คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1530/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้การท่าเรือแห่งประเทศไทยจำเลยจะเป็นผู้ทำการเก็บรักษาสินค้า แต่ก็ปรากฏว่าการรับฝากสินค้า 3 วันแรก จำเลยไม่คิดค่าฝาก หากเจ้าของสินค้าไม่มารับสินค้านั้นภายใน 3 วัน จำเลยจะคิดค่าฝากในอัตราก้าวหน้า เพื่อเป็นการเร่งรัดให้เจ้าของสินค้ารีบนำสินค้าออกจากโรงพักสินค้าโดยเร็ว และการที่เจ้าของสินค้าฝากสินค้าดังกล่าวไว้ก็เพื่อรอผ่านพิธีทางศุลกากร เช่นนี้ การที่จำเลยรับทำการเก็บรักษาสินค้าก็เพื่อประโยชน์ของกรมศุลกากรในการเรียกเก็บภาษี หาใช่เพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติของตนไม่ จำเลยจึงมิใช่นายคลังสินค้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 770 จะนำมาตรา 772 ประกอบมาตรา616 แห่งประมวลกฎหมายดังกล่าวมาบังคับแก่จำเลยหาได้ไม่
แม้เหตุที่เกิดเพลิงไหม้โรงพักสินค้าของจำเลยจะยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ก็ไม่ได้ความว่าเกิดจากความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่จำเลย เนื่องจากในวันเวลาเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ของจำเลยและกรมศุลกากรได้ร่วมกันปิดประตูโรงพักสินค้าตามระเบียบของจำเลยแล้ว เมื่อเกิดเพลิงไหม้ยามสายตรวจของจำเลยก็ได้วิทยุแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ มีรถดับเพลิง 2 คันมาช่วยดับเพลิง แต่ไม่อาจดับได้ทันท่วงทีเพราะเป็นเวลาปิดโรงพักสินค้าแล้ว เจ้าหน้าที่ของจำเลยไม่อาจเปิดประตูโรงพักสินค้าที่เกิดเหตุได้โดยลำพัง จะต้องให้เจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรร่วมเปิดด้วย จึงไม่อาจเข้าไปดับให้ถึงต้นเพลิงหรือสกัดเพลิงที่กำลังลุกไหม้ในโรงพักสินค้าได้ พฤติการณ์เช่นนี้ เป็นการที่จำเลยได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์ที่รับฝากเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้น ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 659 แล้วจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในสินค้าที่โจทก์รับประกันภัยไว้ต้องถูกไฟไหม้เสียหาย.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยรับฝากสินค้าเพื่อบำเหน็จตอบแทนเป็นปกติในทางการค้า อันเป็นวิธีการรับฝากของในคลังสินค้าเพื่อพิธีการทางศุลกากรนำเข้าแต่เพียงผู้เดียว บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อิน-เอ็กซ์ จำกัด ได้สั่งซื้ออาหารเสริมสำหรับสัตว์จากสิงค์โปร์จำนวน 648 หีบห่อและห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลไทยฮวดได้สั่งซื้อลูกปัดแก้วสำหรับสีเครื่องหมายจราจรจากออสเตรเลียจำนวน 1,588 กระสอบเข้ามาในประเทศไทย โจทก์ได้รับประกันความเสียหายในสินค้าดังกล่าวภายในวงเงิน 1,666,387.20 บาท และ442,728 บาทตามลำดับ เมื่อสินค้าดังกล่าวมาถึงท่าเรือกรุงเทพจำเลยตกลงเก็บรักษาสินค้านั้นไว้โดยคิดค่าบำเหน็จตามอัตราที่จำเลยกำหนด ระหว่างที่สินค้าอยู่ในครอบครองของจำเลยได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่คลังสินค้าเป็นเหตุให้สินค้าที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย โดยจำเลยไม่ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้ โจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อิน-เอ็กซ์ จำกัด เป็นเงิน881,795.87 บาท และห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลไทยฮวด เป็นเงิน221,364 บาท โจทก์ย่อมเป็นผู้ได้รับช่วงสิทธิ ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยดำเนินธุรกิจเก็บของในคลังสินค้าแต่มีโรงพักสินค้าเพื่อประโยชน์แก่นายเรือหรือตัวแทนเรือที่จะนำสินค้าเข้าเก็บในโรงพักสินค้าเพื่อพิธีการของศุลกากรโดยไม่เสียค่าฝากหรือค่าบำเหน็จใดๆ ถ้าฝากสินค้าไว้ภายใน 3วัน ถ้าเกิน 3 วันจำเลยจะปรับผู้นำสินค้ามาฝาก ซึ่งค่าปรับมิใช่ค่ารับฝาก สินค้าได้รับความเสียหายเพราะอุบัติเหตุและเป็นเหตุสุดวิสัย โดยจำเลยได้ระมัดระวังเป็นอย่างดีแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…ที่โจทก์ฎีกาว่า การดำเนินธุรกิจรับฝากสินค้าของจำเลย ถือได้ว่าเป็นการรับเก็บของในคลังสินค้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 770 ชอบที่จะนำมาตรา 772 ประกอบด้วยมาตรา 616 มาใช้บังคับให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์นั้นเห็นว่า บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวใช้บังคับแก่ผู้เป็นนายคลังสินค้า แม้จำเลยจะเป็นผู้ทำการเก็บรักษาสินค้าก็ตามแต่โจทก์เองก็ยอมรับในฎีกาของโจทก์ว่า การรับฝากสินค้า3 วันแรก จำเลยจะไม่คิดค่าฝากสินค้านั้นซึ่งความข้อนี้เจือสมกับคำเบิกความของนายชาญ พินิจประภา ผู้อำนวยการกองตู้สินค้าของจำเลย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามคำเบิกความของนายชาญ ต่อไปอีกว่า หากเจ้าของสินค้าไม่มารับสินค้านั้นภายใน 3 วัน จำเลยจะคิดค่าฝากในอัตราก้าวหน้าเพื่อเป็นการเร่งรัดให้เจ้าของสินค้ารีบนำสินค้าออกจากโรงพักสินค้าของจำเลยโดยเร็วดังที่จำเลยนำสืบ นอกจากนี้นายบุญดี ภู่พกสกุล พยานโจทก์ก็เบิกความว่า ที่ต้องฝากสินค้าไว้กับจำเลยนั้น เพื่อรอผ่านพิธีการทางศุลกากร จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่าการที่จำเลยรับทำการเก็บรักษาสินค้าก็เพื่อประโยชน์ของกรมศุลกากรในการเรียกเก็บภาษี หาใช่เพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติของตน จำเลยจึงมิใช่นายคลังสินค้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 770 จะนำมาตรา 772 ประกอบด้วยมาตรา 616 แห่งประมวลกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่จำเลยหาได้ไม่
ที่โจทก์ฎีกาข้อต่อไปว่า การรับฝากทรัพย์ตามฟ้องทั้งสองสำนวนมีบำเหน็จแต่จำเลยผู้รับฝากไม่ได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา659 วรรคสอง และวรรคสาม ทำให้สินค้าที่โจทก์รับประกันภัยไว้ต้องถูกไฟไหม้เสียหาย จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น โจทก์มีร้อยตำรวจเอกธานินทร์ อมาตยกุล ซึ่งรับราชการอยู่ที่กองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจเบิกความว่าได้ไปตรวจสถานที่ที่เกิดเหตุพบว่า อาคารที่เกิดเหตุทำด้วยอิฐบล็อก ไม่พบสายไฟบริเวณจุดที่เกิดเหตุ และไม่พบวัตถุที่จะลุกไหม้เอง ส่วนสาเหตุที่เกิดเพลิงไหม้นั้น ร้อยตำรวจเอกธานินทร์ ได้ทำรายงานไว้ตามเอกสารหมาย จ.22 โดยสันนิษฐานว่า โรงพักสินค้าที่เกิดเหตุ มีการขนถ่ายสินค้าเข้าและออกอยู่ตลอดเวลาที่เปิดทำงานอาจจะมีบุคคลทำหรือลืมทิ้งวัตถุที่มีไฟติดอยู่ เช่นพวกก้นบุหรี่ตกลงไปทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้ เห็นว่าตามคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกธานินทร์ ก็ไม่แน่ชัดว่าเกิดเพลิงไหม้เพราะเหตุใด ในเรื่องเกี่ยวกับความระมัดระวังในการเก็บสินค้านั้นนายไพฑูรย์ จันทร์สิงห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการกองกฎหมายของจำเลยเบิกความว่า จำเลยได้ออกข้อบังคับว่าด้วยระเบียบความปลอดภัยระเบียบว่าด้วยการป้องกันและการปฏิบัติเมื่อเกิดอัคคีภัยคำสั่งเรื่องการรักษาความปลอดภัยและการกวดขันการสูบบุหรี่ของพนักงานจำเลย ตามเอกสารหมาย ล.2, ล.3, ล.4 ในทางปฏิบัตินายทวิช นรเดชานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์รักษาความปลอดภัยของจำเลยเบิกความว่า จำเลยจัดเจ้าหน้าที่ออกผลัดเปลี่ยนกันรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง และมีการซ้อมการดับเพลิงหลายครั้ง นอกจากนี้จำเลยยังมีนายชาญ พินิจประภา ผู้อำนวยการกองตู้สินค้าของจำเลยเบิกความว่าสินค้าที่มีอันตรายจำเลยจะมีที่เก็บไว้ต่างหากทั้งยังได้เตรียมเครื่องดับเพลิง รถดับเพลิงไว้ด้วย คำเบิกความของพยานจำเลยดังกล่าวไม่มีข้อพิรุธแต่อย่างใด ทั้งโจทก์มิได้นำสืบในเรื่องนี้ให้เห็นเป็นอย่างอื่น แม้เหตุที่เกิดเพลิงไหม้จะยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ก็ไม่ได้ความว่าเกิดจากความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่จำเลย เมื่อได้พิจารณาจากรายงานของคณะกรรมการสอบสวนเรื่องผลการศึกษาเหตุเพลิงไหม้ที่โรงพักสินค้า 12…ที่ได้ความว่า ในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ17 นาฬิกาเศษ เจ้าหน้าที่ของจำเลยและกรมศุลกากรได้ร่วมกันปิดประตูโรงพักสินค้าตามระเบียบ เมื่อเกิดเพลิงไหม้แล้วยามสายตรวจของจำเลยก็ได้วิทยุแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ มีรถดับเพลิง 2 คันของการปิโตรเลี่ยม และของเจ้าหน้าที่ตำรวจท่าเรือมาช่วยดับเพลิง แต่ไม่อาจดับเพลิงได้ทันท่วงที เพราะเป็นเวลาปิดโรงพักสินค้าแล้ว เจ้าหน้าที่ของจำเลยไม่อาจเปิดประตูโรงพักสินค้าที่เกิดเหตุได้โดยลำพัง จะต้องให้เจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรร่วมเปิดด้วยจึงไม่อาจเข้าไปดับให้ถึงต้นเพลิง หรือสกัดเพลิงที่กำลังลุกไหม้ในโรงพักสินค้าได้จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์ที่รับฝากเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้น ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่โจทก์อ้างดังกล่าวข้างต้นแล้ว จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์…’
พิพากษายืน.

Share