คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1207/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาใดจะเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนหรือไม่ต้องพิจารณาจากเจตนาของนายจ้างและลูกจ้างขณะทำสัญญาประกอบข้อความในสัญญานั้นเป็นประการสำคัญ ส่วนการที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจะดำเนินกิจการชั่วคราวอันอาจเลิกกิจการ ณ เวลาใดเวลาหนึ่งได้หรือไม่หาใช่ข้อสำคัญในการนำมาวินิจฉัยไม่ เมื่อปรากฏว่าข้อความในสัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดเวลาแน่นอน และสัญญาจ้างสิ้นสุดลงตามกำหนดเวลานั้นแล้ว เช่นนี้ต้องถือว่าไม่ใช่กรณีที่จำเลยเลิกจ้างอันจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์
โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์จำเลยมีเจตนาทำสัญญาจ้างที่ไม่กำหนดระยะเวลาการจ้างที่แน่นอนเป็นอุทธรณ์ที่โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน เป็นข้อเท็จจริงอันต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 วรรคแรก.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและค่าเสียหายอันเกิดแต่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
จำเลยให้การว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดเวลาที่แน่นอนและสัญญาจ้างสิ้นสุดลงตามกำหนดระยะเวลาแล้ว มิใช่เป็นกรณีเลิกจ้างโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ‘โจทก์อุทธรณ์เป็นข้อแรกว่าโรงเรียนสถานศึกษานานาชาติของจำเลยมิใช่เป็นโรงเรียนเฉพาะกาลมิใช่โรงเรียนที่ตั้งขึ้นเพื่อการศึกษาโดยกำหนดเวลาการศึกษาเป็นครั้งคราวตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลาง ทั้งนี้ เพราะจำเลยมิได้ต่อสู้ความข้อนี้ให้เป็นประเด็นไว้ในคำให้การ ศาลควรฟังข้อเท็จจริงตามคำฟ้องว่า การดำเนินกิจการโรงเรียนของจำเลยมีลักษณะงานที่จะต้องให้ครูทำการสอนติดต่อกันตลอดไป มิใช่เป็นการชั่วคราว พิเคราะห์แล้วเห็นว่าโรงเรียนสถานศึกษานานาชาติของจำเลย ซึ่งได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8ตุลาคม 2500 ตามเอกสารหมาย จ.36 นั้น จะเป็นโรงเรียนเฉพาะกาล เป็นโรงเรียนที่ตั้งขึ้นเพื่อการศึกษาโดยกำหนดเวลาการศึกษาเป็นครั้งคราวหรือไม่ก็ตามก็หาเป็นข้อสำคัญประการใดไม่ แม้จำเลยจะดำเนินกิจการชั่วคราว และแม้อาจเลิกกิจการ ณ เวลาใดเวลาหนึ่งจริงหรือไม่ก็ตาม ถ้าโจทก์จำเลยมิได้จ้างกันตามกำหนดชั่วคราวนั้นหรือตามกำหนดที่อาจเลิกกิจการแล้ว สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยก็หาเป็นสัญญาจ้างที่กำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนไม่ ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่251-253/2529 คดีระหว่าง นายนิคม ช่วยไล่ กับพวก โจทก์ บริษัทบอสเวลล์อินเตอร์เนชั่นแนล สิงคโปร์ (พี.ที.อี.) จำกัด จำเลย สัญญาใดจะเป็นสัญญาจ้างที่กำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนหรือไม่พึงพิจารณาจากเจตนาของนายจ้างลูกจ้างขณะทำสัญญาและพิจารณาจากข้อความในสัญญานั้นเป็นการสำคัญ ซึ่งจะได้ว่ากล่าวกันต่อไปในอุทธรณ์ข้อที่สอง
โจทก์อุทธรณ์ข้อที่สองว่า จำเลยต้องจ้างครูสอนในโรงเรียนของจำเลยโดยไม่มีที่สิ้นสุด จำเลยจ้างโจทก์ติดต่อกันถึง 19ปีแล้ว โจทก์จำเลยมีเจตนาที่จะจ้างกันโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างที่แน่นอน ในปัญหาดังกล่าว ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาหน้า 11 ว่า การที่โจทก์อ้างว่างานสอนเป็นงานที่ต้องทำติดต่อกันระหว่างที่ทำสัญญากันเป็นครั้งแรก ทั้งโจทก์และจำเลยก็ไม่ทราบว่าจะมีการทำงานร่วมกันต่อไปอีกนานเท่าไร เป็นการกล่าวยกเหตุผลขึ้นลอยๆ และวินิจฉัยอีกตอนหนึ่งในคำพิพากษาหน้า 13 ว่า การที่จำเลยทำสัญญาจ้างเช่นนั้นเป็นเจตนาโดยตรงในการทำสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน ศาลฎีกาเห็นว่านายจ้างกับลูกจ้างทำสัญญากันโดยมีเจตนาประการใด เป็นปัญหาข้อเท็จจริง ศาลแรงงานกลางฟังว่าโจทก์จำเลยมีเจตนาทำสัญญาจ้างโดยมีกำหนดระยะเวลาการจ้างที่แน่นอนโจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์จำเลยมีเจตนาทำสัญญาจ้างที่ไม่กำหนดระยะเวลาการจ้างที่แน่นอน จึงเป็นอุทธรณ์ที่โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงเป็นอุทธรณ์ที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคแรก ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้…
สำหรับสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งประกอบด้วยสัญญาจ้างสำหรับปีการศึกษา พ.ศ. 2524 พ.ศ. 2525 พ.ศ. 2526 และ พ.ศ. 2527 อันเป็นสัญญาบางฉบับที่โจทก์จำเลยทำกันมาก่อน และสัญญาฉบับสุดท้ายตามเอกสารหมาย จ.3 นั้น เห็นว่า สัญญาเอกสารหมาย จ.2 ฉบับแรกจ้างกันมีกำหนด 182 วัน คิดค่าจ้างตามระยะเวลาการจ้าง 544,259.20 บาทฉบับที่สองจ้างกันมีกำหนด 180 วัน คิดค่าจ้างตามระยะเวลาการจ้าง 496,629 บาท ฉบับที่สามจ้างกันมีกำหนด 179 วันเริ่มต้นวันที่ 23 สิงหาคม 2526 สิ้นสุดวันที่ 9 มิถุนายน 2527 คิดค่าจ้างตามระยะเวลาการจ้าง 505,620 บาท ฉบับที่สี่จ้างกันมีกำหนด 184วัน เริ่มต้นวันที่ 22 สิงหาคม 2527 สิ้นสุดวันที่ 8 มิถุนายน 2528คิดค่าจ้างตามระยะเวลาการจ้าง 536,482 บาท สัญญาฉบับสุดท้ายเอกสารหมาย จ.3 อันเป็นสัญญาฉบับสุดท้ายจ้างกันมีกำหนด 184 วัน เริ่มต้นวันที่ 9 สิงหาคม 2528 สิ้นสุดวันที่ 31 พฤษภาคม 2529 คิดค่าจ้างตามระยะเวลาการจ้าง 792,640 บาท ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.2ฉบับที่สาม ฉบับที่สี่และสัญญาฉบับสุดท้ายเอกสารหมาย จ.3เห็นได้ว่าได้กำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน มีวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดเป็นการแน่นอน สัญญาแต่ละฉบับมีระยะเวลาไม่ติดต่อสืบเนื่องกัน เมื่อสัญญาจ้างเป็นดังนี้ประกอบกับศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อ 19 ปีที่แล้วมา สัญญาจ้างฉบับแรกที่ทำกัน โจทก์จำเลยมีเจตนาทำสัญญาจ้างโดยมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน ศาลฎีกาเห็นว่า นายจ้างลูกจ้างมีเจตนาประการใดแล้วทำสัญญาตามเจตนานั้น หาใช่เป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมายในการจ่ายค่าชดเชยไม่ และต้องถือตามข้อความในสัญญาว่าเป็นสัญญาจ้างที่กำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนเมื่อเป็นเช่นนี้ คดีจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอุทธรณ์โจทก์ถึงการที่โจทก์ไปศึกษาต่อต่างประเทศตามระเบียบเอกสารหมายจ.12 และคำอนุมัติของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.11 ว่าจะมีผลเป็นประการใดอีกต่อไป อุทธรณ์โจทก์ข้อที่สองฟังไม่ขึ้น…’
พิพากษายืน.

Share