คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1948/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ก่อนมีการฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย จำเลยได้จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ต่อมาผู้คัดค้านที่ 1 ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินดังกล่าวให้ผู้คัดค้านที่ 2 โดยผู้คัดค้านที่ 2 ได้วางมัดจำไว้และผู้คัดค้านที่ 1 ผิดสัญญาไม่โอนที่ดินให้ผู้คัดค้านที่ 2 ผู้คัดค้านที่ 2 จึงฟ้องต่อศาลชั้นต้น และในที่สุดได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้ผู้คัดค้านที่ 1โอนที่ดินพิพาทแก่ผู้คัดค้านที่ 2 ดังนี้แม้ผู้คัดค้านทั้งสองจะทำสัญญาจะซื้อจะขายกันไว้ก่อน ก็มิได้เป็นเครื่องยืนยันว่ากระทำโดยสุจริต เพราะพฤติการณ์ที่มีการดำเนินคดีโดยรีบร้อนและทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยเร่งด่วน ย่อมแสดงถึงความไม่สุจริต เจตนาช่วยเหลือจำเลยในการยักย้ายทรัพย์สิน พยานหลักฐานของผู้คัดค้านยังฟังไม่ได้ว่าได้มีการโอนที่พิพาทโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนศาลจึงมีอำนาจเพิกถอนการโอนได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายมาตรา 114,116

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องจากศาลพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องว่า จำเลยโอนการถือสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้ผู้คัดค้านที่ 1 โดยเสน่หาไม่สุจริต ไม่มีค่าตอบแทน ต่อมาผู้คัดค้านที่ 1 ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินดังกล่าวให้ผู้คัดค้านที่ 2 ในราคา 100,000 บาท และจดทะเบียนโอนที่ดินนั้นให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีอื่น โดยไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทน ในระหว่างระยะเวลา 3 ปี ก่อนมีการขอให้ล้มละลาย การโอนแต่ละครั้งกระทำอย่างเร่งรีบ เพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับชำระหนี้ ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการโอนที่ดินดังกล่าวให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม หากไม่สามารถกลับคืนได้ให้ผู้คัดค้านทั้งสองร่วมกันชดใช้ราคาที่ดินเป็นเงิน 200,000 บาท แก่กองทรัพย์สินของจำเลยพร้อมดอกเบี้ย ผู้คัดค้านที่ 1 คัดค้านว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับนายสมพงษ์ มีวุฒิสม คนทั้งสองยกให้ผู้คัดค้านที่ 1 โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ผู้คัดค้านที่ 1 ได้ทำสัญญาจะซื้อขายกับผู้คัดค้านที่ 2 และถูกผู้คัดค้านที่ 2 ฟ้องให้ปฏิบัติตามสัญญาจึงโอนขายที่ดินให้ผู้คัดค้านที่ 2 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความผู้คัดค้านที่ 2 คัดค้านว่าได้รับโอนที่ดินพิพาทโดยซื้อมาในราคา 100,000บาท ชำระเงินให้ผู้คัดค้านที่ 2 แล้ว จึงเป็นบุคคลภายนอกได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านที่ 1 และระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 2 ให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม หากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิม ให้ผู้คัดค้านทั้งสองร่วมกันชดใช้ราคาที่ดินเป็นเงิน100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้คัดค้านที่ 2ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติได้ว่าโจทก์ฟ้องให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2526ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่2 มิถุนายน 2526 จำเลยได้จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 6 เล่มที่ 5 หน้า 26 หมู่ที่ 7ตำบลหนองหมู อำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี เนื้อที่ 27 ไร่3 งาน 64 ตารางวา ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อวันที่ 12 มกราคม2526 และผู้คัดค้านที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทแก่ผู้คัดค้านที่ 2 ตามคำสั่งของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2526คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ว่าผู้คัดค้านที่ 2 ได้รับโอนที่พิพาทจากผู้คัดค้านที่ 1 โดยสุจริตและมีค่าตอบแทนหรือไม่ ที่ผู้คัดค้านที่ 2 ฎีกาว่าการทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างผู้คัดค้านทั้งสองเป็นไปโดยสุจริตมีค่าตอบแทนมิได้มีเจตนาที่สมรู้ร่วมกันยักย้ายทรัพย์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างผู้คัดค้านทั้งสองก็ดีและการที่ผู้คัดค้านที่ 2 ฟ้องบังคับผู้คัดค้านที่ 1 ฐานผิดสัญญาจะซื้อขายที่ดินก็ดีน่าเชื่อว่าผู้คัดค้านทั้งสองมิได้มีเจตนาที่จะซื้อขายหรือฟ้องร้องบังคับคดีกันโดยสุจริต กล่าวคือในการฟ้องบังคับคดี ผู้คัดค้านที่ 2ไม่เคยบอกกล่าวหรือแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้คัดค้านที่ 1 ไปจัดการโอนที่พิพาทก่อนนำคดีฟ้องศาล นอกจากนี้ผู้คัดค้านที่ 2 ฟ้องบังคับให้ผู้คัดค้านที่ 1 โอนที่พิพาทโดยฟ้องเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2526ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 611/2525 ประมาณ 2 เดือน การดำเนินคดีก็อยู่ในลักษณะรีบร้อนและเร่งด่วนกล่าวคือผู้คัดค้านที่ 2 ได้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่ผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2526 ซึ่งเป็นระยะเวลาเพียง 4 วัน แล้วผู้คัดค้านทั้งสองได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยให้ศาลพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 4เดือนเดียวกันนั้นเอง ซึ่งเป็นระยะเวลาหลังจากส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องเพียง 3 วันเท่านั้นและได้ไปจดทะเบียนโอนที่พิพาทเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2526 ซึ่งเห็นได้ว่าระยะเวลาที่ทำสัญญาระหว่างกันก็ดีและการโอนที่ดินให้แก่กันก็ดี เป็นการกระทำในลักษณะเร่งด่วนผิดปกติธรรมดา นอกจากนี้การชำระค่าที่ดินผู้คัดค้านที่ 2 อ้างว่าได้ออกเช็คลงวันที่ล่วงหน้ามอบให้แก่ผู้คัดค้านในวันรับโอน ต่อมา 2-3 วันจึงนำเงินสดไปแลกเช็คคืนมาศาลฎีกาเห็นว่า หากมีการมอบเช็คแก่กันจริงผู้คัดค้านที่ 2 ก็น่าจะนำเงินไปเข้าบัญชีธนาคารเพื่อให้ผู้คัดค้านที่ 1 เบิกเงินตามเช็คจากธนาคารผู้จ่ายมีดีกว่าหรือ แทนที่จะนำเงินสด 50,000 บาทเดินทางจากจังหวัดชัยนาทไปหาผู้คัดค้านที่ 1 ถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยาแล้วมอบเงินสดจำนวนดังกล่าวให้ผู้คัดค้านที่ 1 แลกเอาเช็คคืนมา ซึ่งไม่สมเหตุผล และเงินจำนวน 50,000 บาทที่ผู้คัดค้านที่ 2 นำไปแลกเช็คคืนผู้คัดค้านที่ 2 เบิกความว่าแม่ยายให้มา แต่ในชั้นสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้คัดค้านที่ 2 ให้การว่าภรรยาของผู้คัดค้านที่ 2 เป็นคนให้ซึ่งขัดแย้งกันนอกจากนี้ผู้คัดค้านที่ 2 เบิกความว่าเงินที่นำไปแลกเช็คเป็นธนบัตรฉบับละ 500 บาท และ 100 บาทปนกัน แต่ผู้คัดค้านที่ 1กลับเบิกความว่าเป็นธนบัตรชนิด 500 บาททั้งหมด ซึ่งขัดแย้งกันอีกและที่ผู้คัดค้านที่ 2 อ้างว่าหากผู้คัดค้านที่ 2 มีเจตนาจะช่วยเหลือในการยักย้ายทรัพย์สินในลักษณะเร่งด่วนผิดปกติธรรมดาแล้วก็ไม่มีเหตุผลที่ผู้คัดค้านที่ 2 จะทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้ผู้คัดค้านที่ 2ในทันทีมิดีกว่าหรือ เห็นว่าแม้ผู้คัดค้านทั้งสองจะทำสัญญาจะซื้อจะขายกันไว้ก่อนก็มิได้เป็นเครื่องยืนยันว่าผู้คัดค้านทั้งสองได้กระทำการโดยสุจริตเพราะพฤติการณ์ที่มีการดำเนินคดีโดยรีบร้อนและทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยเร่งด่วน ย่อมแสดงถึงความไม่สุจริตของผู้คัดค้านทั้งสอง ซึ่งมีเจตนาช่วยเหลือจำเลยในการยักย้ายทรัพย์สินนั่นเอง พยานหลักฐานของผู้คัดค้านดังกล่าวยังฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านที่ 2 ได้รับโอนที่พิพาทจากผู้คัดค้านที่ 1 โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ศาลจึงมีอำนาจเพิกถอนการโอนเสียได้ตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 114 ประกอบด้วยมาตรา 116 ที่ศาลล่างทั้งสองได้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทระหว่างผู้คัดค้านทั้งสองต้องกันมาชอบด้วยรูปคดีแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แก้ฎีกาเองจึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้

Share