คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 784/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ชัดแจ้งว่าจำเลยกระทำผิดกฎหมายหลายกรรมต่างกัน และในคำฟ้องข้อ 1 ก. ก็บรรยายไว้ด้วยว่าเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้างอาคาร จำเลยได้รับคำสั่งในวันที่ 27 มกราคม 2528 แต่จำเลยมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นภายในกำหนด ซึ่งถือว่าจำเลยฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น จำเลยจึงมีความผิดอีกกรรมหนึ่งต่างหากจากการก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต
โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่า การก่อสร้างอาคารของจำเลยไม่ขัดต่อกฎกระทรวง ไม่อาจหมายความไปถึงว่าเป็นอาคารที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดแจ้งว่าเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้างอาคาร จำเลยมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ดังนี้มีความหมายอยู่ในตัวว่าจำเลยฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นโดยทำการก่อสร้างต่อไปอีก.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดหลายกรรม เมื่อระหว่างวันที่ 25พฤศจิกายน 2527 ถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2527 จำเลยได้ก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้าง จำเลยได้รับคำสั่งแล้วไม่ปฏิบัติตาม เจ้าพนักงานท้องถิ่นพิจารณาเห็นว่าการก่อสร้างอาคารของจำเลยไม่ขัดต่อกฎกระทรวง จึงมีคำสั่งให้จำเลยยื่นคำขอรับใบอนุญาตก่อสร้างต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 30 วัน จำเลยได้รับคำสั่งแล้วไม่ปฏิบัติตาม และเมื่อระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2528 ถึงวันที่ 31กรกฎาคม 2528 จำเลยได้ทำการก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตอีก ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร มาตรา 4, 21, 40วรรคหนึ่ง, 43, 65, 67, 69, 71 และให้ปรับจำเลยกรณีฝ่าฝืนไม่ระงับการก่อสร้างอาคารวันละ 500 บาท ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2528จนถึงวันที่จำเลยระงับตามคำสั่งนั้น
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง เรียงกระทงลงโทษรับลดกึ่งหนึ่ง ความผิดฐานก่อสร้างอาคารโดยเจ้าของไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นปรับ 5,000 บาท ฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นปรับวันละ 500 บาท ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม2528 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยรับทราบคำสั่งจนถึงวันที่จำเลยได้ระงับการก่อสร้างตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นดังกล่าวนั้น
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ที่จำเลยฎีกาว่าฟ้องของโจทก์ระบุการกระทำผิดของจำเลยเป็นความผิดฐานก่อสร้างอาคารโดยเจ้าของไม่ได้รับอนุญาต 2 กรรม ศาลไม่มีอำนาจลงโทษฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นอีกกรรมหนึ่งนั้น เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ชัดแจ้งว่าจำเลยกระทำผิดกฎหมายหลายกรรมต่างกัน และในคำฟ้องข้อ 1 ก. ก็บรรยายไว้ด้วยว่า เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้างอาคาร จำเลยได้รับคำสั่งในวันที่ 27มกราคม 2528 แต่จำเลยมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นภายในกำหนด ซึ่งถือว่าจำเลยฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น จำเลยจึงมีความผิดอีกกรรมหนึ่งต่างหากจากการก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานนี้ได้อีกกระทงหนึ่ง
จำเลยฎีกาว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นอย่างไร และตามฟ้องของโจทก์ก็ปรากฏว่าจำเลยสร้างอาคารเสร็จแล้วก่อนที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะออกคำสั่งให้ระงับการก่อสร้าง จะลงโทษจำเลยฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่ได้นั้น เห็นว่าตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ทั้งหมดมิได้มีความหมายว่าจำเลยได้ก่อสร้างอาคารเสร็จเรียบร้อยแล้วโจทก์เพียงแต่บรรยายว่า การก่อสร้างอาคารของจำเลยไม่ขัดต่อกฎกระทรวง ไม่อาจหมายความไปถึงว่าเป็นอาคารที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว ถึงอย่างไรก็ตามข้อต่อสู้ดังกล่าวจำเลยมิได้ยกขึ้นกล่าวอ้างมาตั้งแต่ศาลชั้นต้นว่า ขณะที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งห้ามนั้นจำเลยก่อสร้างอาคารเสร็จแล้ว จำเลยจะยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาไม่ได้ และโจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ชัดแจ้งว่า เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้างอาคารจำเลยมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นก็มีความหมายอยู่ในตัวว่า จำเลยฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นโดยทำการก่อสร้างต่อไปอีก ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานนี้ได้
จำเลยฎีกาว่า ตามฟ้องโจทก์บรรยายถึงการฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้จำเลยยื่นคำขอรับใบอนุญาตก่อสร้างตลอดมาจนบัดนี้ ศาลมีอำนาจลงโทษปรับจำเลยฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการก่อสร้างได้เพียงวันที่ 27 มกราคม 2528 วันเดียวเท่านั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 67 เป็นบทบัญญัติพิเศษให้อำนาจศาลลงโทษผู้กระทำความผิดตลอดเวลาที่ฝ่าฝืน อีกทั้งจำเลยให้การรับสารภาพ แสดงว่าจำเลยรับว่าได้ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2528 ตลอดมาจนถึงวันฟ้องแล้วเช่นนี้ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการก่อสร้างไปจนถึงวันที่จำเลยได้ระงับการก่อสร้างตามคำสั่งของเจ้าพนักงานได้
จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต่างพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร เป็นการพิพากษาลงโทษจำเลยต่างกับที่โจทก์ฟ้องเห็นว่าฟ้องโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เป็นการถูกต้องแล้ว ที่ศาลชั้นต้นย่อฟ้องของโจทก์เป็นพระราชบัญญัติควบคุมอาคารโดยมิได้ระบุ พ.ศ. 2522 เท่านั้น เห็นได้ชัดว่าเป็นการย่อฟ้องของโจทก์ผิดพลาดเพียงเล็กน้อย แต่จำเลยก็เข้าใจฟ้องของโจทก์ได้ดีแล้ว ไม่ถือว่าเป็นการลงโทษจำเลยต่างกับฟ้อง
ส่วนฎีกาข้อสุดท้ายของจำเลยว่า ศาลลงโทษปรับจำเลยถึงวันละ1,000 บาท ลดรับสารภาพกึ่งหนึ่งเหลือปรับวันละ 500 บาทไม่ได้นั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นเจ้าของอาคารและเป็นผู้ทำการก่อสร้างอาคารจำเลยจึงเป็นทั้งเจ้าของและผู้ดำเนินการก่อสร้างด้วย เมื่อจำเลยฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการก่อสร้าง ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 40 วรรคหนึ่ง โดยให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างได้ และกำหนดโทษปรับตามมาตรา 67 ให้ปรับวันละ 500บาท ประกอบมาตรา 69 ระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษตามมาตรา 67 จึงปรับได้วันละ 1,000 บาท แต่ตามฟ้องโจทก์ขอให้ปรับจำเลยเพียงวันละ 500 บาท ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ปรับจำเลยวันละ 1,000 บาทจึงเป็นการเกินคำขอ ปัญหานี้เป็นปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ให้ปรับจำเลยวันละ 500 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลงกึ่งหนึ่ง คงปรับจำเลยวันละ 250 บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์’

Share