คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1159/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีที่นายจ้างขอเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างโดยกล่าวหาว่ากระทำผิดนั้น การเลิกจ้างจำต้องอยู่ภายใต้บังคับระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เมื่อความผิดฐานแจ้งอาการป่วยด้วยความเท็จตามระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องกำหนดให้ผู้ร้องมีสิทธิเลิกจ้างลูกจ้างได้ก็ต่อเมื่อได้ลงโทษด้วยการเตือนเป็นหนังสือก่อนแล้ว ดังนั้นเมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ร้องเคยลงโทษผู้คัดค้านซึ่งเป็นลูกจ้างด้วยการเตือนเป็นหนังสือมาก่อน แม้ผู้ร้องจะขอเลิกจ้างโดยยินยอมจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าก็ไม่ทำให้ผู้ร้องมีสิทธิเลิกจ้าง.

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่านายชาญยุทธ ปัญจรักลูกจ้างของผู้ร้องทำงานตำแหน่งพนักงานทำความสะอาดเป็นกรรมการลูกจ้าง ตั้งแต่เดือนมกราคม 2530 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2530 ได้ใช้สิทธิลาป่วยเป็นจำนวน 28 วันโดยไม่สุจริต ทำให้ผู้ร้องเสียหาย การกระทำของนายชาญยุทธเป็นการจงใจทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47 (2) ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างนายชาญยุทธ โดยผู้ร้องยินยอมจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ตามกฎหมาย
นายชาญยุทธยื่นคำคัดค้านว่าผู้คัดค้านได้ใช้สิทธิลาป่วยโดยสุจริตการลาป่วยของผู้คัดค้านมิได้เกินกว่ามาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายที่กำหนดสิทธิให้กับลูกจ้างผู้คัดค้านมิได้จงใจทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย การเลิกจ้างไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ.2518 มาตรา 121 และมาตรา 123 ขอให้ยกคำร้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการที่ผู้คัดค้านขอลาป่วยตามสิทธิทั้ง 28 วันโดยหลายวันไม่ได้ป่วยจริง ผู้คัดค้านมีเจตนาหลีกเลี่ยงในการปฏิบัติหน้าที่ ถือได้ว่าผู้คัดค้านเจ็บป่วยจนหย่อนสมรรถภาพในการทำงาน ย่อมเป็นเหตุสมควรที่ผู้ร้องจะเลิกจ้างผู้คัดค้านได้เพื่อมิให้กิจการของผู้ร้องต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงในด้านความสะอาดและบริการไม่ดี อนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านได้
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ‘ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่าการที่ผู้คัดค้านลาป่วยเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงการปฏิบัติงานตามหน้าที่นั้น ผู้คัดค้านใช้สิทธิลาป่วยถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน จึงไม่ใช่เป็นการจงใจทำให้ผู้ร้องไดรับความเสียหาย และไม่ใช่เป็นความผิดกรณีที่ร้ายแรงซึ่งผู้ร้องจะมีสิทธิเลิกจ้างผู้คัดค้านโดยไม่ต้องตักเตือนเป็นหนังสือตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้อง อีกประการหนึ่ง การที่ผู้ร้องขอเลิกจ้างผู้คัดค้านในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างผู้ร้องกับสหภาพแรงงาน ซึ่งผู้คัดค้านเป็นสมาชิกและเป็นกรรมการมีผลใช้บังคับ เป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 พิเคราะห์แล้วเห็นว่าการที่พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ.2518 มาตรา 52บัญญัติให้การเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานเป็นการคุ้มครองกรรมการลูกจ้างมิให้นายจ้างกลั่นแกล้งหรือเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างด้วยสาเหตุความผิดเพียงเล็กน้อยโดยให้อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานที่จะพิจารณาว่านายจ้างมีเหตุจำเป็นหรือเหตุอื่นสมควรที่จะเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างหรือไม่ แต่กรณีที่นายจ้างเลิกจ้างโดยกล่าวหาว่ากรรมการลูกจ้างกระทำผิดนั้น การเลิกจ้างก็จำต้องอยู่ภายใต้บังคับระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้คัดค้านซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างได้ลาป่วยในรอบปีพ.ศ.2530 รวม 28 วันโดยมิได้เจ็บป่วยจึงเป็นการลาป่วยเป็นเท็จซึ่งเป็นการกระทำผิดต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้อง คือเป็นความผิดประเภท ‘ค’ ฐานแจ้งอาการป่วยด้วยความเท็จตามที่กำหนดไว้ในคู่มือสำหรับพนักงานประจำปี 2525 หน้า 126 แต่ตามคู่มือดังกล่าวหน้า 114 ได้กำหนดขั้นตอนการลงโทษความผิดประเภท ‘ค’ไว้ว่า ‘ความผิดครั้งที่หนึ่งออกหนังสือเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งสุดท้าย ความผิดครั้งที่สองปลดออกจากงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชย’ ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดว่ากรณีที่ผู้คัดค้านกระทำผิดฐานแจ้งอาการป่วยด้วยความเท็จนั้น ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องกำหนดให้ผู้ร้องมีสิทธิเลิกจ้างได้ต่อเมื่อได้ลงโทษผู้คัดค้านด้วยการเตือนเป็นหนังสือก่อนแล้วแต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าผู้ร้องเคยลงโทษผู้คัดค้านด้วยการเตือนเป็นหนังสือมาก่อน ฉะนั้นที่ผู้ร้องขอเลิกจ้างผู้คัดค้านซึ่งเป็นการลงโทษอย่างหนึ่งจึงเป็นการขอลงโทษผิดขั้นตอนต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานซึ่งผูกพันผู้ร้อง แม้ผู้ร้องจะขอเลิกจ้างโดยยินยอมจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายแล้วก็ไม่ทำให้ผู้ร้องมีสิทธิเลิกจ้าง ผู้ร้องจึงไม่มีเหตุที่จะเลิกจ้างผู้คัดค้าน ที่ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้าน จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาอุทธรณ์ข้อนี้ของผู้คัดค้านฟังขึ้นไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของผู้คัดค้าน’
พิพากษากลับให้ยกคำร้องของผู้ร้อง.

Share