คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2619/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 104 เกี่ยวแก่กำหนดขั้นตอนของการเสียและผู้มีหน้าที่ต้องเสียค่าภาคหลวงแร่ในกรณีที่มีการปฏิบัติโดยถูกต้องไว้เป็นหลักเกณฑ์ทั่วไป แต่มิได้มีความหมายบังคับไว้เด็ดขาดว่าจะต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไปในกรณีที่ปฏิบัติโดยไม่ถูกต้อง เช่นจำเลยส่งออกแร่ซึ่งยังมิได้เสียค่าภาคหลวงแร่ไปยังต่างประเทศ จำเลยก็ย่อมต้องรับผิดเสียค่าภาคหลวงแร่ จะปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างบทกฎหมายดังกล่าวหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าภาคหลวงแร่ จำเลยให้การว่าชำระแล้ว ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าภาคหลวงพร้อมดอกเบี้ย จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ระหว่างปี พ.ศ. 2522 ถึงปีพ.ศ. 2524 จำเลยได้ส่งออก แร่ซีไลท์และแร่วุลแฟรมไปต่างประเทศหลายครั้ง ที่พิพาทกันคือครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2522 จำเลยขออนุญาตขนแร่ซีไลท์น้ำหนัก 250 หาบหลวงไปยังประเทศเนเธอร์แลนด์ในจำนวนนี้มีแร่ซีไลท์หนัก 185 หาบหลวง ที่อ้างใบเสร็จรับเงินค่าภาคหลวงตามใบอนุญาตขนแร่ที่ 8506/2522 ปรากฏตามรายการลำดับที่ 1ในใบแทรกบันทึกรายการขนแร่ในเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งแร่จำนวนนี้ได้ส่งออกไปหมดแล้ว แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2524 จำเลยขออนุญาตขนแร่ซีไลท์น้ำหนัก 300 หาบหลวงไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาในจำนวนนี้มีแร่ซีไลท์ หนัก 185 หาบหลวงที่อ้างใบเสร็จรับเงินค่าภาคหลวงซ้ำตามใบอนุญาตขนแร่ที่ 8506/2522 ปรากฏตามรายการลำดับที่ 6 ในใบแทรกรายการชำระค่าภาคหลวง ในเอกสารหมาย จ.3ซึ่งแร่จำนวนนี้ได้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักรหมดแล้ว ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2523 จำเลยขออนุญาตขนแร่วุลแฟรมน้ำหนัก 168 หาบหลวง ไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ในจำนวนนี้นี้มีแร่วุลแฟรม หนัก 38.94 หาบหลวง ที่อ้างใบเสร็จรับเงินค่าภาคหลวง ตามใบอนุญาตขนแร่ที่ 239/2522 ปรากฏตามรายการลำดับที่ 11 ในใบแทรกบันทึกรายการขนแร่ในเอกสารหมาย จ.4ซึ่งแร่จำนวนนี้ได้ส่งออกไปหมดแล้ว แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 23มิถุนายน 2524 จำเลยขออนุญาตขนแร่วุลแฟรมน้ำหนัก 168 หาบหลวงไปยังประเทศเนเธอร์แลนด์ ในจำนวนนี้มีแร่วุลแฟรมหนัก38.94 หาบหลวงที่อ้างใบเสร็จรับเงินค่าภาคหลวง ซื้อตามใบอนุญาตขนแร่ที่ 239/2522 ปรากฏตามรายการลำดับที่ 3 ในใบแทรกรายการชำระค่าภาคหลวงในเอกสารหมาย จ.6 ซึ่งแร่จำนวนนี้ได้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักรหมดแล้ว ครั้งที่สามเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2523และวันที่ 17 กรกฎาคม 2523 จำเลยขออนุญาตขนแร่วุลแฟรมไปยังประเทศเนเธอร์แลนด์ และประเทศอังกฤษจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีแร่วุลแฟรมหนักรวม 27 หาบหลวง ที่อ้างใบเสร็จรับเงินค่าภาคหลวงตามใบอนุญาตขนแร่ที่ 1493/2522 ปรากฏตามรายการลำดับที่ 4 และที่ 2 ในใบแทรกรายการชำระค่าภาคหลวงในเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 ตามลำดับซึ่งแร่จำนวนนี้ได้ส่งออกไปหมดแล้ว แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 23มิถุนายน 2524 จำเลยขออนุญาตขนแร่วุลแฟรมหนัก 168 หาบหลวงไปยังประเทศเนเธอร์แลนด์ในจำนวนนี้แร่วุลแฟรมหนัก 1620 กิโลกรัมหรือ27 หาบหลวง (แต่ส่งออกครั้งนั้นเพียง 730.20 กิโลกรัม หรือ12.17 หาบหลวง) ที่อ้างใบเสร็จรับเงินค่าภาคหลวง ซ้ำตามใบอนุญาตขนแร่ที่ 1493/2522 ปรากฏตามรายการลำดับที่ 5 ในใบแทรกรายการชำระค่าภาคหลวงในเอกสารหมาย จ.6 และครั้งที่สี่ เมื่อวันที่ 1 กันยายน2523 จำเลยขออนุญาตขนแร่วุลแฟรมน้ำหนัก 336 หาบหลวงไปยังประเทศเยอรมันตะวันตก ในจำนวนนี้มีแร่วุลแฟรมหนัก 50 หาบหลวง ที่อ้างใบเสร็จรับเงินค่าภาคหลวงตามใบอนุญาตขนแร่ที่ 730/2523 ปรากฏตามรายการลำดับที่ 4 ในใบแทรกรายการชำระค่าภาคหลวงในเอกสารหมาย จ.10ซึ่งแร่จำนวนนี้ได้ส่งออกไปหมดแล้ว แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 23มิถุนายน 2524 จำเลยขออนุญาตขนแร่วุลแฟรมหนัก 168 หาบหลวง ไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ในจำนวนนี้มีแร่วุลแฟรม หนัก 50 หาบหลวงที่อ้างใบเสร็จรับเงินค่าภาคหลวงซ้ำตามใบอนุญาตขนแร่ที่ 730/2523ปรากฏตามลำดับที่ 2 ในใบแทรกรายการชำระค่าภาคหลวงเอกสารหมาย จ.12ปัญหาวินิจฉัยมีว่า แร่ที่จำเลยส่งออกไปต่างประเทศที่อ้างเลขที่ใบเสร็จรับเงินค่าภาคหลวงซ้ำกับที่เคยขอส่งออกไปแล้วนั้น ได้มีการเสียค่าภาคหลวงแร่หรือไม่ นายปรีชา วิสิฐสิริ และนายเดชเอี่ยมยิ้ม ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์เบิกความตรงกันได้ความว่าการชำระค่าภาคหลวงแร่จะต้องชำระตั้งแต่การขนแร่ออกจากเหมืองแร่ครั้งแรกและเจ้าหน้าที่จะออกใบเสร็จรับเงินค่าภาคหลวงให้แก่ผู้รับอนุญาตขนแร่ เมื่อผู้รับอนุญาตขนแร่ได้ขนแร่ไปยังปลายทางเพื่อส่งให้แก่ผู้รับใบอนุญาตซื้อแร่ ก็จะมอบใบอนุญาตขนแร่พร้อมใบเสร็จรับเงินค่าภาคหลวง ให้แก่ผู้รับใบอนุญาตซื้อแร่ เพื่อนำไปแสดงแก่ทรัพยากรธรณีปลายทางเป็นหลักฐานแสดงว่าแร่ที่ขนมาเก็บเข้าสต๊อกนั้นได้ชำระค่าภาคหลวงแล้ว เมื่อผู้รับใบอนุญาตซื้อแร่จะขายแร่จำนวนใดก็จะต้องยื่นคำขอใบอนุญาตขนแร่อีก พร้อมทั้งแสดงหลักฐานการชำระค่าภาคหลวงแร่โดยระบุเลขที่ใบเสร็จรับเงินค่าภาคหลวงแร่ด้วย ดังนั้น การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตซื้อแร่ได้ขออนุญาตขนแร่ไปยังต่างประเทศโดยอ้างเลขที่ใบเสร็จรับเงินค่าภาคหลวงซ้ำกับใบเสร็จรับเงินที่เคยอ้างมาแล้วตามใบอนุญาตขนแร่ที่ใช้ไปแล้วย่อมแสดงว่า แร่ชนิดเดียวกันที่จำเลยส่งไปยังต่างประเทศครั้งหลังที่อ้างใบเสร็จรับเงินค่าภาคหลวงซ้ำดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นแร่ซึ่งไม่มีหลักฐานการเสียค่าภาคหลวง ข้อนี้จำเลยนำสืบเป็นทำนองว่าเจ้าหน้าที่ของโจทก์ไม่ตรวจสอบให้รอบคอบถูกต้องแร่ที่จำเลยขออนุญาตส่งออกเป็นแร่ที่อยู่ในสต๊อก ซึ่งได้เสียค่าภาคหลวงแล้วทั้งสิ้น และได้ทำบัญชีซื้อแร่ บัญชีจำหน่ายแร่และบัญชีแร่ในสต๊อกให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบโดยสม่ำเสมอ ที่จำเลยระบุเลขที่ใบเสร็จรับเงินค่าภาคหลวงแร่ซ้ำในคำขอใบอนุญาตขนแร่ไปยังต่างประเทศเป็นเพราะว่า ในการขออนุญาตขนแร่ไปยังต่างประเทศครั้งแรก เจ้าหน้าที่ของโจทก์หาใบอนุญาตขนแร่จากเหมืองไม่พบจึงให้จำเลยนำสำเนาภาพถ่ายซึ่งจำเลยได้ถ่ายเก็บไว้เป็นหลักฐานไปแสดง แต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยหลงลืมไม่ได้ทำหลักฐานไว้ว่าใบอนุญาตฉบับนั้นได้ใช้ไปแล้ว จึงได้ใช้เป็นหลักฐานในการขออนุญาตส่งแร่ไปยังต่างประเทศซ้ำอีก และทางเจ้าหน้าที่ของโจทก์ก็ได้ตรวจสอบกับต้นฉบับใบอนุญาตขนแร่จากเหมืองซึ่งค้นพบในตอนนั้นจึงเป็นหลักฐานที่ถูกต้องตรงกัน และออกใบอนุญาตขนแร่ให้จำเลย จึงเกิดความผิดพลาดขึ้น เห็นว่า จำเลยดำเนินกิจการส่งแร่ออกไปขายยังต่างประเทศมานาน ทั้งมีการทำบัญชีอย่างละเอียดเกี่ยวกับการซื้อแร่ การจำหน่ายแร่และบัญชีสต๊อกแร่ เจ้าหน้าที่ของจำเลยก็ดำเนินการในด้านหลักฐาน รัดกุมตามสมควร เช่นมีการถ่ายภาพใบอนุญาตขนแร่จากเหมืองไว้เป็นหลักฐานทั้งปรากฏตามบัญชีจำหน่ายแร่ของจำเลยว่ามิได้มีการส่งแร่ออกไปยังต่างประเทศจำนวนมากนัก จนถึงกับจะทำให้เกิดการสับสน หรือหลงลืมในเรื่องใบอนุญาตขนแร่จากเหมืองที่ใช้ไปแล้วข้ออ้างของจำเลยฟังไม่ขึ้น และที่จำเลยนำสืบว่า แม้จะมีการอ้างถึงใบรับเงินค่าภาคหลวงซ้ำ แร่ที่ส่งออกไปก็เป็นแร่ในสต๊อกที่มีการเสียค่าภาคหลวงแล้วทั้งสิ้น ดังที่นายชาติ จารุศิริธรางกูรกรรมการบริษัทจำเลยเบิกความนั้น เห็นว่า บัญชีซื้อแร่ บัญชีจำหน่ายแร่ และบัญชีสต๊อกแร่ เป็นเพียงหลักฐานที่แสดงถึงการซื้อ การจำหน่ายและจำนวนแร่ในสต๊อกซึ่งไม่เป็นการยากที่จะทำให้รับกัน และถูกต้องตรงกับใบอนุญาตขนแร่มาจากเหมือง ถึงกระนั้น จำเลยก็พิสูจน์ไม่ได้ว่าใบอนุญาตขนแร่ดังกล่าวมีเหลืออยู่เท่าใด มีจำนวนแร่ที่แท้จริงเหลืออยู่เท่าใด เมื่อคิดหักเอาแร่ที่ส่งออกไปยังต่างประเทศโดยอ้างใบเสร็จรับเงินค่าภาคหลวงซ้ำเข้าด้วยแล้วมีปริมาณเหลือที่ถูกต้องตรงกันหรือไม่ นายชาติ พยานจำเลยเบิกความแต่เพียงว่ามีการหักทอนบัญชีกันแล้ว แต่มิได้ยืนยันว่าจำนวนแร่ที่อยู่ในสต๊อกขาดจากบัญชีไปเท่ากับจำนวนแร่ที่ส่งออกไปยังต่างประเทศโดยอ้างเลขที่ใบเสร็จรับเงินค่าภาคหลวงซ้ำ พยานหลักฐานจำเลยจึงมีน้ำหนักน้อย ไม่สามารถแสดงให้เห็นได้ว่า แร่ที่จำเลยส่งออกไปยังต่างประเทศที่อ้างเลขที่ใบเสร็จรับเงินค่าภาคหลวงซ้ำนั้นเป็นแร่ที่ได้เสียค่าภาคหลวงแล้วจึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่าแร่จำนวนดังกล่าวเป็นแร่ที่ยังไม่ได้เสียค่าภาคหลวง จำเลยจึงต้องรับผิดเสียค่าภาคหลวงแร่ในส่วนของแร่จำนวนนั้นซึ่งฟังได้ยุติโดยจำเลยไม่ได้เถียงว่า เป็นเงิน 632,799.07 บาท รวมทั้งดอกเบี้ยตามที่โจทก์ฟ้อง
ส่วนในปัญหาที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่มีหน้าที่ต้องเสียค่าภาคหลวงแร่ตามกฎหมายนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510มาตรา 104 ที่แก้ไขแล้ว เกี่ยวแก่กำหนดขึ้นตอนของการเสียและผู้มีหน้าที่ต้องเสียค่าภาคหลวงแร่ในกรณีที่มีการปฏิบัติโดยถูกต้องไว้เป็นหลักเกณฑ์ทั่วไป แต่มิได้มีความหมายบังคับไว้เด็ดขาดว่าจะต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป ในกรณีที่ปฏิบัติโดยไม่ถูกต้องเช่นการกระทำของจำเลยในคดีนี้ เมื่อฟังได้ว่า จำเลยส่งออกแร่ซึ่งยังมิได้เสียค่าภาคหลวงแร่ไปยังต่างประเทศ จำเลยก็ย่อมต้องรับผิดเสียค่าภาคหลวงแร่ จะปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างบทกฎหมายดังกล่าวหาได้ไม่ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share