คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1424/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางที่วินิจฉัยในประเด็นว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยหรือไม่ เพียงแต่สรุปเป็นข้อเท็จจริงที่ฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย เพราะโจทก์ได้เปอร์เซ็นต์จากค่าขายโฆษณาและมีนามบัตรที่จำเลยให้โจทก์กับคณะไปแสดงต่อ บุคคลภายนอกในการติดต่อหาโฆษณาว่าโจทก์และคณะอยู่ที่สำนักงานของจำเลย ไม่ได้วินิจฉัยหรือแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยให้ชัดแจ้งว่าที่รับฟังเช่นนั้นโจทก์มีพยานหลักฐานใดมาแสดง หรือศาลมีเหตุผลในการรับฟังอย่างไร จึงมีผลเท่ากับศาลแรงงานกลางยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงในประเด็นข้อพิพาท เป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 51ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยไมได้อุทธรณ์แต่เป็นกรณีที่ศาลแรงงานกลางไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยคำพิพากษาหรือคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(1) ซึ่งนำมาใช้บังคับในศาลแรงงานกลางตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง และย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงในประเด็นข้อพิพาทให้ถูกต้องแล้วพิพากษาใหม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย โจทก์ลาออกจากงานแล้ว แต่จำเลยค้างค่านายหน้าโจทก์ ทวงถามแล้วก็ไม่ชำระขอให้บังคับจำเลยชำระแก่โจทก์ จำเลยให้การว่าไม่เคยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างโจทก์เป็นเพียงนายหน้าหาโฆษณามาให้จำเลย จำเลยไม่เคยค้างค่านายหน้าโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่านายหน้าแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์มิได้เป็นลูกจ้างของจำเลยเพราะโจทก์เพียงเป็นผู้หาโฆษณาให้แก่จำเลยโดยได้รับค่านายหน้าเป็นค่าตอบแทน โจทก์จึงมีฐานะเป็นนายหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 845 ไม่มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8 พิเคราะห์แล้ว เห็นว่ากรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างหรือค่านายหน้าจากจำเลยโดยกล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย แต่จำเลยให้การปฏิเสธว่าโจทก์มิได้เป็นลูกจ้างของจำเลยเพราะโจทก์เป็นเพียงนายหน้าหาโฆษณาให้แก่จำเลยโดยได้รับค่านายหน้าเป็นเปอร์เซ็นต์จากเงินค่าโฆษณาที่หามาได้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลางนั้น ประเด็นข้อพิพาท ซึ่งศาลแรงงานกลางจะต้องวินิจฉัยจึงมีว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยหรือไม่ ถ้าข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยแล้วโจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลางและโดยที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 51บัญญัติเรื่องการทำคำพิพากษาหรือคำสั่งไว้ว่า”คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงานให้ทำเป็นหนังสือและต้องกล่าวหรือแสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุป และคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีพร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยนั้น” ฉะนั้นในการวินิจฉัยหรือรับฟังข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยหรือไม่นั้น ศาลแรงงานกลางต้องแสดงเหตุผลแห่งการวินิจฉัยหรือการรับฟังให้ชัดแจ้ง คดีนี้ปรากฏว่าศาลแรงงานกลางรับฟังว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยโดยสรุปเป็นข้อเท็จจริงซึ่งฟังได้ในเบื้องต้นเพียงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างเพราะเป็นลูกจ้างประเภทได้เปอร์เซ็นต์จากค่าขายโฆษณา และมีนามบัตรที่จำเลยให้โจทก์กับคณะไปแสดงต่อบุคคลภายนอกในการติดต่อหาโฆษณาว่าโจทก์และคณะอยู่ที่สำนักงานของจำเลย ศาลแรงงานกลางมิได้วินิจฉัยหรือแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวงให้ชัดแจ้งว่าที่รับฟังว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยนั้น โจทก์มีพยานหลักฐานใดมาแสดงต่อศาลหรือศาลมีเหตุผลในการรับฟังอย่างไรบ้าง การที่ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงซึ่งเป็นประเด็นแห่งคดีโดยวิธีสรุปเป็นข้อเท็จจริงซึ่งรับฟังได้ในเบื้องต้น ย่อมมีผลเท่ากับศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงในประเด็นข้อพิพาทตามที่คู่ความโต้เถียงกัน คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าวปัญหาข้อนี้ แม้จำเลยจะมิได้อุทธรณ์ แต่เป็นกรณีที่ศาลแรงงานกลางมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยคำพิพากษาหรือคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(1) ซึ่งนำมาใช้บังคับในศาลแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง และเห็นสมควรย้อนสำนวนไปยังศาลแรงงานกลางเพื่อให้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในประเด็นข้อพิพาทให้ถูกต้องและพิพากษาใหม่ ในชั้นนี้จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลย”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงในประเด็นแห่งคดีดังกล่าวแล้วพิพากษาใหม่ต่อไป

Share