คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2799/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 80 และ 72 ลดมาตราส่วนโทษตามมาตรา 75และลดโทษให้ตามมาตรา 78 แล้วคงจำคุก 8 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นให้จำคุก 2 ปี ตามบทกฎหมายที่ศาลชั้นต้นวางมา เช่นนี้ เป็นการแก้เฉพาะโทษที่ลงแก่จำเลยไม่ได้แก้บทมาตราด้วยจึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยแทงผู้เสียหายหลังจากจำเลยถูกผู้เสียหายชกต่อยผ่านพ้นไปแล้ว จึงไม่มีภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายที่จำเลยจะต้องกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตน จำเลยฎีกาว่าจำเลยแทงผู้เสียหายในขณะถูกชกต่อยแต่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อน การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ ดังนี้ ฎีกาของจำเลยเท่ากับเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาซึ่งเป็นยุติและต้องห้ามฎีกา เพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยยกขึ้นอ้างจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยใช้มีดแทง ส.ผู้เสียหายโดยมีเจตนาฆ่าแต่ผู้เสียหายไม่ตาย เพียงได้รับอันตรายแก่กาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 288, 295 จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยกระทำโดยบันดาลโทสะลงโทษตามมาตรา 288, 80 และ72 ลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่งตามมาตรา 75 และลดโทษด้วยเหตุบรรเทาโทษหนึ่งในห้า จำคุก 8 ปี จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 288, 80, 72 ลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่งและลดโทษด้วย เหตุบรรเทาโทษหนึ่งในสาม จำคุก 2 ปี จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลอุทธรณ์เพียงแต่พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะโทษที่ลงแก่จำเลย ไม่ได้แก้บทมาตราด้วยเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยแทงผู้เสียหายหลังจากจำเลยถูกผู้เสียหายชกต่อยผ่านพ้นไปแล้ว และขณะผู้เสียหายเดินหันหลังจะไปท้ายเรือเพื่อรับประทานอาหาร จึงไม่มีภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายที่จำเลยจะต้องกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตน การที่จำเลยฎีกาว่าคำเบิกความของพยานโจทก์สรุปได้ว่า จำเลยแทงผู้เสียหายโดยใช้มีดเหวี่ยงไปมาในขณะถูกชกต่อย ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าบาดแผลของผู้เสียหายเกิดจากการแทงทางด้านหลัง โดยอาศัยคำเบิกความของผู้เสียหายจึงเป็นการคลาดเคลื่อน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ ดังนี้ฎีกาของจำเลยเท่ากับเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมา ซึ่งเป็นยุติและต้องห้ามฎีกา เพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยยกขึ้นอ้าง จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้”
พิพากษายกฎีกาจำเลย

Share