คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1811/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นใบสมัครเข้าทำงานโดยกรอกข้อความในใบสมัครเว้นว่างไว้แต่ในช่องเฉพาะเจ้าหน้าที่ด้านหลังใบสมัคร จำเลยซึ่งเป็นผู้อำนวยการบริษัทได้กรอกข้อความลงในช่องเฉพาะเจ้าหน้าที่ดังกล่าว ภายหลังจากที่บริษัทได้มีคำสั่งอนุมัติให้โจทก์เข้าทำงานแล้ว แต่จำเลยกระทำไปตรงตามเงื่อนไขและข้อตกลงที่ทำไว้กับโจทก์ก่อนยื่นใบสมัครทั้งเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการและระเบียบข้อบังคับของบริษัท เช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยกระทำไปโดยได้รับความยินยอมจากโจทก์และเมื่อข้อความที่จำเลยกรอกนั้นตรงตามที่ได้ตกลงกับโจทก์ไว้ จำเลยก็มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกรอกข้อความอันเป็นเท็จโดยไม่มีอำนาจลงในใบสมัคงานโจทก์ ที่สมัครงานที่บริษัทโรงพยาบาลราษฎร์บูรณะจำกัด แผ่นหลังด้านล่างในช่องเจ้าหน้าที่ว่า ทดลองงาน 3 เดือนและสรุปผล ลงหุ้นสองแสนบาทก่อนแสนบาทเงินสด อีกหนึ่งแสนบาทผ่อนเดือนละหมื่น ทำหน้าที่ขายหุ้นของโรงพยาบาลให้ได้มากที่สุดทดลองงานเริ่ม 1 กรกฎาคม 2527 ถึง 30 กันยายน 2527 บรรจุ 30 กันยายน(ที่ถูกเป็นกรกฎาคม) 2527 ตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวนการ เงินเดือน12,000 บาท ความจริงเอกสารดังกล่าวไม่มีการกรอกข้อความใดๆ ในช่องดังกล่าวขณะที่โจทก์สมัครงาน การกรอกข้อความของจำเลยเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต เพื่อให้ศาลหรือเจ้าหน้าที่แรงงานหรือบุคคลอื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ว่าทางบริษัทโรงพยาบาลราษฎร์บูรณะ จำกัด ได้ว่าจ้างโจทก์ทดลองงานมีกำหนด3 เดือน เมื่อบริษัทเลิกจ้างไม่ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยตามกฎหมายอันเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 จำคุก 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 30มิถุนายน 2527 โจทก์ได้ยื่นใบสมัครเข้าทำงานต่อบริษัทโรงพยาบาลราษฎร์บูรณะ จำกัด จำเลยเป็นผู้อำนวยการบริษัทดังกล่าวได้กรอกข้อความในช่องเฉพาะเจ้าหน้าที่ด้านหลังใบสมัครปรากฏข้อความตามเอกสารหมาย จ.4 ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้ยื่นใบสมัครโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ตามที่ระบุไว้ในใบสมัครเอกสารหมาย จ.4 จำเลยได้กรอกข้อความเติมเงื่อนไขที่ด้านหลังใบสมัครหลังจากวันที่จำเลยมีคำสั่งอนุมัติให้โจทก์เข้าทำงานซึ่งจำเลยหมดอำนาจที่จะกระทำได้ ทำให้โจทก์เสียหาย การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 นั้น เห็นว่า ตามคำเบิกความของโจทก์ ก่อนที่โจทก์จะยื่นใบสมัครเข้าทำงานได้พบกับจำเลยและได้ตกลงยื่นใบสมัครเข้าทำงานต่อจำเลยในวันที่ 30 มิถุนายน 2527 โจทก์ได้เข้าทำงานในวันที่ 30 มิถุนายน 2527 เป็นต้นมาเมื่อโจทก์เข้าปฏิบัติงาน โจทก์ได้ทราบว่าบริษัทมีระเบียบเกี่ยวกับการรับพนักงานเข้าทำงานว่าต้องมีการทดลองงานอย่างน้อย 3 – 6 เดือน และในการรับพนักงานรายอื่น โจทก์เคยได้รับมอบหมายให้กรอกข้อความลงในใบสมัครในช่องเฉพาะเจ้าหน้าที่ระบุเงื่อนไขว่า ให้ทดลองงานตามระเบียบของบริษัท เพื่อทดสอบความรู้ความสามารถและความประพฤติของพนักงาน ทั้งได้ความด้วยว่า เมื่อโจทก์ยื่นใบสมัครเข้าทำงานแล้ว โจทก์ยังได้ซื้อหุ้นของบริษัทโรงพยาบาลราษฎร์บูรณะ จำกัด จำนวน 50,000 บาท สอดคล้องกับเงื่อนไขที่ระบุไว้ในช่องเฉพาะเจ้าหน้าที่ด้านหลังใบสมัครเอกสารหมาย จ.4 น่าเชื่อว่า ก่อนโจทก์เข้าทำงานโจทก์ทราบดีว่าจำเลยได้กำหนดให้โจทก์ยื่นใบสมัครโดยมีเงื่อนไขให้โจทก์ทดลองงานและมีข้อตกลงให้โจทก์ซื้อหุ้นของบริษัทพร้อมทั้งช่วยขายหุ้นของบริษัทด้วย การที่จำเลยได้กรอกข้อความในช่องเฉพาะเจ้าหน้าที่ด้านหลังใบสมัครเอกสารหมาย จ.4 ก็เป็นการกระทำตามที่จำเลยได้ตกลงกับโจทก์ ทั้งเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการและระเบียบข้อบังคับของบริษัท ซึ่งเป็นแบบฟอร์มที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้กรอกข้อความโดยกำหนดเงื่อนไขลงในใบสมัครการกระทำดังกล่าว แม้จำเลยจะกระทำภายหลังจากที่ได้มีคำสั่งอนุมัติให้โจทก์เข้าทำงานแล้วก็ถือได้ว่า เป็นการกระทำโดยได้รับความยินยอมจากโจทก์ ซึ่งเมื่อมีข้อความตรงตามที่ตกลงกัน ก็มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารตามฟ้อง
พิพากษายืน.

Share