แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์มีหน้าที่ดูแลห้องพักของแขกผู้มาพักในโรงแรมประจำชั้นที่ 16 โดยโจทก์คนเดียวเท่านั้นที่เกี่ยวข้องกับห้องพัก ดังนั้นการที่ทรัพย์สินของแขกผู้มาพักในโรงแรมซึ่งเก็บไว้ในห้องพักได้สูญหายไปในระหว่างที่แขกไม่อยู่ในห้องพักโดยไม่ทราบเหตุผล ย่อมเป็นพฤติการณ์ที่น่าระแวงสงสัยว่าโจทก์เป็นคนร้ายและทำให้จำเลยไม่ไว้วางใจโจทก์ต้องถือว่าจำเลยมีเหตุผลอันสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์ ไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
แม้ข้อเท็จจริงจะฟังไม่ได้ว่าโจทก์ลักทรัพย์ของแขกผู้มาพักในโรงแรมตามข้อกล่าวหาของจำเลย แต่เมื่อคำให้การของจำเลยได้แสดงเหตุผลแห่งการเลิกจ้างไว้ด้วยว่าโจทก์มีพฤติการณ์ที่จำเลยไม่ไว้วางใจ ศาลแรงงานกลางย่อมมีอำนาจวินิจฉัยต่อไปได้ว่า การที่โจทก์ปฏิบัติงานตามหน้าที่เนื่องในมูลกรณีเดียวกันนี้เป็นเหตุให้จำเลยไม่ไว้วางใจโจทก์ซึ่งจำเลยมีสิทธิที่จะเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น
เงินค่าบริการที่จำเลยเรียกเก็บจากลูกค้าในอัตราร้อยละ10 ของค่าใช้จ่ายของลูกค้า และเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างแต่ละคราว จำเลยจะนำเงินจำนวนนี้มาแบ่งเฉลี่ยให้แก่ลูกจ้างทุกคนคนละเท่า ๆ กัน โดยจำเลยไม่ได้รับประโยชน์ด้วยและลูกจ้างจะได้รับค่าบริการมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับจำนวนค่าใช้จ่ายของลูกค้าเป็นสำคัญ เงินค่าบริการจึงไม่ใช่ค่าจ้างตามความหมายที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ทำหน้าที่พนักงานแผนกแม่บ้าน จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยกล่าวหาว่าโจทก์ลักทรัพย์เอาเงินของผู้มาพักในโรงแรมไป ซึ่งไม่เป็นความจริง เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 6,179.99บาท เงินประกันเป็นเงิน 500 บาท ค่าจ้างค้างชำระเป็นเงิน3,119.99 บาท ค่าชดเชยเป็นเงิน 30,900 บาท และค่าเสียหายเป็นเงิน370,800 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์กระทำทุจริตต่อหน้าที่ และฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรง โดยได้ลักทรัพย์เอาเงินของแขกที่มาพักในโรงแรมไป ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ทั้งก่อนนี้ทรัพย์สินของแขกผู้มาพักในโรงแรมซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของโจทก์เคยสูญหายในลักษณะเดียวกันหากจำเลยให้โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยต่อไปจะทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า การเลิกจ้างโจทก์มิใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรมโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ไม่มีสิทธิเรียกเงินประกันเงินค่าบริการไม่ใช่ค่าจ้าง ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ตามพยานหลักฐานของจำเลยคดีฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ลักทรัพย์เอาเงินของแขกผู้มาพักในโรงแรมไป การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และต้องคืนเงินประกันให้โจทก์แต่เงินค่าบริการไม่เป็นค่าจ้างจึงไม่ต้องนำมารวมเป็นฐานคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า อย่างไรก็ตาม แม้ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาของจำเลยก็ตาม แต่กรณีที่โจทก์มีหน้าที่ดูแลห้องพักของแขกผู้มาพักในโรงแรมประจำชั้นที่ 16 และเป็นผู้เดียวที่เกี่ยวข้องกับห้องพักของแขกผู้มาพักเมื่อทรัพย์สินของแขกผู้มาพักซึ่งเก็บไว้ในห้องพักสูญหายไปจำเลยสอบสวนพยานหลักฐานแล้วเชื่อโดยสุจริตว่าโจทก์เป็นผู้กระทำผิดจึงเลิกจ้างโจทก์ เท่ากับว่าจำเลยไม่ไว้วางใจโจทก์ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุผลอันสมควรไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย ส่วนค่าจ้างค้างชำระนั้นจำเลยมิได้ให้การต่อสู้คดี จำเลยต้องรับผิดตามฟ้อง พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 18,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 2,100 บาท เงินประกันเป็นเงิน 500 บาท และค่าจ้างค้างชำระเป็นเงิน 3,119.99 บาท ให้แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ‘ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์เป็นพนักงานซึ่งมีหน้าที่ดูแลห้องพักของแขกผู้มาพักในโรงแรมประจำชั้นที่ 16 โดยโจทก์คนเดียวเท่านั้นที่เกี่ยวข้องกับห้องพัก ไม่มีบุคคลอื่นอีก ดังนั้นการที่ทรัพย์สินของแขกผู้มาพักในโรงแรมซึ่งเก็บไว้ในห้องพักได้สูญหายไปในระหว่างที่แขกไม่อยู่ในห้องพักโดยไม่ทราบเหตุผลนั้น ย่อมเป็นพฤติการณ์ที่น่าสงสัยว่าโจทก์เป็นคนร้ายและทำให้จำเลยไม่ไว้วางใจโจทก์ ต้องถือว่าจำเลยมีเหตุผลอันสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์ ไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรดังที่โจทก์อุทธรณ์
ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยกล่าวอ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์ลักทรัพย์เอาเงินของแขกผู้มาพักในโรงแรมไป มิได้อ้างเหตุเลิกจ้างอื่น ฉะนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาของจำเลยแล้วการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยมีเหตุอันสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์เพราะจำเลยไม่ไว้วางใจโจทก์นั้น เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จำเลยจะให้การว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์ลักทรัพย์ของแขกผู้มาพักในโรงแรม และข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้กระทำผิดดังกล่าวก็ตาม แต่จำเลยก็ยังให้การด้วยว่า ก่อนนี้ทรัพย์สินของแขกผู้มาพักในโรงแรมซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของโจทก์เคยสูญหายในลักษณะเดียวกัน หากจำเลยให้โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยต่อไปจะทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ คำให้การดังกล่าวของจำเลยได้แสดงเหตุผลแห่งการเลิกจ้างไว้ด้วยว่าโจทก์มีพฤติการณ์ที่จำเลยไม่ไว้วางใจ ฉะนั้นเมื่อศาลแรงงานกลางเห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาของจำเลยแล้ว ศาลแรงงานกลางก็ยังมีอำนาจวินิจฉัยต่อไปได้ว่า การที่โจทก์ปฏิบัติงานตามหน้าที่เนื่องในมูลกรณีเดียวกันนี้ เป็นเหตุให้จำเลยไม่ไว้วางใจโจทก์ซึ่งจำเลยมีสิทธิที่จะเลิกจ้างโจทก์หรือไม่ ไม่ใช่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นดังอุทธรณ์ของโจทก์ ทั้งนี้ตามนัยแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4344-4345/2528 ระหว่าง นายเที่ยง นามสง่ากับพวกโจทก์ การสื่อสารแห่งประเทศไทย จำเลย
ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า เงินค่าบริการเป็นค่าจ้างต้องนำมารวมเป็นฐานคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น เห็นว่า ค่าจ้างซึ่งต้องนำมารวมเป็นฐานคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น ต้องเป็นค่าจ้างตามความหมายทรี่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 คือ ‘เงินหรือเงินและสิ่งของที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน…ฯ’ ตามข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยเรียกเก็บเงินค่าบริการจากลูกค้าในอัตราร้อยละ 10 ของค่าใช้จ่ายของลูกค้า และเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างแต่ละคราว จำเลยจะนำเงินจำนวนนี้มาแบ่งเฉลี่ยให้แก่ลูกจ้างทุกคนคนละเท่า ๆ กัน ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าจำเลยเรียกเก็บเงินค่าบริการจากลูกค้าเพื่อจ่ายให้แก่ลูกจ้างทั้งหมดโดยจำเลยไม่ได้รับประโยชน์ด้วย ลูกจ้างจะได้รับค่าบริการมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับจำนวนค่าใช้จ่ายของลูกค้าเป็นสำคัญ กรณีที่จำเลยไม่ได้รับเงินค่าบริการไว้ ลูกจ้างก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลย และจำเลยก็ไม่ต้องรับผิดต่อลูกจ้าง จำเลยจึงไม่มีส่วนได้เสียกับเงินค่าบริการ ฉะนั้นเงินค่าบริการจึงไม่ใช่เงินซึ่งจำเลยจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน ข้อที่จำเลยเป็นผู้เรียกเก็บเงินจากลูกค้าและเป็นผู้จัดแบ่งให้แก่ลูกจ้างนั้น เป็นกรณีที่จำเลยทำแทนลูกจ้างเพื่อความสะดวกและเพื่อให้กิจการของจำเลยดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ไม่ใช่เงินค่าบริการตกเป็นสิทธิของจำเลยโดยเด็ดขาด แล้วจำเลยจัดแบ่งให้แก่ลูกจ้างในภายหลังดังนั้นเงินค่าบริการจึงไม่ใช่ค่าจ้างตามความหมายที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 ไม่ต้องนำมารวมเป็นฐานคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าทั้งนี้ตามนัยแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1846/2529 ระหว่างนายอุดม สาระคำ โจทก์ บริษัทไทยโรงแรม จำเลย
อุทธรณ์ของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.