คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2070/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ส.เช่าตึกพิพาทจากจำเลยที่ 2 โดยสามีมิได้เกี่ยวข้องด้วยเมื่อสิทธิการเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัว ส. ย่อมมีสิทธิจะโอนสิทธิการเช่าไปให้จำเลยที่ 1 ได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากสามีทั้งสัญญาเช่าที่ ส. ทำไว้กับจำเลยที่ 2 ได้หมดอายุสัญญาไปแล้ว โจทก์ผู้เป็นบุตรของสามี ส. จึงหามีสิทธิที่จะบอกล้างนิติกรรมสัญญาเช่าดังกล่าวไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นางสายสม รัตนโภคา ภริยานายประวัตินันท์สุคนธ์ ซึ่งเป็นบิดาโจทก์ ได้ร่วมกันเช่าตึกแถวจากจำเลยที่ 2 ต่อมาจำเลยทั้งสองกับนางสายสมได้สมคบกันโอนสิทธิการเช่าตึกแถวดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 โดยทุจริต และนางสายสมไม่ได้รับความยินยอมจากนายประวัติ การโอนดังกล่าวตกเป็นโมฆียะกรรม นางสายสมกับนายประวัติถึงแก่กรรมไปแล้ว ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมการโอนสิทธิการเช่าให้เป็นชื่อนางสายสมตามเดิม และบังคับจำเลยที่ 2 ทำสัญญาเช่ากับทายาทนางสายสมต่อไปจำเลยทั้งสองให้การว่า สิทธิการเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัว นายสายสมย่อมมีสิทธิโอนสิทธิการเช่าให้แก่บุคคลอื่นซึ่งจำเลยที่ 2 ผู้ให้เช่าได้ยินยอมให้มีการโอนได้ จึงเกิดสัญญาเช่าขึ้นใหม่ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 โจทก์ไม่มีสิทธิบอกล้างและไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาในชั้นนี้ว่าโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายประวัติ นันท์สุคนธ์ และในฐานะทายาทผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของนายประวัติผู้วายชนม์ จะมีสิทธิบอกล้างนิติกรรมการโอนสิทธิการเช่าตึกพิพาทได้หรือไม่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ตามสัญญาเช่าเดิมเอกสารหมาย จ.5 ปรากฏว่านางสายสม รัตนโภคา เป็นผู้เช่าตึกพิพาทจากวัดบางขวางจำเลยที่ 2 นายสอน กาญจนสาลักษณ์ไวยาวัจกรวัดบางขวาง จำเลยที่ 2เบิกความว่า นางสายสมได้เช่าตึกพิพาทมาตั้งแต่ก่อสร้างใหม่ ๆก่อนหมดสัญญาเช่านางสายสมได้โอนสิทธิการเช่าตึกพิพาทให้แก่นายสมศักดิ์ รัตนโภคา จำเลยที่ 1 จนหมดสัญญาเช่าแล้วเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2525 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่ากับวัดบางขวาง จำเลยที่ 2 เห็นว่า สิทธิการเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัวเมื่อปรากฏว่านางสายสมเป็นผู้เช่าไม่เกี่ยวกับนายประวัติบิดาโจทก์ นางสายสมย่อมมีสิทธิจะโอนสิทธิการเช่าไปให้นายสมศักดิ์ได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากนายประวัติสามีทั้งปรากฏว่าสัญญาเช่าที่นางสายสมทำไว้กับจำเลยที่ 2 ได้หมดอายุสัญญาไปแล้วและขณะนี้นายสมศักดิ์จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าโดยตรงกับวัดบางขวางจำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์จึงหามีสิทธิที่จะบอกล้างนิติกรรมสัญญาเช่าดังกล่าวไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share