่ดินบริเวณที่ถูกเวนคืนแล้วจะเห็นว่าที่ดินของโจทก์คดีหมายเลขดำที่ 15417/2525อยู่บริเวณปากซอยอุทัย ส่วนของโจทก์อีก 5 สำนวนอยู่เข้ามาในซอยและคำเบิกความของโจทก์คดีหมายเลขดำที่ 15419/2525 และ15519/2525 ที่ว่า ห้องของตนเป็นห้องที่ 16 และ 17 นับจากปากซอยอุทัยแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดไม่น่าจะแตกต่างกันมาก ฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทดแทนให้ในราคาตารางวาละ 10,000 บาท ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
อย่างไรก็ดีในปัญหาเรื่องดอกเบี้ยนั้น ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ข้อ 67 บัญญัติไว้ชัดเจนว่าถ้าศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเงินเพิ่ม ให้เจ้าของได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนใช้บังคับ คือ วันที่ 1 มกราคม 2520 ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 3 เสียดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2525 จึงไม่ถูกต้อง แต่เนื่องจากโจทก์เป็นแต่กล่าวมาในคำแก้ฎีกา โดยมิได้ฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่อาจจะแก้ไขได้”
พิพากษายืน