แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
หนังสือรับรองของอธิบดีกรมอัยการที่จำเลยยื่นพร้อมฎีกาเป็นหลักฐานเช่นเดียวกับการที่อธิบดีกรมอัยการลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาถือได้ว่าเป็นการรับรองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 แล้ว โจทก์ก่อสร้างตลาดผิดจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตและยังก่อสร้าง ต่อไปโดยไม่ขอต่ออายุใบอนุญาต จำเลยซึ่งเป็นหัวหน้าเขตให้ โจทก์ปฏิบัติการให้ถูกต้อง โจทก์ก็เพิกเฉย การที่จำเลยใช้เครื่องขยายเสียงพูดกับคนงานของโจทก์บริเวณที่ทำการก่อสร้างว่า”งานบริษัทนี้ (หมายถึงบริษัทโจทก์) พวกคุณไม่ต้องมาทำอีกต่อไปแล้ว พวกคุณไม่ต้องมาอยู่คอยเพราะคอยแค่ไหนก็ไม่สามารถจะทำได้ พวกคุณไปทำงานที่อื่นได้แล้วบริษัทอื่นที่ดีกว่านี้ยังมีอีกมาบริษัทเลว ๆ อย่างนี้หากพวกคุณขืนอยู่คอยต่อไปพวกคุณก็อดตายขณะนี้ผู้จัดการบริษัทนี้ก็ได้หลบหนีไปแล้วและบริษัทนี้ก็ไม่มีใบอนุญาตด้วย” เป็นการกล่าวเพื่อชี้แจงให้คนงานทราบว่าการก่อสร้าง ผิดแบบแปลนและใบอนุญาตหมดอายุ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย คนงานอาจมีความผิดด้วย ขอให้คนงานหยุดก่อสร้างและอย่ารอทำงานเพราะกว่าจะแก้ไขให้ถูกต้องก็ต้องใช้เวลาหลายเดือน คำกล่าวเช่นนี้เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตในฐานะที่จำเลยเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ แม้การใช้ถ้อยคำจะไม่สมควรและเกินเลยไปบ้างก็ยังไม่เป็นความผิดฐานหมิ่น ประมาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2526 เวลากลางวันจำเลยได้กล่าวข้อความอันเป็นการโฆษณาด้วยเครื่องขยายเสียงหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ต่อหน้าคนงานก่อสร้างและบุคคลอื่นว่า “งานบริษัทนี้(หมายถึงบริษัทโจทก์) พวกคุณไม่ต้องมาทำอีกต่อไปแล้ว พวกคุณไม่ต้องมาอยู่คอย เพราะคอยแค่ไหนก็ไม่สามารถจะทำได้ พวกคุณไปทำงานที่อื่นได้แล้ว บริษัทอื่นที่ดีกว่านี้ยังมีอีกมาก บริษัทเลว ๆอย่างนี้ หากพวกคุณขืนอยู่คอยต่อไปพวกคุณก็อดตาย ขณะนี้ผู้จัดการบริษัทนี้ (หมายถึงโจทก์ที่ 2) ก็ได้หลบหนีไปแล้วและบริษัทนี้ก็ไม่มีใบอนุญาตด้วย” ซึ่งข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริงทำให้โจทก์ที่ 1ที่ 2 เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง เหตุเกิดที่ตลาดราชวัตรแขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328(1), 59, 83 ให้จำเลยแก้ข่าวให้โจทก์ทางหนังสือพิมพ์กับปิดประกาศแก้ข่าวให้โจทก์ในที่เกิดเหตุด้วย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326, 328 ลงโทษตามมาตรา 328 ซึ่งเป็นบทหนักปรับจำเลย3,000 บาท โจทก์ทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยประกาศแก้ข่าวให้โจทก์ทางหนังสือพิมพ์และปิดประกาศแก้ข่าวให้โจทก์ ณ ที่เกิดเหตุเป็นเวลา 7 วันติดต่อกันด้วยจำเลยฎีกาโดยอธิบดีกรมอัยการรับรองฎีกาของจำเลย
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ที่โจทก์โต้แย้งมาในคำแก้ฎีกาว่า อธิบดีกรมอัยการมิได้ลงลายมือชื่อรับรองในฎีกา แต่ทำหนังสือรับรองมาต่างหาก ผิดเงื่อนไขที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 221 บัญญัติไว้ ไม่ชอบที่จะวินิจฉัยให้นั้น เห็นว่า หนังสือรับรองของอธิบดีกรมอัยการที่จำเลยยื่นพร้อมฎีกา ถือได้ว่าเป็นการรับรองตามความประสงค์ของกฎหมายแล้วเพราะเป็นหลักฐานเช่นเดียวกับการที่อธิบดีกรมอัยการลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาเมื่อฎีกาของจำเลยอธิบดีกรมอัยการได้รับรองให้ฎีกาแล้ว ศาลฎีกาจึงชอบที่จะวินิจฉัยฎีกาของจำเลยได้
ในการวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงตามที่จำเลยฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่าข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีโจทก์ที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของตลาดราชวัตร ส่วนจำเลยมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าเขตดุสิต กรุงเทพมหานครมีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมดูแลการก่อสร้างอาคารในเขตดุสิตให้เป็นไปตามกฎหมาย เมื่อประมาณปี 2524 โจทก์ที่ 1 ทำการก่อสร้างปรับปรุงตลาดราชวัตร ใหม่ครั้นวันที่ 5 พฤษภาคม 2526 เวลา 10 นาฬิกาเศษ ขณะที่โจทก์ที่ 1ปรับปรุงก่อสร้างตลาดราชวัตร ยังไม่เสร็จ จำเลยกับพวกได้พากันไปที่บริเวณตลาดราชวัตร ที่โจทก์ที่ 1 กำลังทำการปรับปรุงก่อสร้างแล้วพูดกับคนงานของโจทก์ที่ 1 นับร้อยคนต่อหน้าพ่อค้าแม่ค้าที่มาฟังว่า ให้คนงานหยุดทำงาน การก่อสร้างที่ผ่านมาแล้วต้องทุบทิ้งเพราะก่อสร้างผิดแบบ ใครขืนทำต่อไปก็จะถูกจับกุม คอยอยู่อีกกี่ปีก็ไม่มีทางสร้างได้ ขืนอยู่ต่อไปก็จะอดตาย ทั้งผู้จัดการก็หลบหนีไปแล้ว”…
“ที่จำเลยฎีกาว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดเพราะจำเลยกล่าวข้อความตามฟ้องโดยสุจริตในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติตามหน้าที่นั้น จำเลยนำสืบฟังได้ว่า โจทก์ก่อสร้างตลาดผิดจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตและก่อสร้างต่อไปโดยไม่ขอต่ออายุใบอนุญาตจำเลยให้โจทก์ปฏิบัติการให้ถูกต้อง โจทก์ก็เพิกเฉย เจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงมีหนังสือหมาย ล.11 ลงวันที่ 11 มกราคม 2526 ไปยังโจทก์ที่ 1 ให้โจทก์ที่ 1 ระงับการก่อสร้าง แล้วจำเลยให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีแก่โจทก์ที่ 1 ต่อมาโจทก์ที่ 2 หลบหนี พนักงานสอบสวนได้ออกหมายจับโจทก์ที่ 2 ไว้ รายละเอียดปรากฏตามรายงานแจ้งผลคดีและหมายจับหมาย ล.13 จำเลยกล่าวถ้อยคำตามฟ้องเพื่อชี้แจงให้คนงานทราบว่า การก่อสร้างทั้งหมดเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะก่อสร้างผิดแบบแปลนและใบอนุญาตหมดอายุแล้ว ตามกฎหมายนั้นคนงานอาจมีความผิดด้วย ถ้าทางเขตจะแจ้งจับกุมคนงานก็ย่อมทำได้ แต่ทางเขตเห็นใจคนงาน จำเลยขอให้คนงานหยุดก่อสร้างและอย่าได้รอทำงานเพราะกว่าจะแก้ไขให้ถูกต้องก็ต้องใช้เวลาหลายเดือนคนงานจะอดตาย ให้ไปหางานที่อื่นทำ เช่นนี้ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จำเลยกล่าวถ้อยคำตามฟ้องทั้งหมดนั้นเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ในฐานะที่จำเลยเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่แม้จำเลยจะได้ใช้ถ้อยคำว่า”โจทก์ที่ 1 เป็นบริษัทเลว ๆ” ตามที่วินิจฉัยไว้แล้วก็เป็นเพียงการใช้ถ้อยคำที่ไม่สมควรและเกินเลยไปบ้าง จำเลยจึงยังไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(2)”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์