แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นบุตรของมารดาซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่ปรากฏบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงไม่อาจถูกถอนสัญชาติไทยด้วยกรณีของมารดาได้ ส่วนบิดาของจำเลยและจำเลยเป็นบุคคลสัญชาติไทยโดยการเกิดในราชอาณาจักรและจำเลยเกิดในขณะที่บิดาจำเลยมีสัญชาตไทย ดังนี้แม้ต่อมาในภายหลังบิดาจำเลยจะถูกถอนสัญชาติไทย ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 จำเลยก็หาถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวด้วยไม่
ในคดีที่ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลอุทธรณ์มิได้ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเกิดเมื่อใด ศาลฎีกามีอำนาจฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้.
ย่อยาว
คดีสองสำนวนพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยเรียกจำเลยสำนวนแรกว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยสำนวนหลังว่าจำเลยที่ 2
สำนวนแรกโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2521 มาตรา 12, 34
สำนวนหลังโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2521 มาตรา 22, 39
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามฟ้อง จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 เดือน ปรับ 1,500 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 เดือน ปรับ 2,000 บาท รอการลงโทษ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อที่จำเลยทั้งสองฎีกาความว่า ขณะที่นายสมจรจำเลยเกิดนั้นปรากฏหลักฐานว่าบิดาเป็นคนไทย นายสมจรจำเลยจึงไม่ต้องถูกถอนสัญชาติไทย ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 นั้น พิเคราะห์แล้ว ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 บัญญัติว่า ข้อ 1 ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายและในขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็น
(1) ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย
(2) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว หรือ
(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
ทั้งนี้ เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นสมควรและสั่งเฉพาะรายเป็นประการอื่น
เห็นว่า การที่บุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยจะถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวนั้น ในประการแรกจะต้องปรากฏว่าบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีของนายสมจรจำเลยนี้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงมาแล้วว่าในขณะที่เกิดนายสมจรจำเลยเป็นบุตรของมารดาซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้นายสมจรจำเลยจึงไม่อาจถูกถอนสัญชาติไทยด้วยกรณีของมารดาได้ ส่วนกรณีของบิดานั้นข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมาว่านายประกอบหรือเต่ยบิดาของนายสมจรจำเลยเกิดเมื่อ พ.ศ. 2473 ที่จังหวัดนครพนม เป็นบุคคลสัญชาติไทยโดยการเกิดในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติสัญชาติและนายสมจรจำเลยก็เป็นบุคคลสัญชาติไทยโดยการเกิดในราชอาณาจักรเช่นกัน แต่ศาลอุทธรณ์มิได้ฟังข้อเท็จจริงว่า นายสมจรจำเลยเกิดเมื่อใดซึ่งศาลฎีกามีอำนาจฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้ ได้ความจากทะเบียนบ้านญวนอพยพเอกสารหมาย จ.3 และทะเบียนบ้านเอกสารหมาย ล.2 ว่า นายสมจรจำเลยเกิดเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2506 ดังนี้ ขณะที่นายสมรจำเลยเกิด นายประกอบหรือเต่ยบิดาของนายสมจรจำเลยมีสัญชาติไทย แม้นายประกอบหรือเต่ยบิดาของนายสมจรจำเลยจะได้ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ในภายหลังก็ตามนายสมจรจำเลยก็หาถูกเพิกถอนสัญชาติตามประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวไม่ ถือไม่ได้ว่านายสมจรจำเลยเป็นบุคคลต่างด้าว โดยการถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่13 ธันวาคม 2515 การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดดังโจทก์ฟ้อง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์.