คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1367/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่จำเลยเอาหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ร่วมไปจากโจทก์ร่วมและนำไปใช้อายัดต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ห้ามทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินแปลงนั้นแม้หนังสือสัญญาจะซื้อขายฉบับดังกล่าวจะถูกยกเลิกไปแล้วโดยคู่สัญญาได้ทำสัญญาขึ้นใหม่แล้วก็ตามการกระทำของจำเลยก็ถือได้ว่าเป็นการเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นและทำให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายแล้ว จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา188, 83 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์และโจทก์ร่วมที่ 2 ฎีกา โดยอธิบดีกรมอัยการลงลายมือชื่อรับรองว่ามีเหตุอันควรที่ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่าเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2524 โจทก์ร่วมทั้งสองได้ทำสัญญาจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 2290 ที่มีกรรมสิทธิ์ร่วมกันให้ จำเลยที่ 1ในราคา 340,000 บาท ในวันนั้นได้วางมัดจำไว้ 50,000 บาทจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรจำเลยที่ 1 และนายวัฒนา เดชพ่วงลงลายมือชื่อเป็นพยาน ได้ทำหนังสือสัญญา 2 ฉบับข้อความตรงกันให้คู่สัญญาเก็บไว้ฝ่ายละ 1 ฉบับ ปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายหนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำเอกสารหมาย จ.2ต่อมาเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2525 จำเลยที่ 1 วางมัดจำเพิ่มอีก 25,000 บาทและวันที่ 4 มกราคม 2525 วางมัดจำเพิ่มอีก 30,000 บาท นางสาวโสภาวดี เดชพ่วง เขียนข้อความการรับเงินมัดจำทั้งสองครั้งให้โจทก์ร่วมที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ในต้นฉบับหนังสือสัญญาทั้งสองฉบับ ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาจะซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 2290 ตามฟ้องกับโจทก์ร่วมทั้งสองในราคา340,000 บาท ในสัญญาระบุไว้ว่าได้วางมัดจำไว้ 112,000 บาทได้ทำหนังสือสัญญา 2 ฉบับ ข้อความตรงกัน ให้คู่สัญญาถือไว้ฝ่ายละ 1 ฉบับ ปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายหนังสือจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำลงวันที่ 25 ธันวาคม 2524 ที่ดินแปลงนี้ได้จำนองไว้แก่นายพินิชเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2507 เพื่อเป็นประกันหนี้ที่โจทก์ร่วมทั้งสองกู้ยืมเงินจากนายพินิชเป็นเงิน 150,000 บาท ยังมิได้ไถ่ถอนจำนอง คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมที่ 2 ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยทั้งสองร่วมกันเอาไปเสียซึ่งต้นฉบับหนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำ ลงวันที่25 พฤศจิกายน 2524 ตามสำเนาภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.2จากความครอบครองของโจทก์ร่วมที่ 1 ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมทั้งสองหรือไม่ เชื่อว่าในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้องจำเลยทั้งสองกับพวกมาที่บ้านโจทก์ร่วมทั้งสองถามโจทก์ร่วมที่ 1 ว่าพบนายพินิช ผู้รับจำนองที่ดินแล้วหรือยังและพูดขอดูต้นฉบับหนังสือสัญญาสำเนาภาพถ่ายหนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำเอกสารหมาย จ.2 ที่โจทก์ร่วมทั้งสองถือไว้ โจทก์ร่วมที่ 1 ก็นำมาให้ดู ขณะที่โจทก์ร่วมที่ 1กับพวกกำลังสาละวนอยู่กับการเก็บพิมพ์พระที่ตากไว้ในลานบ้านเพราะฝนตก จำเลยที่ 2 ก็เอาหนังสือสัญญาดังกล่าวไป แล้วจำเลยทั้งสองกับพวกก็พากันกลับไปโดยไม่รอให้โจทก์ร่วมที่ 1กลับเข้ามาในบ้านเสียก่อน ต่อมาจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบิดาจำเลยที่ 2นำหนังสือสัญญาดังกล่าวไปขออายัดต่อเจ้าพนักงานที่ดินขอให้ห้ามทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 2290จนเจ้าพนักงานที่ดินรับอายัดไว้ ต่อมาจำเลยที่ 1 นำหนังสือสัญญาดังกล่าวมาฟ้องโจทก์ร่วมทั้งสองเป็นจำเลยต่อศาลแพ่งธนบุรีในข้อหาผิดสัญญา พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองทั้งหมด ถือได้ว่าร่วมกระทำด้วยกัน ในปัญหาว่าการกระทำดังกล่าวของจำเลยทั้งสองจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 หรือไม่ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า แม้หนังสือสัญญาจะซื้อขายฉบับที่โจทก์นำมาฟ้องจะถูกยกเลิกไปแล้ว โดยคู่สัญญาได้ทำสัญญากันใหม่ เปลี่ยนคู่สัญญาฝ่ายผู้จะซื้อจากจำเลยที่ 1เป็นจำเลยที่ 2 ก็ตาม แต่หนังสือสัญญาฉบับนี้ก็ยังเป็นเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (7) และเป็นของโจทก์ร่วมทั้งสองเพราะเป็นหนังสือสัญญาฉบับที่คู่สัญญาให้โจทก์ทั้งสองยึดถือไว้ทั้งการกระทำดังกล่าวของจำเลยทั้งสองก็ถือได้ว่าเป็นการเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นและทำให้โจทก์ร่วมทั้งสองได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยทั้งสองได้นำเอกสารดังกล่าวไปเป็นหลักฐานในการขออายัดที่ดินตามที่โจทก์ฟ้องแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมที่ 2 ฟังขึ้น”
พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188, 83 จำคุกคนละ 3 เดือน

Share